ชินโซ อาเบะ : เจาะวัฒนธรรมความรุนแรงของญี่ปุ่น อะไรคือ “การเมืองแห่งการลอบสังหาร”

  • ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

อดีตนายกรัฐมนตรีวัย 67 ปี ชินโซ อาเบะ ขึ้นปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งให้พรรคแอลดีพี หรือพรรคเสรีประชาธิปไตย 2 วันก่อนวันเลือกตั้ง แต่ไม่นาน เสียงปืนดังขึ้น ผู้คนแตกตื่น เจ้าหน้าที่รีบพุ่งเข้าไปรวบตัวผู้ก่อเหตุ ส่วนนายอาเบะล้มลงกับพื้น เลือดไหลออกจากบริเวณลำคอ ต่อมาอดีตผู้นำญี่ปุ่นถึงแก่อสัญกรรม

เหตุ ลอบยิง-ลอบสังหาร ครั้งนี้ เป็นอีกครั้งที่ภาพลักษณ์ “สังคมสันติ” ของญี่ปุ่นถูกท้าทาย จากที่เกิดเหตุรุนแรง และมือมีดอาละวาดเพิ่มมากขึ้น นับแต่โลกเผชิญกับโควิด สาเหตุที่เหตุอาชญากรรมในญี่ปุ่นส่วนใหญ่อาวุธจะเป็นมีด เพราะญี่ปุ่นมีกฎหมายปืนที่เข้มงวดมาก

ผศ.ดร. ธีวินท์ สุพุทธิกุล หัวหน้าภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เคยศึกษาปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยวาเซดะในญี่ปุ่น มองว่า “เมื่อสังคมดูปลอดภัยแล้ว เมื่อเกิดอาชญากรรมแล้วมันจึงดูน่ากลัว”

นักศึกษาหัวขวาจัดใช้ดาบซามูไรจ้วงแทงสังหารนายกฯ ญี่ปุ่นในปี 1960

 BBC/Asahi Shinbun

แต่อาชญากรรมที่น้อยในญี่ปุ่น มีอีกปัจจัย คือ คนไม่ได้ก่ออาชญากรรมเพื่อ “ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ” อาทิ การปล้น จี้ หรือลักขโมย เหมือนในสังคมไทยที่ทำไปเพราะความยากจน แต่อาชญากรรมในญี่ปุ่นมีเป้าหมายที่ชัดเจน จากความโกรธแค้น และอุดมการณ์ทางการเมือง อย่างการลอบสังหารนักการเมืองแบบนี้

วัฒนธรรมความรุนแรงทางการเมืองของญี่ปุ่น

กรกิจ ดิษฐาน นักเขียนและนักประวัติศาสตร์อิสระ มองว่าการลอบยิงนายอาเบะ เป็น “การลอบสังหาร” และเป็น “เรื่องสั่นสะเทือน” สังคมญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก และจะยิ่งส่งแรงกระเพื่อมรุนแรงสู่ภาคการเมือง หากแรงจูงใจมาจากอุดมการณ์ทางการเมืองที่ขัดแย้งกับนายอาเบะ ซึ่งเป็นนักการเมืองสายเหยี่ยว สนับสนุนไต้หวัน และกล้าต่อต้านจีน

ครั้งหนึ่ง ชินโซ อาเบะ เคยแต่งตัวเป็นซูเปอร์มาริโอ

 Reuters/Stoyan Nenov

กรกิจ บอกกับบีบีซีไทยว่า ช่วงหลังปี 1960 วัฒนธรรมความรุนแรงต่อการเมืองได้จางหายไปค่อนข้างมาก จากที่ชาวญี่ปุ่นเคยเผชิญกับยุคแห่งการลอบสังหาร การทำร้ายนักการเมือง และความแตกแยกของขั้วซ้าย-ขวา

เหตุลอบสังหารนายกฯ-อดีตนายกฯ ญี่ปุ่น

4 พ.ย. 1921 – นายกรัฐมนตรี ฮาระ ทาเคชิ ถูกฝ่ายขวาจัดใช้มีดแทงที่สถานีรถไฟโตเกียว

14 พ.ย. 1930 – นายกรัฐมนตรีฮามากุจิ โอซาจิ ถูกฝ่ายขวายิงที่สถานีรถไฟโตเกียว แต่รอดชีวิตมาได้ ก่อนเสียชีวิตในอีก 9 เดือนต่อมา

15 พ.ค. 1932 – เหตุทหารหนุ่มญี่ปุ่น 15 นายลอบสังหารนายกฯ อินุไค ซึโยชิ

26 ก.พ. 1936 – กลุ่มนายทหารนาวิกโยธิน 11 นาย พยายามยึดอำนาจ ยกกำลังลอบสังหารนักการเมือง ส่งผลให้อดีตนายกฯ 2 คน เสียชีวิต ส่วนนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น คือ เคสึเกะ โอคาดะ รอดชีวิตได้หวุดหวิด หนึ่งในอดีตนายกฯ ที่เสียชีวิต คือ ไซโก มาโกโตะ เป็นผู้ดำรงตำแหน่งต่อจากซึโยชิ ที่ถูกลอบสังหารในปี 1932 นั่นเอง

14 ก.ค. 1960 – นายกรัฐมนตรีโนบุสุเกะ กิชิ (ตาของชินโซ อาเบะ) เจ้าของฉายา “อสูรแห่งยุคโชมะ” ถูกลอบสังหารด้วยมีด แต่รอดชีวิตมาได้

12 ต.ค. 1960 – ผู้ก่อเหตุใช้ดาบญี่ปุ่นจัวงแทงนายกรัฐมนตรีอิเนจิโร อาซานุมะ จนเสียชีวิต ระหว่างการปราศรัย

8 ก.ค. 2022 – อดีตนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่น ถูกชายวัยกว่า 40 ปี ยิงสองนัดจากด้านหลัง ระหว่างปราศรัยหาเสียงในเมืองนารา ก่อนที่ทางการจะยอมรับว่า เขาถึงแก่อสัญกรรมในเวลาต่อมาที่โรงพยาบาล

“ยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 (ก่อนปี 1935) มีการลอบสังหารนายกฯ ญี่ปุ่นค่อนข้างบ่อย” กรกิจ ระบุในโพสต์ของเขาบนเฟซบุ๊ก “ส่วนใหญ่เป็นการลงมือของฝ่ายขวาในยุครัฐบาลประชาธิปไตยเฟื่องฟู”

การลอบสังหารแห่งยุคเรวะ

Reuters

ส่วนในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การลอบสังหารยังเกิดขึ้นประปราย โดยกรณีใหญ่สุด คือ การใช้ดาบสังหารนายกรัฐมนตรีอิเนจิโร อาซานุมะ ระหว่างการขึ้นปราศรัยบนเวที โดยมีภาพข่าวที่กลายเป็นที่โจษจันกันอย่างกว้างขวางในวงการสื่อสารมวลชนโลก เพราะจับภาพช่วงที่กำลังง้างจ้วงดาบเข้าใส่นายอาซานุมะได้พอดี

“อาซานุมะเป็นนักการเมืองฝ่ายซ้าย แรงจูงใจเพราะเขาไปเยี่ยมจีน และมีจุดยืนแบบสังคมนิยม ทำให้ฝ่ายขวาจัดไม่พอใจ” กรกิจ อธิบายกับบีบีซี

‘การเมืองแห่งการลอบสังหาร’

ผศ.ดร.ธีวินท์ บัณฑิตปริญญาเอกจากญี่ปุ่น ที่กำลังทำวิจัยเรื่องความมั่นคงของญี่ปุ่นอยู่ มองว่า ห้วงเวลาดังกล่าวเป็น “ช่วงเวลาการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างสุดโต่ง” ไม่ว่าจะความพยายามสร้างประเทศให้ทันสมัยเพื่อต่อกรกับจักรวรรดินิยมตะวันตกในสมัยเมจิ และปัญหามากมายที่ญี่ปุ่นต้องเผชิญหลังแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อให้เกิดกลุ่มอุดมการณ์ทางการเมืองขึ้นมา

ฝ่ายขวา – ที่อยากให้ญี่ป่นมีกำลังทหารเข้มแข็งสู้กับต่างชาติได้ มีความชาตินิยมสุดโต่ง

ฝ่ายซ้าย – รณรงค์หลักสันติและสังคมนิยม

“มันจึงเรียกว่าการเมืองแห่งการลอบสังหาร (Politics of Assassination)” ผศ.ดร.ธีวินท์ อธิบายว่าคือ “การเมืองที่ใช้ความรุนแรง ลอบสังหาร เป็นเครื่องมือเพื่อทำลายศัตรูทางการเมือง”

แต่นั่นคือในอดีต ในยุคแห่งความขัดแย้งและสงคราม แต่ยุคปัจจุบันที่ญี่ปุ่นเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ผศ.ดร.ธีวินท์ วิเคราะห์ว่า บรรยากาศทางการเมืองในตอนนี้ เริ่มมีความเห็นต่างมากขึ้น และคนญี่ปุ่นโอนเอียงไปทางฝ่ายขวา จากนโยบายต่างประเทศของญี่ปุ่นที่เปลี่ยนไปตามภูมิรัฐศาสตร์ และภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ การขับเคลื่อนการขยายศักยภาพทางทหารจึงเพิ่มมากขึ้น

เกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธตกทะเลญี่ปุ่นบ่อยครั้ง

 EPA/KIM HEE-CHUL

“ญี่ปุ่นเป็นชาติใฝ่สันติ ตอนนี้ สนใจการป้องกันประเทศมากขึ้น ที่จริงก็สอดคล้องกับสิ่งที่ญี่ปุ่นเผชิญอยู่ ประชาชนส่วนใหญ่ก็มองว่าเป็นเรื่องถูกต้องแล้ว” แต่ ผศ.ดร.ธีวินท์ ไม่อยากคาดเดาว่า การลอบสังหารนายอาเบะ จะมีแรงจูงใจจากอุดมการณ์ทางการเมืองหรือไม่

อดีตนายกฯ ญี่ปุ่นเอง แม้พ้นตำแหน่งแล้ว แต่เขาออกมาประกาศพร้อมที่จะเข้าปกป้องไต้หวันหากจีนใช้กำลังเข้ายึดครอง ด้วยเหตุผลว่าเป็นบ้านพี่เมืองน้อง ถือเป็นการสนับสนุนการส่งทหารญี่ปุ่นไปทำสงครามในต่างแดน และเพิ่มความตึงเครียดกับจีนไปด้วย

แต่ไม่ว่าจะด้วยการลอบสังหารเพราะขัดอุดมการณ์ หรือแรงจูงใจส่วนบุคคล นักการเมืองไม่ว่าขั้วไหนก็ต้องทำให้สังคมเห็นว่า “การใช้กำลังความรุนแรงแบบนี้ เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง”

"มันมีกลุ่มสุดโต่งแบบนี้อยู่ในสังคมเหมือนกัน" - ผศ.ดร.ธีวินท์ สุพุทธิกุล

ผศ.ดร.ธีวินท์ สุพุทธิกุล

“ถ้ามันเชื่อมโยงกับกลุ่มอุดมการณ์บางอย่าง หรือไม่อยากเห็นญี่ปุ่นเป็นรัฐทหาร วิธีการแบบนี้ก็ดูขัดแย้งกับสิ่งที่ฝ่ายซ้ายบอกว่าญี่ปุ่นควรยึดสันติวิธี แต่คุณกลับใช้ความรุนแรงกับฝ่ายตรงข้าม”

มีดอาละวาด…ปืนแทบไม่มี

รายงานของมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ในสหรัฐฯ เมื่อปี 2022 เปิดเผยว่า ในสหรัฐฯ มีผู้ถูกฆาตกรรมด้วยอาวุธปืนราว 4 คนต่อประชากร 1 แสนคนในปี 2019 แต่ญี่ปุ่นนั้นการฆาตกรรมด้วยอาวุธปืนแทบจะเป็นศูนย์ ด้วยอัตราเพียง 0.02 ต่อประชากร 1 แสนคน

ปีที่ญี่ปุ่นเผชิญอาชญากรรมจากอาวุธปืนมากที่สุด คือปี 2013 เกิดคดีมากถึง 40 คดีที่ผู้ก่อเหตุใช้ปืน แต่นับแต่นั้นก็ลดลงต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การก่อเหตุด้วยมีดหรือดาบกลับเพิ่มขึ้น

จุดที่นายอาเบะถูกยิงในเมืองนารา

Reuters

ครั้งที่ร้ายแรงครั้งหนึ่ง คือ เหตุชายญี่ปุ่นไล่แทงผู้โดยสารบนรถไฟในกรุงโตเกียว เมื่อ ส.ค. 2021

และเพราะสังคมการทำงานในญี่ปุ่นได้ชื่อว่ามีความเครียดสูง พอเกิดเหตุร้ายแบบนี้ คนญี่ปุ่นก็จะมีการเหมารวมว่า “เครียดหรือเปล่า ไม่มีทางออก เลยเข้าหาอาชญากรรม” ผศ.ดร.ธีวินท์ อธิบาย

สังคมญี่ปุ่นจะเปลี่ยนไปตลอดกาล?

กรกิจ มองว่า การลอบสังหารนายอาเบะจะ “สั่นสะเทือน” ไม่เพียงสังคมญี่ปุ่น แต่กับด้านการทหารและความสัมพันธ์จีน-ญี่ปุ่น-ไต้หวัน ด้วย จากการที่นายอาเบะวางตัวแข็งกร้าวกับจีน และสนับสนุนไต้หวันอย่างเห็นได้ชัด

เขายังเสริมว่า แม้ญี่ปุ่นมีกฎหมายปืนที่เข้มงวด และในอดีตนั้น การลอบสังหารมักเป็นมีดหรือดาบ แต่ญี่ปุ่นก็เกิดเหตุรุนแรงด้วยปืนในทางการเมืองด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะการสังหารนายกเทศมนตรีนางาซากิโดยกลุ่มขวาจัดในปี 1990 การยิงทำร้ายรองประประธานพรรคแอลดีพี เมื่อปี 1992 และยากูซายิงนายกเทศมนตรีจังหวัดนางาซากิ ในปี 2007

ผศ.ดร.ธีวินท์ ยังไม่ฟันธงว่าสังคมญี่ปุ่นจะเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน แต่อยากให้เหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่า “มันมีกลุ่มสุดโต่งแบบนี้อยู่ในสังคมเหมือนกัน”

“เราอาจต้องดำเนินนโยบาย เสนออะไรบางอย่าง ต้องคำนึงถึงฝ่ายตรงข้ามเหมือนกัน อย่างน้อยการใช้ความรุนแรงสร้างความหวาดกลัว ต้องให้สังคมรู้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง”

….

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว