มาเลเซีย กระอัก วิกฤตเกษตรกรสวนปาล์ม ขาดแรงงาน ผลผลิตเน่าคาต้น

เกษตรกรสวนปาล์ม

อยู่ใกล้แต่ไทยอาจไม่รู้ เกษตรกรสวนปาล์มของมาเลเซีย เจอวิกฤตไม่มีแรงงานพอที่จะช่วยเก็บผลผลิต

วันที่ 31 กรกฎาคม 2565 สำนักข่าว เอเอฟพี รายงานเรื่องราวของเกษตรกรผู้เพาะปลูกปาล์มในมาเลเซีย ในฐานะผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่อันดับ 2 ของโลกว่า ปีนี้เผชิญฤดูกาลเพาะปลูกที่ขมขื่น เนื่องจากปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรง

น้ำมันปาล์มเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ ใช้ในสินค้าประจำวันมากมายตั้งแต่ช็อกโกแลตไปจนถึงเครื่องสำอาง เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญต่อเศรษฐกิจของมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรวมกันในสัดส่วนสูงถึง 85% ของผลผลิตน้ำมันปาล์มโลก

เกษตรกรสวนปาล์ม
A foreign worker collecting palm oil fruits in Ijok, in Malaysia’s Selangor state.  Photo by Mohd RASFAN / AFP)

ปีนี้ผลปาล์มในสวนของเกษตรกรมาเลเซียถูกทิ้งจนเน่าคาต้น เพราะไม่มีแรงงานพอที่จะเก็บเกี่ยว จากผลกระทบช่วงโควิด-19 ระบาด ที่มีการปิดพรมแดนยาวระหว่างสองดินแดนเพื่อลดจำนวนแรงงานต่างชาติลง

แต่ปัญหาตอนนี้มาจากระบบราชการและการสั่งห้ามอินโดนีเซียนำแรงงานใหม่เข้ามาที่มาเลเซีย ยิ่งทำให้ปัญหาหนักขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

เก็บผลผลิตไม่ทัน เน่าคาต้น

ซูไซดี รายัน วัย 47 ปี เจ้าของพื้นที่เพาะปลูก 300 เอเคอร์ หรือราว 750 ไร่ ที่เมืองอีจอก รัฐสลังงอร์ ทางตอนกลางของประเทศ ให้ข้อมูลถึงปัญหาที่เผชิญอยู่จากการขาดแคลนแรงงาน

“เรามักจะเก็บเกี่ยวเดือนละสองครั้ง แต่ตอนนี้พอขาดแคลนแรงงาน เราต้องขับรถเข้าไปเอาผลผลิตขึ้นรถบรรทุกด้วยตัวเอง เราจึงเก็บผลผลิตได้เพียงเดือนละครั้ง ทำให้รายได้ของเราลดลง และที่เหลือจำนวนมากกำลังเน่าอยู่คาต้น” ซูไซดีกล่าว 

เกษตรกรสวนปาล์ม
ผลผลิตที่เน่าคาต้น (Photo by Mohd RASFAN / AFP) /

ปาล์มเป็นสินค้าที่มีประเด็นความขัดแย้ง นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมระบุว่า เป็นต้นเหตุของการทำลายป่าฝนทั้งในมาเลเซียและอินโดนีเซีย การขยายตัวอย่างรวดเร็วของพื้นที่เพาะปลูก

บรรดาบริษัทเกษตรมีกิจการที่ใหญ่มีพื้นที่ปลูกขนาดใหญ่ และยังมีเกษตรกรรายย่อยอย่างซูไซดีจำนวนมาก นอกจากถูกมองว่าทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์หายาก ยังมีข้อครหาว่าเอาเปรียบแรงงานต่างชาติในบางพื้นที่

แรงงานไม่กลับมา-ขาดนับแสน

อุตสาหกรรมอื่น ๆ ของมาเลเซีย รวมถึงการก่อสร้างและการผลิต ล้วนต้องพึ่งพาคนงานจากประเทศอื่น ๆ ทั่วเอเชีย จึงได้รับผลกระทบหนักจากการปิดพรมแดนเป็นระยะเวลายาวนาน

แม้ทางราชการยุติคำสั่งระงับการว่าจ้างแรงงานต่างชาติแล้วตั้งแต่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ แต่จำนวนแรงงานที่กลับมายังช้ามาก เนื่องจากติดขัดที่ระบบระเบียบและการต่อรองจากประเทศต้นทาง

ปัญหาของภาคการผลิตพืชผลเผชิญผลกระทบหนัก และหนักยิ่งขึ้นหลังจากอินโดนีเซียห้ามส่งคนงานใหม่ไปยังมาเลเซียตั้งแต่ต้นเดือน ก.ค.

เฮอร์โมโน เอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำกรุงกัวลาลัมเปอร์ กล่าวว่า รัฐบาลตัดสินใจจะไม่ส่งแรงงานไป เนื่องจากมาเลเซียไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงที่ได้เจรจากันไว้

บรรดาสมาคมเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ของมาเลเซียกล่าวว่า ขณะนี้มีปัญหาการขาดแคลนแรงงานประมาณ 120,000 คน

เกษตรกรสวนปาล์ม
ซาห์มาน เกษตรกรพาชมผลผลิตที่เสียหาย (Photo by Mohd RASFAN / AFP)

เกษตรกรสวนปาล์มกระอัก

จากตัวเลชที่นายซูไรดา คามารุดดิน รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและสินค้าเกษตร ช่วง 5 เดือนแรกของปี 2565 ทางอุตสาหกรรมสูญเสียรายได้ 2.350 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 85,000 ล้านบาท เนื่องจากผลปาล์มน้ำมันไม่ได้ถูกเก็บเกี่ยว ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อและต้นทุนการผลิตสูงขึ้น

“ผมมองเห็นเพียงความมืดมิดบนเส้นขอบฟ้า รายได้ของผมตกลงมาก ขณะที่ราคาข้าวของมีแต่จะขึ้น” ซาห์มาน ดูเรียต เกษตรกรผู้ปลูกพืชไร่ในอิจอก กล่าวกับนักข่าวเอเอฟพี  

หลังประกาศไม่รับแรงงานจากอินโดนีเซีย ทางกระทรวงทรัพยากรบุคคลของมาเลเซียให้คำมั่นว่าจะจัดการกับข้อกังวลของจาการ์ตาโดยเร็ว

สำหรับคนงานอินโดนีเซียที่ยังอยู่ในมาเลเซียก็ต้องดิ้นรนเช่นกัน

อย่างแซนเล่าว่า “ปกติพวกเราทำงานกันเป็นกลุ่มละ 5 คน แต่ตอนนี้เหลือ 2 คน เราเคยเก็บเกี่ยวได้ 200 ตันต่อเดือน แต่ตอนนี้ทำได้เพียง 80 ตัน”

……