เครดิตบูโรวัดไข้หนี้คนรุ่นใหม่ ติดบ่วง “บัตรรูด-ผ่อน0%-กู้รถ” โตไม่หยุด

“เครดิตบูโร” ชี้ปมหนี้ครัวเรือนพุ่ง เหตุคุมคนรุ่นใหม่ไม่ได้ผล ปมธุรกิจบัตรล็อกเป้าคนเพิ่งเริ่มต้นทำงาน ยอมรับโปรฯ ผ่อนบัตรกดเงินสด 0% ทำคนติดกับดัก ฟาก TMB ระบุหนี้เสียรถน่าห่วง ระบุ ธปท.ออกเกณฑ์คุมสินเชื่อรถยนต์ทำยาก เหตุคุมค่ายรถไม่ได้

นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นขณะนี้ น่าเป็นห่วงในหลายประเด็น ทั้งการที่หนี้มีอัตราการเติบโตเร็วกว่า GDP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ) ขณะที่หนี้เช่าซื้อรถยนต์ มีการเติบโตขึ้นถึง 11% (เฉพาะข้อมูลเครดิตบูโร) ส่วนหนี้บ้านมีการเติบโต แต่เกิดจากการเร่งโอนก่อนมาตรการ LTV บังคับใช้ แต่ที่น่ากังวลมากคือ ปัญหาคนอายุน้อยเป็นหนี้เสียมาก ยังไม่ได้หายไป แม้ว่าช่วงปี 2560 จะมีมาตรการคุมบัตรเครดิตกับสินเชื่อส่วนบุคคล (พีโลน) ก็ตาม แต่ปัจจุบันสินเชื่อ 2 ประเภทนี้ก็กลับมาเติบโตเหมือนช่วงก่อนมีมาตรการคุมแล้ว

“บัตรเครดิต วันนี้เขามุ่งไปหาลูกค้าที่อายุน้อย หรือผู้กู้หน้าใหม่ เพราะคนกู้เก่ามีบัตรอยู่แล้ว ซึ่งคนกู้หน้าใหม่ก็คือคนที่เริ่มมีงานทำ สมัยก่อนอาจจะต้องมีงานทำสัก 2 ปีก่อน แต่ตอนนี้ไม่ต้องรอขนาดนั้นแล้ว หรือมีงานทำแต่ไม่ใช่งานประจำก็มีบัตรแล้ว ส่วนบัตรกดเงินสดที่มักจะจัดโปรโมชั่น 0% ถือว่ามีผลต่อการสร้างหนี้ ทำให้คนตัดสินใจง่ายขึ้น แต่หากไปห้ามไม่ให้มีโปรฯนี้ คนที่เขาผ่อนได้ ก็เสียประโยชน์ อีกด้านหนึ่งก็มีคนที่ติดกับดัก ผ่อนไม่ได้ การจะไปคุมตรงนี้ก็เลยอีหลักอีเหลื่อ สิ่งที่ผมกังวลมากกว่าคือ ผู้กู้หน้าใหม่ไม่ยอมเรียนรู้ แล้วใช้ชีวิตโดยอ้างอิงชีวิตคนอื่นที่มีรายได้สูงกว่า หรือดูมีรายได้สูงกว่า แล้วมีบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์คนเหล่านี้” นายสุรพลกล่าว

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มที่น่าเป็นห่วง คือ คนที่มีปัญหาหนี้ครัวเรือน ที่ยังไม่เป็นหนี้เสีย แต่รู้ตัวว่ากำลังจะเป็นหนี้เสีย เช่น เป็นหนี้บัตรเครดิต 3 ใบ บัตรกดเงินสดอีก 2 ใบ แล้วผ่อนชำระขั้นต่ำมาจนจะผ่อนไม่ไหวแล้ว ซึ่งคนเหล่านี้ยังไม่มีทางออก เพราะไม่สามารถเข้าโครงการคลินิกแก้หนี้ได้ รวมถึงกลุ่มเกษตรกรอายุมากขึ้น แต่หนี้ไม่ได้ลดลง ซึ่งการจะชำระหนี้ได้ขึ้นกับราคาพืชผลการเกษตร ที่ไม่ได้ราคาดีทุกชนิดขณะเดียวกันหนี้ครัวเรือนปัจจุบัน ยังไม่นับรวมหนี้ กยศ. และยังมีหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ ที่เพิ่มขึ้นแตะ 2 ล้านล้านบาท มีการเติบโต 4% เริ่มโตช้าลง แต่ต้องดูว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดการกู้วนซ้ำไปแหล่งอื่นอีก

“สุดท้าย ต้องคิดว่าการสร้างการเรียนรู้เรื่องวินัยการเงินอย่างได้ผลจะต้องทำอย่างไร เพราะคนส่วนใหญ่มักจะบอกว่าเข้าใจอยู่แล้ว” นายสุรพลกล่าว

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย (TMB Analytics) กล่าวว่า หนี้ครัวเรือนที่เริ่มกลับมาเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นในส่วนของสินเชื่อรถยนต์และสินเชื่อบ้าน โดย ณ สิ้นไตรมาสแรกปีนี้ สินเชื่อบ้านมียอดคงค้าง 2.25 ล้านล้านบาท ส่วนเช่าซื้อรถยนต์มียอดคงค้างที่ 1.1 ล้านล้านบาท ซึ่งสินเชื่อบ้านในไตรมาสแรกน่าจะโตได้ 7% ต่อเนื่องจากไตรมาส 4 ปีก่อนที่โต 8% ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเร่งโอนก่อนมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีผลในวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา

“สินเชื่อบ้านโตมาก แต่ต่อไปคงชะลอลงบ้าง ส่วนเช่าซื้อรถยนต์โตมาต่อเนื่องตลอดปี 2561 ไตรมาสละ 12-13% ซึ่งมาถึงไตรมาสแรกปีนี้ก็ยังโตต่อ น่าจะเกิน 10% หรือโต 2 หลักต่อเนื่องกัน 5 ไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาสแรกปีก่อน แต่ถ้าย้อนกลับไป 3 ปีที่แล้ว ไม่มีโตแบบนี้ แถมบางช่วงติดลบด้วย และการที่กลับมาโตเร่งขึ้นเป็นตัวเลข 2 หลัก ทาง ธปท.ก็คงจะเป็นห่วง” นายนริศกล่าว

นายนริศกล่าวว่า หากดูคุณภาพสินเชื่อ ก็จะพบว่า สินเชื่อบ้านมีเอ็นพีแอลกว่า 3.4% ขณะที่สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มีเอ็นพีแอล 1.7% บัตรเครดิตมีเอ็นพีแอล 2.6% และพีโลนมีเอ็นพีแอล 2.8% โดยเฉพาะหากดูการผิดนัดชำระในช่วง 30-90 วัน (SM) จะพบว่า สินเชื่อบ้านมี SM ที่ 1.8% ขณะที่เช่าซื้อรถยนต์มี SM ถึง 7.5% ส่วนบัตรเครดิตมี SM ที่ 2% และพีโลนมี SM ที่ 2.3%

ทั้งนี้ จากกรณีที่ ธปท.ส่งสัญญาณออกมาตรการคุมสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์นั้น ก็เป็นไปได้ที่ ธปท.จะออกมาตรการมาในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งหากคุมได้ก็น่าจะช่วยลดเรื่องการออกรถโดยใช้เงินดาวน์ต่ำ หรือดาวน์ 0% ลงไปได้ แต่คำถามคือ จะคุมอย่างไร เพราะสินเชื่อรถยนต์ในระบบแบงก์มีแค่ 1.1 ล้านล้านบาท หรือสัดส่วนประมาณ 60% ของตลาด ขณะที่ในส่วนของน็อนแบงก์ และพวกลีสซิ่งที่ค่ายรถยนต์ทำเอง มีอีกกว่า 6 แสนล้านบาท หรือกว่า 20 ราย

“ต้องดูว่าในทางปฏิบัติจะคุมอย่างไรให้ได้มาตรฐานที่ใกล้เคียงกัน เพราะลีสซิ่งก็ไม่ได้อยู่ภายใต้กำกับของ ธปท.โดยตรง” นายนริศกล่าว

ด้านแหล่งข่าวจากแวดวงการเงิน กล่าวว่า การแก้ปัญหาการสร้างหนี้เกินตัว นอกจากการสร้างการเรียนรู้ด้านวินัยการเงินให้แก่ครัวเรือนแล้ว อีกมุมหนึ่งผู้ให้กู้ก็ต้องให้กู้อย่างมีความรับผิดชอบด้วย ซึ่งกรณีการคุมหนี้บัตรเครดิต หรือบัตรกดเงินสดนั้น หากจะให้ได้ผลแบบทันที ต้องมีการกำหนดวงเงินชำระขั้นต่ำ (minimum pay) ให้สูงขึ้นเป็น 20%

“วิธีนี้ได้ผลแน่นอน แต่จะกระทบกับพวกธุรกิจบัตรเครดิตเต็ม ๆ จึงไม่รู้ว่า ธปท.จะกล้าทำหรือไม่” แหล่งข่าวกล่าว