ตลาดแรงงานใหม่

ตามโครงสร้างประชากรแล้วประเทศไทยกำลังเป็นสังคม “ผู้สูงวัย”

ในมุมเศรษฐกิจระดับโครงสร้างแล้ว เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องดี

เพราะหมายความว่าประชากรในวัยทำงานที่เป็นคนหารายได้ลดน้อยลง

“ผู้สูงวัย” หรือคนที่เกษียณอายุ คือ กลุ่มคนที่รัฐต้องจ่ายเบี้ยบำนาญ หรือเบี้ยชรา

ถ้ารัฐบาลเป็นบริษัท กลุ่มผู้สูงวัยก็จะเป็นกลุ่มที่มีแต่ “รายจ่าย”ไม่มี “รายได้”

ภาพในจินตนาการส่วนใหญ่จะเป็นแบบนี้

แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง

คนอายุ 60 ปี ยังแข็งแรงอยู่

ยังทำงานได้ตามปกติ แต่คงไม่แข็งแรงและคล่องแคล่วเหมือนคนหนุ่มสาว

เพียงแต่ว่าอายุถึงเกณฑ์ที่ต้องเกษียณเท่านั้นเอง

ผู้อาวุโสบางคนยังอยากทำงานต่อ หรือยังต้องการหารายได้

ไม่อยากเป็นภาระให้ลูกหลาน

เป็น “ซัพพลาย” ที่รอ “ดีมานด์”

ในขณะที่อีกมุมหนึ่งแม้วันนี้คนจะบ่นว่าเศรษฐกิจไม่ดี ขายของไม่ได้

แต่ก็มีเสียงบ่นจากผู้ประกอบการเช่นกันว่าขาดแคลนแรงงาน

พนักงานลาออกบ่อย

โดยเฉพาะพนักงานในส่วนของการบริการ

ไม่ว่าจะเป็นพนักงานตามร้านอาหาร ร้านค้าปลีกทั่วไป

คนหนุ่มสาวเบื่อง่าย และรู้สึกว่างานแบบนี้หาไม่ยาก

นี่คือ “ปัญหา” ที่เกิดขึ้นในวันนี้

เป็น “ดีมานด์” ที่ต้องการ “ซัพพลาย”

หลายองค์กรจึงเริ่มหันมาจับตลาดแรงงานใหม่

นั่นคือ คนที่เกษียณอายุ

โดยเฉพาะในด้านการบริการ

คนหนุ่มสาวอาจแข็งแรง คล่องแคล่ว

แต่ประสบการณ์การดูแลคน หรือความใจเย็นสู้ผู้อาวุโสไม่ได้

นี่คือ “จุดตัด” ของ “ดีมานด์” และ “ซัพพลาย” ใหม่

เท่าที่รู้หลายองค์กรเริ่มต้นแล้ว

ธนาคารไทยพาณิชย์ เริ่มในส่วนของ “คอลเซ็นเตอร์”

ได้ข่าวว่าดีมาก

ใจเย็น รับมือกับปัญหาความไม่พอใจได้สบาย ๆ

ไม่ต้องทำงานครบ 8 ชั่วโมง

“ซีเอ็ด” ก็รับพนักงานอาวุโสกลุ่มนี้

ข้อดี คือ คนที่เกษียณอายุส่วนใหญ่เติบโตจากการอ่าน

รู้เรื่องหนังสือมากกว่าคนหนุ่มสาว

รู้ว่าเสน่ห์ของหนังสืออยู่ที่ไหน

เพราะกลุ่มเป้าหมายส่วนหนึ่งของ “ซีเอ็ด” คือ ผู้ใหญ่ที่รักการอ่าน

“อายุเยอะ” กลับกลายเป็น “ข้อดี”

หรือความพิถีพิถันในการจัดหนังสือก็ละเอียดกว่า

ประสบการณ์ด้านการขายก็สูงกว่า

ในขณะที่งานที่ต้องการความคล่องตัวมาก ๆ เช่น แคชเชียร์คิดเงินหรืองานที่ต้องใช้แรง เช่น การยกหนังสือหนัก ๆ

เขาก็ให้คนหนุ่มสาวทำ

ไม่รบกวนพนักงานอาวุโส

“คริสปี้ครีม” ก็มีครับ

จ่ายชั่วโมงละ 80 บาท เป็นพาร์ตไทม์

ทำแค่ 6 ชั่วโมงก็ได้ 480 บาทแล้ว

“เทสโก้ โลตัส” ก็ทำ

ชื่อโครงการ “60 ยังแจ๋ว”

มีทั้งเงินสมทบการรักษาพยาบาล ตรวจสุขภาพประจำปี ฯลฯ

ตอบโจทย์ผู้สูงวัยมาก

ครับ การรับผู้สูงวัยมาทำงานพาร์ตไทม์ หรือพนักงานประจำในส่วนบริการจะแก้ปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงานได้แล้ว

“ข้อดี” ที่สุดที่เหนือกว่าคนหนุ่มสาวก็คือ อัตราการลาออกน้อยมาก

ปัญหาเรื่องพนักงานลาออกนั้น นอกจากจะต้องรับคนใหม่มาทดแทนแล้วเรายังต้องสอนงานใหม่ด้วย

เริ่มต้นนับ 1 อีกครั้ง

และกว่าจะคล่องงานหรือทำงานเป็นก็ต้องใช้เวลาพักหนึ่ง

แต่การรับพนักงานที่สูงวัย

แก้ปัญหาทั้งหมดได้อย่างสิ้นเชิง

เพราะคนกลุ่มนี้อยากทำงานหารายได้

ไม่อยากเปลี่ยนงาน

เหลืออย่างเดียว เราต้องอย่าใช้งานผู้สูงวัยหนักเกินไป

…เท่านั้นเอง