
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าปัจจุบันพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปทุกวันตามเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ความเร็ว ความชัดเจน และการตอบโจทย์ผู้ใช้งานกลายเป็นโจทย์สำคัญ ให้ทุกองค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต่างต้องปรับตัวเพื่อให้ก้าวทันโลก จากเดิมเราอาจคุ้นเคยกับคำว่าปลาใหญ่กินปลาเล็ก แต่การเดินหมากธุรกิจยุคดิจิทัลได้เปลี่ยนสู่นิยามใหม่ว่า ปลาเร็วกินปลาช้า เป็นที่เรียบร้อย
คำว่า Lean Startup และ Agile กลายเป็นแนวคิดสำคัญโลกธุรกิจยุคดิจิทัล แต่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ความหมายและกระบวนการทำงานที่แท้จริงของทั้งสองคำ เพื่อเตรียมความพร้อมและผลักดันให้เหล่าสตาร์ทอัปไทยพร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลง ‘AIS The StartUp’ แพลตฟอร์มการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ ระหว่างไอเอเอสกับบริษัทสตาร์ทอัปเพื่อขยายการเติบโตทางธุรกิจ ยกระดับและขับเคลื่อนศักยภาพ เคียงข้างของสตาร์ทอัปไทยให้แข็งแกร่งสู่ระดับโลก ได้เชิญ คุณนกรณ์ พฤกษ์พิพัฒน์เมธ CEO & Co-Founder แพลตฟอร์ม Conicle และ คุณธีระ ศิริเจริญ CEO & Co-Founder บริษัท กอล์ฟดิกก์ จำกัด 2 ผู้ประสบความสำเร็จจากโครงการ AIS The StartUp มาร่วมพูดคุยและให้ความรู้ในประเด็น Lean Startup และ Agile
องค์กร Smart ด้วย Lean Startup
หากเอ่ยถึงคำว่า ลีน ( Lean )คำข้างต้นได้นำมาใช้ในหลายวงการ สำหรับสายสุขภาพ อาจหมายถึงการลดน้ำหนัก การลดไขมัน แต่สำหรับภาคธุรกิจ Lean นั้นอาจหมายถึงสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการลดต้นทุนการผลิต ลดไขมันส่วนเกินในภาคธุรกิจออก ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่อย่าง Toyota ที่แพร่หลายไปทั่วโลก โดยมีหัวใจสำคัญคือการตัดสิ่งไม่จำเป็นออก และมุ่งสร้างคุณค่า โดยใช้ทรัพยากรเท่าที่จำเป็น ในระยะเวลาการทำงานอันสั้น
แต่นอกจากคำว่า Lean ในสายพานอุตสาหกรรมการผลิตขนาดใหญ่แล้ว ทางฟากฝั่ง Start Up ก็ได้หยิบยกเอาแนวคิดนี้มาประยุกต์ใช้เช่นกัน ในหนังสือเล่มดังอย่าง The Lean Startup โดย Eric Reis ได้นำบทเรียนแนวคิดจาก Toyota มาประยุกต์เข้ากับธุรกิจขนาดที่เล็กโดยมีหลักสำคัญอยู่ตรงที่
“Lean Startup ให้ความสำคัญกับการสร้างคุณค่า (Value) เพื่อแก้ปัญหา (Painpoint) เรียนรู้ลูกค้าก่อนออกแบบธุรกิจให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้เร็วที่สุด โดยตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออก”
เป็นที่ทราบกันดีว่าบริบทของบริษัท Startup ในการทำธุรกิจ สิ่งสำคัญคือเราไม่อาจทราบได้เลยว่า ไอเดียตั้งต้นจะประสบความสำเร็จหรือไม่ในโลกแห่งความเป็นจริง สิ่งที่ผู้ก่อตั้งคิดอาจจะยังไม่เพียงพอในการตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ดังนั้นแนวคิดเรื่อง Lean Start Up จึงได้เข้ามาตอบโจทย์การทำให้ไอเดียได้มาบรรจบกับความต้องการของลูกค้าได้อย่างพอดี โดยหลักแนวคิดแบบ Lean
‘Build-Measure-Learn’
1.Build คือการสร้างสินค้าและบริการจากไอเดียตั้งต้น โดยไม่จำเป็นต้องเป็นสินค้าหรือบริการที่เสร็จสมบูรณ์อาจเป็นเพียง Prototype ซึ่งเราเรียกสินค้าและบริการประเภทนี้ว่า MVP หรือ (Minimum Viable Product) หรือการทำสิ่งที่เล็กที่สุดที่สามารถเป็นสินค้าหรือบริการให้ผู้ใช้บริการได้ทดลองใช้
2.Measure เมื่อสร้างสินค้าเสร็จก็ถึงเวลาไปวัดผลกับผู้ใช้งานจริง ว่าไอเดียตั้งต้นตอบโจทย์ลูกค้าจริงหรือไม่เพียงพอหรือยัง เพื่อเฟ้นหาสิ่งที่ต้องปรับปรุงต่อ ผ่านการกำหนดตัวชี้วัดพูดคุยรวบรวมข้อมูลจากผู้ใช้งานจริง
3.Learn ขั้นตอนสำคัญหลังจากที่ได้ข้อมูลก็จะเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ ว่าตลอดแนวทางข้างต้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง เราควรจะพัฒนาหรือปรับปรุงสินค้าและบริการอย่างไร
กระบวนการ Build measure Learn จึงเป็นเครื่องมือพิสูจน์ให้ธุรกิจเห็นว่าจากไอเดียที่ฟุ้งๆ ในหัวเป็นสิ่งที่จับต้องได้มากขึ้น ทำให้เห็นว่าจริงๆ แล้วมันเวิร์กหรือไม่ จากการที่ได้ลองตั้งสมมติฐาน และทดสอบในสิ่งที่เราทำ พร้อมรับเสียงตอบรับเพื่อปรับปรุงแก้ไขพัฒนาต่อไป ซึ่งวงจรการทำ Build-Measure-Learn อาจหมายถึงการทำหลายต่อหลายครั้ง เพื่อให้เข้าใกล้กับความต้องการของผู้ใช้งานหรือลูกค้ามากขึ้นเรื่อยๆ โดยมีข้อดีคือช่วยให้องค์กรหรือธุรกิจไม่ลงทุนในสิ่งที่ผิดทิศผิดทาง ช่วยลดความเสี่ยงเรื่องการลงทุนและเรียนรู้ ซึ่งช่วยให้ธุรกิจ Startup มีความเป็นไปได้มากขึ้น
ปรับเปลี่ยน เดินเกมเร็วด้วย Agile
หาก Lean เน้นในเรื่องของกระบวนการผลิต เปลี่ยนสิ่งที่เป็นไอเดีย สิ่งใหม่ ให้จับต้องได้มากขึ้น เชื่อมโยงระหว่างธุรกิจกับผู้ใช้งาน และพยายามทำให้สินค้าและบริการตอบโจทย์ผู้ใช้งานให้ได้มากที่สุดด้วยกระบวนการ Build Measure Learn
ทว่าอีกหนึ่งคำที่ธุรกิจยุคดิจิทัลควรจะต้องเรียนรู้คือคำว่า ‘Agile’ ซึ่งเป็นแนวคิดในการทำงานที่กำหนดเป้าหมายระยะสั้นเพื่อความรวดเร็วโดยเน้นไปที่การพัฒนาและปรับเปลี่ยนสินค้าและบริการ ลดขั้นตอนการทำงานที่ไม่จำเป็น ลดงานเอกสาร ลดการทำงานซ้ำซ้อน จัดลำดับความสำคัญของการทำงานให้ทันท่วงทีมุ่งเน้นการสื่อสารกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย และร่วมกันปรับปรุงพัฒนาสินค้าและบริการอยู่ตลอดมากกว่าทำตามแผนที่วางไว้เพื่อตอบสนองผู้ใช้งานให้ได้มากที่สุด
เพื่ออธิบายให้เห็นภาพมากขึ้นขอยกตัวอย่างการทำงานที่แตกต่าง อาทิแนวคิดการทำงานแบบ Water fall ที่ทุกอย่างถูกออกแบบและกำหนดไว้อย่างรอบคอบ เป็นแบบแผนแล้วว่าแต่ละขั้นตอนต้องทำอย่างไรบ้าง โดยทุกคนไม่จำเป็นต้องรับรู้ว่าใครทำอะไร เพียงแค่รับไม้ต่อจากคนข้างหน้า และทำงานพร้อมส่งให้คนต่อไป เปรียบเสมือนการสร้างตึก ที่ต้องแบ่งหน้าที่กันทำ และทุกอย่างต้องเป็นไปตามพิมพ์เขียวที่วางแผนไว้ ตามขั้นตอนทุกกระเบียดนิ้ว
ทว่าท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลาทั้งจากบริบทสังคม เทคโนโลยี และผู้ใช้งาน แนวคิดดังกล่าวอาจไม่เหมาะสมในการประยุกต์ใช้กับบริษัท Startup ที่ต้องทำงานแข่งกับเวลา ซึ่งต้องการความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยน เพราะในบางครั้งเทรนด์ที่เกิดขึ้นในตลาด อาจส่งผลให้แผนงานที่วางไว้ต้องเร่งปรับเปลี่ยนเพื่อความเหมาะสมอยู่ตลอดเวลา
กระบวนการ Agile จึงเข้ามาตอบโจทย์และสอดคล้องกับแนวคิด Lean ที่เน้นกระบวนการทำที่เล็กคล่องตัว ทุกคนเห็นภาพร่วมกัน เร่งทำสินค้าและบริการออกมาเพื่อฟังเสียงตอบรับจากผู้ใช้งานหรือลูกค้าว่าตอบโจทย์หรือไม่ หรือควรทำสิ่งไหนก่อนเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้งานมากที่สุด ณ ขณะชั่วเวลานั้นๆ
Lean startup หรือ Agile แนวคิดไหนเหมาะกับใครและช่วงเวลาไหน
เริ่มต้นจากกระบวนการ Lean Startup เหมาะกับธุรกิจ Startup ช่วง Early Stage หรือใช้กับการหาคำตอบในเรื่องใหม่ๆ ขององค์กรไม่ว่าจะเป็น การเริ่มสินค้า และบริการใหม่ที่ตัวบริษัทเองหรือตัวทีมที่ทำยังคงไม่แน่ใจว่าสิ่งนี้ จะประสบความสำเร็จหรือไม่เราจึงต้องทดสอบสมมติฐาน และพิสูจน์หาคำตอบก่อนที่จะพัฒนาต่อไป
ส่วนแนวคิดการทำงานแบบ Agile เป็นการลดเวลา Waste Time ในการทำงานและทำให้มันกระชับขึ้น เร็วขึ้น ปรับเปลี่ยนให้คล่องตัวขึ้น แสดงว่าเป็นได้ทั้งสิ่งใหม่ การเปลี่ยนแปลง หรือการทำบนสิ่งเดิมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น สินค้าและบริการนี้เราเคยมีทีม 20 คน อาจจะลดลงเหลือเพียง 10 เพราะสินค้าและบริการนี้ อาจจะยังอยู่ในช่วงที่ไม่ต้องทำอะไรเพิ่มมาก และทุกคนต่างคุ้นชิน
ทั้งสองกระบวนการต่างมีสิ่งรวมกันประการหนึ่ง คือการมองสินค้าและบริการเป็นพลวัต ที่มีการเปลี่ยนแปลงไม่ตายตัวต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา เหตุเพราะตลาด เทคโนโลยีดิจิทัลและความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป
หนึ่งในความท้าทายที่ทุกองค์กรต้องเผชิญก็จะเป็นเรื่องเดียวกันก็คือจะปรับตัวตามโลกยังไงให้เหมาะสม และองค์กรต่างๆ สามารถส่งมอบคุณค่า ส่งมอบสินค้าและบริการให้กับลูกค้าให้กับตลาดได้ต่อเนื่องหรือไม่ สิ่งสำคัญจึงอยู่ที่ว่าหากองค์กรไม่มีความคล่องตัว จะกลายเป็นจุดที่องค์กรวิ่งตามไม่ทัน กับสถานการณ์โลกเปลี่ยนไปและจะกลายเป็นปลาที่ว่ายช้าในท้ายที่สุด
อย่างไรก็ตามเราอาจจะไม่จำเป็นต้องไปยึดติดกับกรอบแนวคิด หรือ ทฤษฎีอันใดอันนึง มากเกินไป ควรจะมองว่าทั้งสองคำเป็นแนวคิดแต่ไม่ใช่สิ่งที่ต้องทำ ลองเริ่มจากการคิดว่า Lean กับ Agile นั้นเป็นกรอบที่จะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับBusiness Model ของแต่ละองค์กรได้อย่างไร จะมีประโยชน์และจะเป็นจุดเริ่มที่ดีได้อย่างไร เพราะอย่าลืมว่าเรื่องของเงินทุน เวลา ทรัพยากร ทีมงาน เป็นสิ่งที่แต่ละองค์กรมีความแตกต่างกัน
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัว ‘AIS The Startup’ สู่เส้นทางแห่งความสำเร็จ สามารถส่งผลงานเข้ามาได้ที่เว็บไซต์ www.ais.co.th/thestartup หรือ www.facebook.com/aisthestartup แล้วมาร่วมเดินหน้าพัฒนาธุรกิจให้เติบโตไปด้วยกัน!