คุณเสี่ยงซึมเศร้าแค่ไหน? เช็คอาการใน “Healthcare2019”

       สถานการณ์โรคซึมเศร้านับเป็นปัญหาสำคัญทางสุขภาพ เป็นโรคใกล้ตัวที่สามารถรักษาได้ แต่หากละเลยจนไม่ได้รับการรักษาอาจรุนแรงจนนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้ เช่นข้อมูลสถิติขององค์การอนามัยโลก ในปี 2560 ระบุว่า มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าทั่วโลกประมาณ 322 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 4.4 ของประชากรโลก

       สำหรับประเทศไทย ข้อมูลกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยสถานการณ์ล่าสุดในปี 2562 ที่แนวโน้มการฆ่าตัวตายในคนไทยเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชนเสี่ยงมีภาวะซึมเศร้ามากขึ้นในปัจจุบัน แม้ว่าเมื่อเทียบสัดส่วนของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าน้อยกว่ากลุ่มวัยทำงานและวัยผู้สูงอายุ แต่ข้อมูลสายด่วนสุขภาพจิต 1323 พบว่า กลุ่มเยาวชนโทรเข้ามาปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น

       ยืนยันจาก นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากการให้บริการปรึกษาทางโทรศัพท์ในปี 2561 มีทั้งสิ้น 70,534 ครั้ง เป็นกลุ่มเด็กอายุ 11-19 ปี 10,298 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 14.6 และเป็นกลุ่มเยาวชนอายุ 20-25 ปี 14,173 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 20.1 สำหรับในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 มีผู้โทรเข้ามาใช้บริการทั้งสิ้น 40,635 ครั้ง เป็นกลุ่มเด็กและเยาวชนอายุ 11-25 ปี จำนวน 13,658 ครั้ง

       อันดับปัญหาที่พบมากที่สุดในกลุ่มเด็กและเยาวชน คือ ปัญหาความเครียดหรือวิตกกังวล ปัญหาความรัก ปัญหาซึมเศร้า ปัญหาครอบครัว และมีความคิดหรือความพยายามฆ่าตัวตายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยมีข้อมูลพบว่า ในปี 2560 กลุ่มเยาวชนอายุ 20-24 ปี มีอัตราการฆ่าตัวตายที่ 4.94 ต่อประชากรแสนคน ในปี 2561 เพิ่มขึ้นเป็น 5.33 ต่อประชากรแสนคนนับเป็นปัญหาที่ต้องให้ความสำคัญและต้องเร่งแก้ไขเนื่องจากวัยรุ่นเป็นทรัพยากรที่มีค่าในการพัฒนาประเทศในอนาคต

       สาเหตุของโรคซึมเศร้าเกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง และสาเหตุอื่นๆ ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจการเงิน ความผิดหวัง ความสัมพันธ์ ความรัก ความสูญเสีย เป็นต้น หากไม่สามารถจัดการกับปัญหาได้จะทำให้ทุกปัญหากลายเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความเครียด วิตกกังวล จนพัฒนาไปสู่ภาวะซึมเศร้าและคิดทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตายได้ และอาการของโรคซึมเศร้า ได้แก่ เศร้า หดหู่ ซึม เบื่อหน่าย หงุดหงิด ฉุนเฉียว ไม่มีสมาธิ นอนไม่หลับ มีความคิดอยากตาย

       จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคนี้หรือเปล่า?

       บางคนที่อ่านถึงตอนนี้อาจรู้สึกว่าตนเองก็มีอะไรหลายๆ อย่างที่เข้าข่ายกับอาการของโรคซึมเศร้า แต่ก็มีหลายๆ อย่างที่ไม่เหมือนทีเดียวนัก ทำให้อาจสงสัยว่าจะรู้ได้อย่างไรว่าตนเองเป็นหรือเปล่า

       ซึ่งอาการซึมเศร้านั้นมีด้วยกันหลายระดับตั้งแต่น้อยๆ ที่เกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน ไปจนเริ่มมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และบางคนอาจเป็นถึงระดับของโรคซึมเศร้า อาการที่พบร่วมอาจเริ่มตั้งแต่รู้สึกเบื่อหน่าย ไปจนพบอาการต่างๆ มากมาย

       อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่าสำหรับแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาภาวะซึมเศร้าและการฆ่าตัวตายให้กับคนใกล้ตัวสามารถป้องกันได้ สำหรับคนที่อยู่ในภาวะวิตกกังวล หรือเครียดกับปัญหาที่เผชิญอยู่ จะมีผลต่อสมาธิและความสามารถในการเรียนหรือการทำงาน โทรสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ที่รอให้คำปรึกษาได้ตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งคนรอบข้างสามารถสังเกตอาการและพฤติกรรมที่ผิดปกติ ได้แก่ อาการเหม่อลอย ไม่ร่าเริงแจ่มใส มาเข้าเรียนหรือทำงานสาย รวมทั้งงีบหลับบ่อยๆ โดยใช้หลัก 3 ส. คือ สอดส่องมองหา ใส่ใจรับฟัง ส่งต่อเชื่อมโยง เมื่อพบเห็นภาวะดังกล่าว คนรอบข้างไม่ว่าจะเป็นเพื่อน คนใกล้ชิด รวมทั้งครอบครัว ต้องรีบเข้าไปพูดคุยร่วมกันหาสาเหตุ รับฟังปัญหาอย่างเข้าใจและใส่ใจ ให้การช่วยเหลือ ให้คำปรึกษา หรือส่งต่อแพทย์ได้อย่างทันท่วงที

       สอดคล้องกับ รศ.ดร.พูลสุข เจนพานิชย์ วิสุทธิพันธ์ รองคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ที่กล่าวในงานแถลงข่าว “Healthcare เรียนรู้ สู้โรค 2019” ที่ระบุว่า คนใกล้ชิด รวมทั้งครอบครัว มีส่วนสำคัญที่จะช่วยเหลือผู้มีอาการหรือภาวะซึมเศร้า โดยต้องรู้ถึงวิธีป้องกันอันตรายโรคซึมเศร้า โดยต้องรับฟังปัญหาอย่างเข้าใจและใส่ใจ รวมทั้งรู้ถึงช่วงเวลาหรือระดับอาการที่ควรส่งต่อแพทย์เพื่อการรักษาอย่างทันท่วงที

       “มาร่วมเช็คภาวะโรคซึมเศร้า พร้อมรับมือป้องกันโรคซึมเศร้า กับโรงพยาบาลรามาธิบดี ในงานมหกรรมสุขภาพที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 27-30 มิ.ย. 2562 ที่ Hall 5 อิมแพค เมืองทองธานี พร้อมกิจกรรม Health Talk : รู้เท่าทัน ป้องกันโรคซึมเศร้า โดย อ.นพ.กานต์ จำรูญโรจน์ สาขาวิชาจิตเวชศาสตร์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล (วันที่ 27 มิถุนายน 2562 เวลา 14.00 – 14.50 น.) และทำแบบสอบถามภาวะอารมณ์เศร้า (Patient Health Questionnaire; PHQ9) เพื่อประเมินภาวะซึมเศร้าของคุณ พร้อมคำแนะนำการรับมือกับผู้ป่วยในครอบครัวโดยคุณหมอและบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ ของโรงพยาบาลรามาธิบดี” รศ.ดร.พูลสุข กล่าว

เดินทางไปยังงาน Healthcare เรียนรู้ สู้โรค 2019

       สำหรับการเดินทางมางาน Healthcare เรียนรู้ สู้โรค 2019 ในวันที่ 27- 30 มิถุนายน ไปยังอิมแพ็ค เมืองทองธานี Hall 5 นอกจากการใช้รถส่วนตัวหรือบริการรถแท็กซี่แล้ว ยังมีวิธีการเดินทางขนส่งสาธารณะ ทั้งรถตู้ รถโดยสารประจำทาง

       และพิเศษไปกว่านั้นงานยังมีรถบริการรับส่งพิเศษ ฟรี! จากสถานี BTS หมอชิต (ทางออก 2 และ 4) ถึงเมืองทองธานี เวลา 08.00 น., 11.00 น. และ 13.00 น. พร้อมเที่ยวกลับจากเมืองทองธานี ถึงสถานีรถไฟฟ้า BTS หมอชิต เวลา 13.00 น.,15.00 น. และ 17.00 น. ฟรีทั้ง 4 วัน

 

/////////////////////////////////////////////////////////////////////

 

วิ่งช่วยไล่เครียด

       นอกจากการวิ่งจะดีต่อ “ภายนอก” เช่น รูปร่าง น้ำหนักตัว การวิ่งยังดีต่อ “ภายใน” ให้ความสบายใจ ปลอดโปร่ง

       นักจิตวิทยาบอกว่า วิธีแก้เครียดที่ดีกว่าเหล้ากว่าบุหรี่ คือ วิ่ง

       ปัจจุบันแนวโน้มของการวิ่งเพื่อ “บริหารและบำบัดความรู้สึกภายในจิตใจ” หรือ DRT-Dynamic Running Therapy กำลังเป็นที่สนใจของนักวิ่งในตะวันตก เพราะผู้คนอยู่ในภาวะ “เครียดง่าย” “เครียดนาน” มีความเครียดสะสมโดยไม่รู้ตัว

       ดร.วิคเตอร์ ทอมป์สัน นักจิตวิทยาด้านกีฬาชื่อดังในลอนดอน ให้คำแนะนำวิธีสลัดตัวเองจากความเครียด คลายความวิตกกังวลที่ได้ผล ด้วยการวิ่งต่อเนื่องครั้งละ 30-45 นาที ให้ได้สัปดาห์ละ 3 ถึง 4 วัน (จะวิ่งเร็ว วิ่งช้า วิ่งเหยาะๆ ก็ตามแต่ร่างกายของเรา แต่ขอให้วิ่งได้ต่อเนื่อง ก็ได้ผลไม่ต่างกัน)

       การวิ่งช่วยตัดวงจรความคิดในแง่ลบได้ดี เพราะขณะที่วิ่งจะบีบให้ความคิดจดจ่ออยู่กับลมหายใจ ความเหนื่อย กล้ามเนื้อที่ออกแรง ภาวะนี้ช่วยให้ลืมไปเลยว่าก่อนหน้านี้เคยโกรธ เครียด หรือขุ่นมัวเรื่องงานหรือเรื่องเครียด

       ผลของการวิ่งด้วยปริมาณและความถี่เท่านี้ เพียงพอที่ช่วยให้คุณพบความสงบ และรับมือกับความวิตกกังวลได้ดีขึ้น ลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า อาการวิตกจริต และอีกหลายอาการที่มาพร้อมความกังวล

       โดยผลวิจัยใน Dynamic Running Therapy เสนอทางออกสำหรับผู้ที่รู้ตัวว่ากำลัง “วิตกกังวลเรื่องใดเรื่องหนึ่ง” ให้ลองหันมาดูแลตัวเองด้วยการออกกำลังกายการวิ่งจ็อกกิ้ง  ครั้งละ 30-45 นาที จะช่วยให้คุณมีอารมณ์ที่มั่นคง ไม่แปรปรวนง่าย และรับมือกับเรื่องความวิตกกังวลในชีวิตได้ดีขึ้นอย่างรู้สึกได้

       ที่มาข้อมูล: www.read.thai.run


ในงาน “Healthcare เรียนรู้ สู้โรค 2019 มาเรียนวิ่งเพื่อบำบัดความเครียดกับ Health Activity : ฝึกวิ่งง่ายๆ สไตล์โค้ชนักวิ่งสายฮา ครูดิน-สถาวร จันทร์ผ่องศรี อดีตนักวิ่งมาราธอนทีมชาติไทย ผู้โด่งดังในโลกออนไลน์และออฟไลน์ เตรียมชุดออกกำลังกาย รองเท้าผ้าใบกับใจนิ่งๆ มาวิ่งไล่เครียด และหนีจากอาการซึมเซา ในวันที่ 27 มิ.ย. ตั้งแต่ 17.00 น. เป็นต้นไป