เช็คลิสต์…ค่าลดหย่อนภาษีปี 2563

ใกล้สิ้นปีแบบนี้ การลงทุนที่หลายคนให้ความสนใจ คงหนีไม่พ้นลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษี แต่คุณทราบหรือไม่ ว่าการลงทุนดังกล่าว ไม่ได้ให้ประโยชน์เรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพียงเท่านั้น แต่ยังได้รับผลตอบแทนเมื่อลงทุนครบตามเกณฑ์ และได้รับเงินก้อนสำหรับไว้ใช้หลังเกษียณ เรามาติดตามกับบทความนี้ไปพร้อมๆ กัน

ประเทศไทยมีการคิดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแบบอัตราก้าวหน้าหรือแบบขั้นบันได ดังนั้นถ้าหากเรามีรายได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษีสูง ฐานภาษีของเราก็จะสูงตามไปด้วย หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ยิ่งรายได้มาก ยิ่งเสียภาษีมาก คำถามคือหากเป็นเช่นนี้แล้ว เราจะอยากให้รายได้ของเราน้อย เพื่อไม่ต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงหรือไม่? หลายคนก็คงตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่!! ขอเลือกมีรายได้ที่มากๆ ดีกว่า ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการวางแผนภาษี ซึ่งก็คือ การเตรียมตัวเพื่อเสียภาษีให้ถูกต้อง ครบถ้วน ในฐานะพลเมืองที่ดี และใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีต่างๆ ที่กฎหมายกำหนดไว้ไปใช้ลดหย่อนภาษีเงินได้ประจำปี เพื่อบรรเทาภาระภาษีให้น้อยลง

KKP Advice Center ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่รวบรวมความรู้เกี่ยวกับความรู้ด้านการเงิน การลงทุนจากธนาคารเกียรตินาคินภัทร ได้รวบรวมเช็คลิสต์ค่าลดหย่อนภาษีปี 2563 มาฝากโดยแบ่งเป็นค่าลดหย่อน 4 กลุ่มหลักได้แก่ ค่าลดหย่อนส่วนตัว ค่าลดหย่อนกระตุ้นเศรษฐกิจ ค่าลดหย่อนการบริจาค และค่าลดหย่อนเพื่อการออมและการลงทุน รายละเอียดมีอะไรบ้าง เราไปติดตามกันเลย

สำหรับค่าลดหย่อนส่วนที่เพิ่มเติมขึ้นมาในปีนี้  คือ ช้อปดีมีคืน (รายละเอียดเพิ่มเติม) ซึ่งต้องเลือกใช้สิทธิ์ระหว่าง สิทธิ์คนละครึ่ง ที่รัฐช่วยออกค่าใช้จ่ายให้ครึ่งหนึ่ง (ไม่เกิน 3,000 บาท) กับช้อปดีมีคืน ซึ่งในปีภาษี 2563 นี้ เราก็เลือกใช้สิทธิ์กันไปแล้ว และหากในปีต่อๆ ไป รัฐเปิดให้ใช้สิทธิ์ค่าลดหย่อนเช่นนี้อีก การจะเลือกใช้สิทธิ์แบบใด ก็ต้องขึ้นกับวัตถุประสงค์ในการใช้จ่ายและฐานภาษีของแต่ละบุคคล เช่น  หากคุณมีแพลนที่จะซื้อสินค้าภายในสินปีนี้อยู่แล้ว และสินค้าที่จะซื้อสามารถออกใบกำกับภาษีในระบบ vat ได้ การเลือกใช้สิทธิ์ช้อปดีมีคืน ก็อาจเป็นตัวเลือกที่ดีในการวางแผนภาษีของคุณ

ในส่วนของค่าลดหย่อนการออมและการลงทุนปีนี้ที่มีเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมคือ เงินประกันสังคม มาตรา 33 (จ่ายเดือนละ 750 บาท) ซึ่งปี 2563 นี้ สามารถลดหย่อนได้ 5,850 บาท จากปกติที่ลดหย่อนได้ 9,000 บาท เนื่องจากช่วง COVID-19 มีการปรับลดยอดชำระลงในแต่ละเดือน ซึ่งเป็นมาตรการช่วยเหลือประชาชนจากทางภาครัฐ แต่ก็ทำให้ค่าลดหย่อนภาษีของเราลดตามไปด้วย

การลงทุนใน SSF และ SSFX เป็นการลงทุนที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตัวใหม่ที่มาแทน LTF เดิม แต่ยอดในการลดหย่อนรวมกันต้องไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวม SSF, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD), กองทุนการออมแห่งชาติ, RMF และเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ซึ่งจะแตกต่างจาก LTF เดิม ที่สามารถใช้ค่าลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาทแยกออกมาอีกก้อน และสำหรับ SSFX ก็เป็นสิทธิประโยชน์ทางภาษีตัวใหม่ที่เพิ่มเติมขึ้นมา สามารถลงทุนได้ไม่เกิน 200,000 บาท และไม่นำไปรวมกับก้อน 500,000 บาท  แต่ก็จำกัดระยะเวลาการลงทุนอยู่ในช่วง 1 เม.ย. – 30 มิ.ย. 63 

และอย่างที่กล่าวข้างต้น การลงทุนที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ไม่ได้ให้ประโยชน์เฉพาะเรื่องของภาษี ด้วยเกณฑ์ของระยะเวลาการลงทุน เช่น RMF ซึ่งต้องมีระยะเวลาการลงทุนอย่างน้อย 5 ปี และลงทุนจนถึงอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ หรือ SSF ซึ่งหากลงทุนต้องถือครองหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 10 ปี นับแบบวันชนวัน โดยระยะเวลาการลงทุนดังกล่าว สามารถใช้วางแผนเพื่อเป็นเงินไว้ใช้หลังเกษียณได้

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การวางแผนภาษี ได้ประโยชน์ถึงหลายต่อ ทั้งเรื่องเงินคืนภาษี ผลตอบแทนจากการลงทุน รวมไปถึงเงินไว้ใช้หลังเกษียณ อย่าลืม เช็คลิสต์…ค่าลดหย่อนภาษีปี 2563 จะเป็นตัวช่วยหนึ่งในการวางแผนภาษีให้กับคุณได้ หากสนใจสาระดีๆ ด้านการเงินและการลงทุนอื่นๆ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ KKP Advice Center