อัด 5G สูบฉีดเทคโนโลยี หนุนภารกิจวัคซีนเพื่อชาติ

แม้ว่าจะอยู่ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 หลายคนอาจจะเห็นถึงการหยุดชะงักของภาคธุรกิจต่างๆ เพราะด้วยเงื่อนไข มาตรการการควบคุมทำให้การขับเคลื่อนขององค์กรเจอกับอุปสรรคครั้งใหญ่ แต่ก็ยังมีอีกหนึ่งองค์กรใหญ่อย่างๆ AIS โดยสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ยังคงเดินทัพ นำเอาศักยภาพขององค์กรที่มีในทุกด้านออกมาช่วยเหลือ สนับสนุนการทำงานของภาคสาธารณสุขอย่างเต็มกำลัง ควบคู่กับการบริการลูกค้า 

การเปิดตัวให้บริการ AIS 5G เป็นรายแรก ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ด้วยการถือครองคลื่นความถี่มากที่สุด ครบทั้งย่านความถี่ต่ำ กลาง และสูง ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ดูเหมือนจะไม่ได้เป็นข้อจำกัดแต่ประการใด เพราะที่ผ่านมาเราได้เห็นการดึงเอาศักยภาพ 5G ออกมาในรูปแบบของโซลูชั่นที่สนับสนุนการทำงานของภาคสาธารณสุขได้อย่างมีประสิทธิภาพ และแน่นอนว่าในอนาคต 5G ก็จะมาพลิกโฉมภาคสาธารณสุขไปอย่างสิ้นเชิง  

ไล่เรียงตั้งแต่ การติดตั้งสัญญาณเครือข่าย 5G, 4G, WiFi ในพื้นที่โรงพยาบาลหลักทั่วประเทศ โรงพยาบาลสนามกว่า 81 แห่ง รองรับผู้ป่วยไว้กว่า 20,405 เตียง และจุดฉีดวัคซีนอีก 53 จุด เบื้องต้น ทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด เป้าหมายก็เพื่ออำนวยความสะดวกในการเชื่อมต่อระบบ CCTV และส่งต่อข้อมูลทางการแพทย์ รวมถึงอำนวยความสะดวกแก่ผู้ป่วยให้สามารถสื่อสารกับครอบครัวได้ระหว่างรักษาตัว 

การนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์ Robot for Care (ROC) เพื่อทำหน้าที่ช่วยเหลือ ดูแล และตรวจอาการผู้ป่วยโควิด-19 ในห้องพัก จำนวน 24 ตัว ให้แก่โรงพยาบาล 23 แห่ง  อีกทั้งยังทำความร่วมมือกับ ราชวิทยาลัย จุฬาภรณ์ และโรงพยาบาลเครือข่าย นำ AI CT Scan ปอด เข้ามาใช้งานเพื่อวิเคราะห์หาผู้ติดเชื้อ เทคโนโลยีดังกล่าวสามารถประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างแม่นยำภายในเวลาเพียง 25 วินาทีต่อ 1 เคส ทั้งยังมีความแม่นยำในการวินิจฉัยสูงถึง 96%

รวมไปถึงการสนับสนุนเครือข่ายสื่อสารสำหรับการออกหน่วยแพทย์โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ลงพื้นที่ภาคสนามในเขตชุมชนองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี นำร่องฉีดวัคซีนโควิด -19 ให้แก่บุคลากรทางการศึกษาและประชาชนทั่วไปของจังหวัดปทุมธานี อีกด้วย 

เทคโนโลยีระบบโทรเวชกรรม หรือ Telemedicine โดยร่วมกับแอปพลิเคชั่น “Me-More” เพื่อให้บริการในโรงพยาบาลสนาม 2 แห่งในกรุงเทพมหานคร เพื่อลดภาระการทำงานของแพทย์และพยาบาล รวมถึงลดความเสี่ยงการสัมผัส และความแออัดของสถานที่ 

มากไปกว่านั้นยังทำงานร่วมกับบริษัท CS LoxInfo พัฒนาระบบ “จองสบาย” เพื่อเตรียมติดตั้งในจุดฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาล อำนวยความสะดวกในการบริหารจัดการคิวฉีดวัคซีน ป้องกันการแออัดของคนในพื้นที่ 

พร้อมนำ Cloud Contact Center เพื่อสร้างศูนย์ Hot line ช่วยเรื่องการติดต่อสื่อสาร และประสานงานให้กับบุคลากรทางการแพทย์ได้อย่างเต็มกำลัง โดยเข้าไปติดตั้งให้แก่ศูนย์แรกรับและส่งต่อผู้ป่วย อาคารนิมิบุตร โรงพยาบาลบุษราคัม เมืองทองธานี และราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่ออำนวยความสะดวกในการให้บริการผู้ป่วยรวม 70 คู่สาย 


โดยที่การทำงานทั้งหมดของ AIS ยังคงเดินหน้าควบคู่ไปกับพันธมิตรที่หลากหลาย เพราะนั่นคือแนวทางการทำงานที่ AIS ยึดถือมาโดยตลอด ทั้งภาครัฐ เอกชน และ Startup ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงสาธารณสุข ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และโรงพยาบาลเครือข่าย (โรงพยาบาลน่าน ร้อยเอ็ด เพชรบูรณ์) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กรุงเทพมหานคร, กองทัพ, อิมแพ็ค เมืองทองธานี, เซ็นทรัล, AWC, CS LoxInfo และ Me More ทั้งหมดนี้ก็เพื่อที่จะเชื่อมต่อ ช่วยเหลือ ให้ภาคสาธารณสุข รวมถึงประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้อย่างดีที่สุด