‘อนุทิน’ นำทัพ ‘สธ.’ คิกออฟกัญชา-กัญชง ถูกกฎหมาย ประเดิม ‘มหกรรม 360 องศา ปลดล็อคกัญชา ประชาชนได้อะไร’ สุดยิ่งใหญ่ ! 10-12 มิ.ย.นี้ ที่บุรีรัมย์

“อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯ และ รมว.สธ. สุดปลื้ม ! ปลดล็อกกัญชาสำเร็จครั้งแรกในเมืองไทย พร้อมผนึกกำลังบุคลากร สธ. ลุยให้ความรู้ประชาชนต่อเนื่อง ล่าสุดใน “มหกรรม 360 องศา ปลดล็อคกัญชา ประชาชนได้อะไร” 10-12 มิ.ย.นี้ ที่บุรีรัมย์ ชูไฮไลต์แจกกัญชา 1,000 ต้นฟรี ! พร้อมอัดแน่นด้วยกิจกรรมเด็ดเพียบ ! ปูทางกัญชา-กัญชง พืชเศรษฐกิจหมื่นล้าน 

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 10 มิถุนายน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ เดินหน้าสร้างองค์ความรู้เรื่องกัญชาแก่ประชาชนทั่วไทยต่อเนื่อง ล่าสุดจัด “มหกรรม 360 องศา ปลดล็อคกัญชา ประชาชนได้อะไร” วันที่ 10-12 มิถุนายน 2565 ที่สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จังหวัดบุรีรัมย์ โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้เกียรติเป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายธัชกร หัตถาธยากูล ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหาร ข้าราชการ อสม. สังกัดกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วมในพิธีเปิด

งาน “มหกรรม 360 องศา ปลดล็อคกัญชา ประชาชนได้อะไร” ถือเป็นการตอกย้ำความสำเร็จ “มหกรรมกัญชา กัญชง 360 องศา เพื่อประชาชน” ซึ่งมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 30,000 คน ที่จังหวัดบุรีรัมย์ ในปี 2564 โดยเป็นการเดินหน้าสร้างความรู้และความเข้าใจด้านกัญชาทางการแพทย์ กัญชาเพื่อเศรษฐกิจ และเพิ่มการเข้าถึงการให้บริการกัญชาทางการแพทย์แก่ผู้ป่วย อัดแน่นสาระประโยชน์ครอบคลุมทุกมิติกัญชาน่ารู้ ผลงานวิจัยและนวัตกรรมกัญชา ผลิตภัณฑ์กัญชาน่าซื้อ และยังมีคลินิกกัญชาทางการแพทย์ ที่เปิดให้บริการแก่ประชาชนที่เข้าร่วมงานโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า “นโยบายกัญชาทางการแพทย์” เป็นนโยบายที่กำหนดขึ้น เพื่อสร้างรายได้ให้ประชาชนและประเทศ กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ เพราะเป็นหนึ่งในพืชไม่กี่ชนิด ที่ใช้ประโยชน์นำมาเป็นยาและอาหารได้ทุกส่วน ทั้งราก ต้น ใบ และดอก ซึ่งคนไทยใช้กันมานานแล้ว

“การดำเนินงานกัญชาทางการแพทย์ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่า กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจ สามารถพลิกโฉมให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ เห็นได้จากผลงานในปี 2564 แม้ว่าจะมีสถานการณ์โควิด-19 แต่ผลิตภัณฑ์กัญชา กัญชง ยังเป็นที่ต้องการของตลาดในประเทศอย่างมาก โดยพบว่า ผลิตภัณฑ์จากกัญชา กัญชง สร้างรายได้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ เป็นมูลค่าสูงกว่า 7 พันล้านบาท” 

ด้าน นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ติดตามประสิทธิผลและความปลอดภัยของการใช้ยากัญชา ในการรักษาโรคต่าง ๆ การเข้าถึงยากัญชาทางการแพทย์ของประชาชน หลังจากที่ประเทศไทยเปิดโอกาสให้นำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ตั้งแต่ ปี 2562 พบว่า ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาด้วยยากัญชามากขึ้น และมีความปลอดภัยสูง นอกจากนี้ การให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชน ก็เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะเมื่อประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจ จะเป็นภูมิคุ้มกันสำคัญในการทำให้กัญชาถูกใช้ประโยชน์อย่างถูกต้อง

การจัดงานครั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขจึงมอบหมายให้หน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัด นำองค์ความรู้ถ่ายทอดสู่ประชาชนอย่างเต็มที่ เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) บริการให้คำปรึกษา เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการขออนุญาตการปลูกเชิงพาณิชย์ได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งมีการเปิดตัวการใช้แอปพลิเคชั่น “ปลูกกัญ” ซึ่งเป็นการรับจดแจ้งสำหรับประชาชนที่ประสงค์ปลูกกัญชา 

กรมการแพทย์ และกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จัดนิทรรศการการรักษาด้วยยากัญชา พร้อมทั้งให้คำปรึกษาเรื่องโรคและยากัญชา กรมสุขภาพจิต ให้คำปรึกษา ให้ความรู้ และประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างปลอดภัย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้ความรู้เรื่องสายพันธุ์กัญชา การตรวจวิเคราะห์สารต่าง ๆ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดียิ่ง จากหน่วยงานสังกัดกระทรวงอื่น ๆ เช่น กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แจกต้นกล้ากัญชา จำนวน 1,000 ต้น ฟรี และร่วมให้ความรู้ในการปลูกกัญชา กัญชง สำนักงานการศึกษานอกโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการ นำหลักสูตรการอบรม การแปรรูปกัญชามาจัดแสดง ซึ่งผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเรียนได้ภายในงาน 

ส่วน นายธัชกร หัตถาธยากูล ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ เผยว่า จังหวัดบุรีรัมย์ได้บูรณาการทุกภาคส่วนในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ เพื่อให้กัญชาเป็นพืชสมุนไพรในการรักษาโรค เป็นพืชเศรษฐกิจ เป็นพืชทางเลือกของพี่น้องเกษตรกร สร้างรายได้ให้กับพี่น้องประชาชน รวมถึงเป็นพืชที่สร้างมูลค่าในเชิงการท่องเที่ยวด้วย “เที่ยวไปยิ้มไป ท่องเที่ยววิถีกัญ”

จัดเต็มไฮไลต์ ! เอาใจคนรักกัญ

“มหกรรม 360 องศา ปลดล็อคกัญชา ประชาชนได้อะไร” จัดเต็มองค์ความรู้-ผลิตภัณฑ์จากกัญชา พืชเศรษฐกิจหมื่นล้าน อัดแน่นสาระประโยชน์ครอบคลุมทุกมิติกัญชาน่ารู้ ผลงานวิจัยและนวัตกรรมกัญชา เวทีสัมมนาวิชาการ โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศ ที่มาให้ความรู้อย่างคับคั่ง

ครั้งแรก ! จดแจ้งปลูกกัญชา ผ่านแอปพลิเคชั่น “ปลูกกัญ” โดย อย.

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดบริการให้คำปรึกษา เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการขออนุญาตการปลูกเชิงพาณิชย์ได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งเปิดตัวแอปพลิเคชั่น “ปลูกกัญ” ให้ประชาชนที่ประสงค์ปลูกกัญชาในครัวเรือน/เชิงพาณิชย์ ได้ลงทะเบียนจดแจ้งเองได้ง่าย ๆ นอกจากนี้ แอป ปลูกกัญ ยังเป็นแหล่งข้อมูลให้ผู้ประกอบการแสวงหาวัตถุดิบ เพื่อนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพมาตรฐานออกสู่ตลาด เป็นการเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภค และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายรัฐบาลอีกด้วย

แจกฟรี ! ต้นกัญชากว่า 1,000 ต้น 

ผู้ร่วมงานที่จดแจ้งปลูกกัญชาครัวเรือน/เชิงพาณิชย์ ผ่านแอป “ปลูกกัญ” ที่บูทของ อย. สามารถรับต้นกัญชาคนละ 1 ต้น สนับสนุนโดย “กรมวิชาการเกษตร” ซึ่งเป็นการปูพรมโครงการแจกกล้ากัญชา กัญชง 1 ล้านต้น ให้ประชาชนนำไปปลูกในครัวเรือน เพื่อประโยชน์ด้านการแพทย์ ดูแลสุขภาพตนเอง และการประกอบอาหาร 

ยกทัพกูรูชั้นนำขึ้นเวทีสัมมนากว่า 30 คน ! 

โอกาสดีที่สุดในการรับฟังความรู้จากวิทยากรชั้นนำระดับประเทศหลากหลายแวดวง ที่พร้อมถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ และมุมมองเกี่ยวกับกัญชา กัญชง เพื่อให้ทุกคนนำไปปรับใช้ได้จริง ! 

วันศุกร์ที่ 10 มิถุนายน 2565

  • ห้องสัมมนาหลัก
  • 11.00-12.00 น. สรุปบทเรียน “การผลักดันนโยบายกัญชา” โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
  • 13.00–14.30 น. “แปรรูปกัญชาทางเลือก ทางออกของผู้ประกอบการ เพื่ออนาคตประเทศไทย” โดยคุณประวิทย์ จิตราพงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แบล็คแคนยอน (ประเทศไทย) จำกัด คุณวกันยา อมตานนท์ ผู้บริหารและเจ้าของแบรนด์ เต่าบิน บริษัท ฟอร์ท เวนดิ้ง จำกัด และนายแพทย์ สรรพสิทธิ์ สัมฤทธิวณิชชา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ยันฮี วิตามิน วอเตอร์
  • 14.30–16.00 น. “ปลูกยังไงไม่ให้เจ๊ง สามวิสาหกิจ สามเทคนิคการปลูก จากชาวบุรีรัมย์” โดยคุณรัฐพล ซารัมย์ ประธานวิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรนอกรอบเพื่อรอยยิ้มที่ยั่งยืน คุณสุระเทพ สุระสัจจะ ประธานวิสาหกิจชุมชนไร่เพื่อนคุณ และคุณธนพร พรสง่าสกุล นักวิชาการสาธารณสุข วิสาหกิจศูนย์กลางการพัฒนาสมุนไพรเพลาเพลินเพื่อชุมชน

ห้องสัมมนาย่อย

  • 12.00–14.00 น. “การใช้กัญชาด้วยตนเองอย่างไรให้ปลอดภัยและได้ผล” โดย ดร.เภสัชกรหญิง ผกากรอง ขวัญข้าว ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร
  • 14.00–15.30 น. “ทันโรค ทันกัญ” (กัญชากับประโยชน์ทางการแพทย์ในปัจจุบัน) โดยเรืออากาศเอก นายแพทย์สมชาย ธนะสิทธิชัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี
  • 15.30–16.30 น. “ใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างไรได้ประโยชน์สูงสุด” โดยศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา

วันเสาร์ที่ 11 มิถุนายน 2565

ห้องสัมมนาหลัก

  • 09.00-11.00 น. “กฎหมายต้องรู้เกษตรกัญชา” โดยคุณระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คุณทัศนีย์ ศรีโสภา ผู้อำนวยการกลุ่มควบคุมพันธุ์พืช สำนักควบคุมพืช และวัสดุการเกษตรกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คุณชลธิชา รักใคร่ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยการกักกันพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคุณป่าน ปานขาว ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยคุ้มครองพันธุ์พืช สำนักคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
  • 11.00-12.00 น. “ระบบนิเวศกัญชา” โดย นายแพทย์กิตติ โล่สุวรรณรักษ์ ผู้อำนวยการ สถาบันกัญชาทางการแพทย์
  • 13.00-14.30 น. “ระบบนำส่งสารสกัดแคนนาบิไดออล เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจกัญชา กัญชง ในประเทศไทย” โดย ดร.เภสัชกร อนันต์ชัย อัศวเมฆิน ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  • 14.30–16.00 น. “การออกแบบโรงงานสกัดเทคนิคการสกัด CBD และการขอใบอนุญาตสกัดตามมาตรฐาน อย.” โดยรองศาสตราจารย์ ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรม และกิจการเพื่อสังคมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ห้องสัมมนาย่อย

  • 09.00–10.00 น. “ภารกิจช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ด้วยกัญชาทางการแพทย์” โดย อาจารย์เดชา ศิริภัทร หมอพื้นบ้าน จ.สุพรรณบุรี
  • 10.00–11.00 น. “คุณหมอขอเล่า…เรื่องกัญ” โดย แพทย์หญิงสุภาพร มีลาภ คลินิกเวชกรรมอุ่นใจ
  • 11.00–12.00 น. “แนวทางการจดแจ้งกัญชา” โดยเภสัชกร อาทิตย์ พันเดช เภสัชกรชำนาญการพิเศษ หัวหน้าศูนย์ข้อมูลและสารสนเทศ อย. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และ เภสัชกรหญิงวิภา เต็งอภิชาต เภสัชกรชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มกำกับดูแลหลังออกสู่ตลาด กองควบคุมวัตถุเสพติด อย. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
  • 13.00–14.00 น. “สายเขียวต้องรู้ กับ พ.ร.บ.อาหาร” โดย คุณนฤมล ฉัตรสง่า (รักษาการ) ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยของอาหาร และการบริโภคอาหาร กองอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
  • 14.00–15.00 น. “สายเขียวต้องรู้ กับ พ.ร.บ.เครื่องสำอาง” โดยหม่อมหลวงวรดนู ศรีรัตนสถาวร เภสัชกรชำนาญการพิเศษ หัวหน้างานกลุ่มกำหนดมาตรฐานเครื่องสำอาง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
  • 15.00–16.00 น. “สายเขียวต้องรู้กับ พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร” โดยเภสัชกร วิศิษฎ์ วิญญรัตน์ เภสัชกรชำนาญการกองผลิตภัณฑ์สมุนไพร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

วันอาทิตย์ที่ 12 มิถุนายน 2565

ห้องสัมมนาหลัก

  • 09.00-10.30 น. “ทิศทางตลาดสารสกัดกัญชากับอนาคตประเทศไทย” โดยรองศาสตราจารย์ ดร.อภิชาติ บุญทาวัน หัวหน้าสาขาเทคโนโลยีชีวภาพ สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี คุณศุภจักร ไตรรัตโนภาส กรรมการ บริษัท แปซิฟิค แคนโนเวชั่น จำกัด และเภสัชกรธนพงศ์ เพ็งผล โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ดำเนินรายการโดยเภสัชกรวรินทร์ จันลออ เภสัชกรชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุมงานแพทย์แผนไทยฯ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์
  • 10.30–12.00 น. “งานวิจัยและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ปลายน้ำจาก CBD” โดยรองศาสตราจารย์ ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรม และกิจการเพื่อสังคม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

เรียนรู้เพื่อต่อยอดกับ “เวิร์กช็อปกัญชา” โดยผู้เชี่ยวชาญ เต็มอิ่มตลอด 3 วัน

สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น งานนี้จึงคัดกิจกรรมเวิร์กช็อปโดน ๆ มาให้ผู้เข้าร่วมงานได้เรียนรู้กันแบบฟรี ๆ จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ

วันศุกร์ที่ 10 มิถุนายน 2565

  • 11.00-12.00 น. “ต้มกัญ” โดยวิสาหกิจชุมชน Thai Herb City
  • 13.00-14.00 น. “หลับสบาย ด้วยกัญชา” โดยโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร
  • 14.30-15.30 น. “ยาหม่องผสมกัญชา” โดยสถาบันกัญชา

วันเสาร์ที่ 11 มิถุนายน 2565

  • 11.00-12.00 น. “ส้มตำน้ำปลาร้ากัญชา” โดยวิสาหกิจชุมชน ทุ่งแพม
  • 13.00-14.00 น. “กัญชา กับ โรคผิวหนัง” โดยโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

วันอาทิตย์ที่ 12 มิถุนายน 2565

  • 11.00-12.00 น. ไข่ตุ๋น ช่อดอก โดยวิสาหกิจชุมชน ทุ่งแพม
  • 13.00-14.00 น. ตำรับ แก้เบื่ออาหาร โดยโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

ชิมกัญ-ช็อปกัญ ! กับสินค้าจากวิสาหกิจชุมชน และร้านอาหารกว่า 100 ร้านค้า 

นอกจากอัดแน่นด้วยกิจกรรมวิชาการแล้ว ยังมีบูทให้ความรู้เรื่องกัญชา กัญชง จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน และวิสาหกิจชุมชน ตลอดจนร้านค้า ร้านอาหาร ให้เลือกแวะ เลือกช็อปแบบจุใจ อาทิ บูทสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพลาเพลิน วิสาหกิจชุมชน ทุ่งแพม โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ฯลฯ

“มหกรรม 360 องศา ปลดล็อคกัญชา ประชาชนได้อะไร” ยังมีกิจกรรม สาระความรู้เกี่ยวกับกัญชาในหลายมิติ ที่จะเกิดประโยชน์กับประชาชน ผู้ป่วย และผู้ประกอบการต่าง ๆ พร้อมสร้างความมั่นใจแก่ผู้ร่วมงาน ด้วยมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเคร่งครัด