“กัมพูชา” ดาวรุ่งลงทุนท่องเที่ยว โอกาสไทยบุกตลาดเบอร์ 2 CLMV

“กัมพูชา” หนึ่งในอาณาจักรที่เศรษฐกิจเติบโตเร็วที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เวิลด์แบงก์คาดการณ์ว่า ในปี 2017 และ 2018 เศรษฐกิจกัมพูชาจะเติบโตอยู่ที่ 7.0% ขณะที่รัฐบาล “ฮุน เซน” ส่งสัญญาณจะปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้เสรีมากขึ้น ซึ่งตลอดการหาเสียงเพื่อชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งสำคัญในวันที่ 22 กรกฎาคม ปี 2018 นักลงทุนต่างคาดหมายว่าจะเห็น “นิวแคมโบเดีย” ทั้งด้านการค้าการลงทุน รวมถึงอุตสาหกรรมทดแทนอื่น ๆ มากขึ้น เช่น ธุรกิจการท่องเที่ยว

ธนาคารกสิกรไทยจัดงานสัมมนา “Cambodia-The BoutiqueOpportunity : เฟ้นหาโอกาสรุกตลาดกัมพูชา ในธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร” เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของไทยให้ขยายธุรกิจไปยังกัมพูชา ซึ่งไทยถือว่าเป็นนักลงทุนรายใหญ่อันดับ 3 ของกัมพูชาในปัจจุบัน

นายทิพากร สายพัฒนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า “กัมพูชาคืออาณาจักรแห่งความพิศวง” เพราะกัมพูชาไม่ได้มีความน่าสนใจเพียงแค่อุตสาหกรรมการผลิต แต่ศักยภาพของธุรกิจท่องเที่ยวมีความโดดเด่นไม่แพ้กัน โดยปี 2016 สามารถทำรายได้เข้าสู่ประเทศได้ถึง 3,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งมีการคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะเติบโตเป็น 2 เท่าภายในไม่เกิน 10 ปี ปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนมี 4 ประการ คือ การขยายเส้นทางการบินใหม่, การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศ, การที่กัมพูชาเป็นประเทศสำคัญภายใต้ยุทธศาสตร์ One Belt One Road ของจีน และกำลังซื้อในกัมพูชาที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

นอกจากนี้จะเห็นว่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในกัมพูชา เปลี่ยนทิศจากมุ่งลงทุนในภาคอุตสาหกรรมการผลิต มาสู่ภาคบริการมากขึ้น สภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) หน่วยงานส่งเสริมการลงทุนของประเทศกัมพูชา เปิดเผยว่า เมื่อเทียบสัดส่วนการลงทุน FDI ในปี 2012 พบว่า อุตสาหกรรมการผลิตเฟื่องฟูที่สุด อยู่ที่ 54% แต่ในปี 2016 ลดลงเหลือเพียง 39% ขณะที่ภาคบริการ ปี 2012 มีสัดส่วนการลงทุนอยู่ที่ 25% และเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเป็น 46% ในปี 2016

ส่วนนายภคพงษ์ พุมอาภรณ์ ผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย สาขาพนมเปญ กล่าวว่า กัมพูชาเริ่มเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวทั่วโลก โดยเฉพาะในเมืองพนมเปญ และเมืองใหม่สีหนุวิลล์ ที่เริ่มมีการหลั่งไหลเข้ามาของทั้งกลุ่มนักท่องเที่ยว รวมถึงนักธุรกิจ โดยคาดการณ์ว่าภายในปี 2020 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในกัมพูชา จะมีมากถึง 7 ล้านคน จาก 5.3 ล้านคนในปี 2016

ที่น่าสนใจคือ แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวชาวจีน ถือว่าเป็นอีกหนึ่งกลุ่มเป้าหมายใหม่ที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยวในกัมพูชา

แม้ว่ากลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติอันดับหนึ่งจะเป็น “เวียดนาม” ที่มีสัดส่วนสูงสุด 19% แต่ “นักท่องเที่ยวจีน” ก็ตามมาติด ๆ เป็นอันดับสอง อยู่ที่ 17% ส่วน “ไทย” ครองอันดับสาม 8%

ปัจจุบันในกรุงพนมเปญพบว่า มีโรงแรมเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวทั้งสิ้นเพียง 189 แห่ง 11,229 ห้องพัก รวมตั้งแต่ระดับ 2 ดาวถึง 5 ดาว สำหรับลูกค้าไฮเอนด์ ส่วนเกสต์เฮาส์มีทั้งหมด 455 แห่ง จำนวน 9,970 ห้อง แต่สัดส่วนห้องพักยังไม่เพียงพอต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้น ซึ่งการท่องเที่ยวในกัมพูชาไม่ได้มีเพียงผู้เยือนเฉพาะในช่วง”ไฮซีซั่น” เท่านั้น แต่สัดส่วนชาวต่างชาติที่เข้ามาช่วง “โลว์ซีซั่น” เพื่อติดต่อธุรกิจสูงราว 40% ต่อปี

นายภคพงษ์กล่าวถึงข้อมูลที่น่าสนใจว่า ในปี 2016 โดยเฉลี่ยนักท่องเที่ยวต่างชาติจะพักในกัมพูชาอยู่ที่เฉลี่ย 5 วันต่อทริป เทียบกับปี 2015 ที่เฉลี่ยเพียง 3 วัน นอกจากนี้ข้อมูลจากกระทรวงท่องเที่ยวกัมพูชายังระบุว่า ค่าใช้จ่ายต่อคนต่อทริปในกัมพูชา เฉลี่ยสูงถึง 641 ดอลลาร์สหรัฐ

ส่วน “สีหนุวิลล์” เมืองท่องเที่ยวใหม่ที่รัฐบาลให้การส่งเสริมอย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นเมืองชายทะเลยอดนิยมของประเทศ ปัจจุบันยังมีโรงแรมที่พักไม่เพียงพอ โรงแรมระดับ 5 ดาวมีเพียงไม่กี่แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ทั้งยังเป็นโครงการของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ชาวจีน จึงมองว่าผู้ประกอบการอสังหาฯไทยซึ่งเป็นที่ยอมรับ มีโอกาสที่จะเข้าไปเจาะตลาดในเมืองนี้ไม่ยาก

นอกจากธุรกิจโรงแรมแล้ว “ร้านอาหาร” ถือเป็นอุตสาหกรรมที่รัฐบาลให้การสนับสนุนอย่างมาก “จีรนันท์ วงษ์มงคล” ที่ปรึกษาสำนักงานตัวแทนส่งเสริมการค้ากัมพูชา อดีตอัครราชทูตที่ปรึกษา มองว่าธุรกิจบริการของไทยมีความได้เปรียบในการที่จะขยายเข้าไปในกัมพูชา เพราะธุรกิจบริการเกือบทุกประเภทของไทยได้รับการยอมรับ โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้าน CLMV ที่ชื่นชอบความเป็นไทย สินค้าไทย และบริการของไทยบวกกับการขยายตัวของชนชั้นกลางในกัมพูชา ทำให้มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น คนกัมพูชาเริ่มออกมาทานข้าวนอกบ้าน และสังสรรค์บ่อยมากขึ้น ไม่เพียงเท่านี้ “พฤติกรรมเลียนแบบ” จากเกาหลีใต้ และญี่ปุ่น รวมถึงประเทศไทย ทำให้กลุ่มวัยรุ่นกัมพูชานิยมออกมาพบปะกับเพื่อน หรือใช้อินเทอร์เน็ตตามร้านกาแฟต่าง ๆ มากขึ้น โดยจะเห็นว่าในกรุงพนมเปญมีร้านกาแฟทั้งของผู้ประกอบการในประเทศและข้ามชาติเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าตัว

โดยสัดส่วนร้านอาหารและเครื่องดื่มของผู้ประกอบการท้องถิ่น ยังครองส่วนแบ่งตลาดสูงที่สุดราว 25% โดยร้านอาหารและเครื่องดื่มของต่างชาติมีราว 18% บาร์และผับ 10% และส่วนธุรกิจบริการอื่น ๆ เช่น ร้านสปา นวด หรือร้านเสริมสวย มีเพียง 9%

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญจากกสิกรไทยและนักวิเคราะห์ในวงการท่องเที่ยวต่างมองว่า หากเทียบกับประเทศใน CLMV แล้ว พูดได้ว่า “กัมพูชา” เป็นเป้าหมายอันดับสองของนักท่องเที่ยวต่างชาติ รองจาก “เวียดนาม” ขณะที่การแข่งขันในกัมพูชาไม่รุนแรงเท่ากับเวียดนาม ดังนั้น ความได้เปรียบของผู้ประกอบการไทยก็คือ จุดยุทธศาสตร์ที่อยู่ใกล้กับกัมพูชา ไม่เพียงทำให้เข้าถึงตลาดได้ง่าย แต่ความเข้าใจและรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงในตลาดกัมพูชาจะช่วยปลดล็อกธุรกิจง่ายขึ้นด้วย