เกิดอะไรขึ้นทางตอนใต้ของยูเครน

ฐานทัพของรัสเซียในไครเมียถูกโจมตีด้วยระเบิดอย่างต่อเนื่อง ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าระเบิดเหล่านี้อาจส่งผลถึงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซีย โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่ที่สุดในทวีปยุโรปซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้เช่นเดียวกัน

สื่อรัสเซียรายงานว่าเกิดุระเบิดและเพลิงไหม้ที่ฐานทัพแห่งหนึ่งในไครเมีย ดินแดนทางตอนใต้ของยูเครนที่ตกอยู่ภายใต้การปกครองของรัสเซียตั้งแต่ปี 2014

เหตุดังกล่าวเกิดขึ้นในเขตจันคอย (Dzhankoi) ทางตอนเหนือของไครเมีย

ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าระเบิดและเพลิงไหม้เกิดจากสาเหตุใด แต่กระทรวงกลาโหมของรัสเซียชี้แจงว่าเป็นเหตุระเบิดที่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บรุนแรง แต่ได้ออกมาระบุในภายหลังว่าเป็นการก่อวินาศกรรม

ระเบิด

ที่มาของภาพ, Reuters

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากเกิดระเบิดหลายระลอกเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งทำลายเครื่องบินรบหลายลำของรัสเซียที่จอดอยู่ที่ฐานทัพบริเวณทะเลดำ แม้ยูเครนจะไม่ได้ออกมายอมรับว่าเป็นผู้ลงมือโจมตี แต่นายมิไลโล โพโดลียัค ที่ปรึกษาของประธานาธิบดียูเครนชี้ว่าเหตุการณ์ระลอกล่าสุดเป็น “ปฏิบัติการปลอดทหาร” ซึ่งชี้ว่าระเบิดที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นเพียงอุบัติเหตุ

นายโพโดลียัค โพสต์ข้อความทางทวิตเตอร์หลังเหตุกาณ์ดังกล่าวว่า “เตือนใจ : ไครเมียของประเทศทั่วไปคือทะเลดำ ภูเขา สถานที่พักผ่อนหย่อนใจและการท่องเที่ยว แต่ไครเมียที่ถูกรัสเซียปกครองคือโกดังระเบิดและพื้นที่เสี่ยงตายของผู้บุกรุกและหัวขโมย ปฏิบัติการปลอดทหารเริ่มขึ้นแล้ว”

มีการอพยพประชาชนราว 2,000 คน ออกจากพื้นที่หลังเกิดเหตุระเบิดดังกล่าว ขณะที่เจ้าหน้าที่รัสเซียชี้ว่าจะระงับบริการรถไฟชั่วคราว

ยูเครนคือผู้รับผิดชอบหรือไม่

ภาพถ่ายจากดาวเทียมแสดงให้เห็นว่าฐานทัพของรัสเซียได้รับความเสียหายอย่างหนัก โดยเครื่องบินรบของรัสเซียถูกทำลายอย่างน้อย 8 ลำ

กระทรวงกลาโหมของสหราชอาณาจักรออกมาให้ความเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้น “ลดทอน” ศักยภาพทางอากาศของกองเรือทะเลดำ (Black Sea fleet) ของกองทัพเรือรัสเซีย “ลงอย่างมาก”

กระทรวงกลาโหมสหราชอาณาจักรระบุว่า ตั้งแต่เดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา กองกำลังของยูเครนได้ใช้เครื่องยิงจรวดหลายลำกล้องโจมตีคลังอาวุธของรัสเซียได้มากถึง 50 ครั้ง นอกจากนี้ยังทำลายสะพานหลายแห่งในพื้นที่ตอนใต้จนเป็นอุปสรรคต่อการส่งเสบียงจากไครเมียไปยังแคร์ซอน

ด้านสื่อรัสเซียรายงานว่าการโจมตีเกิดขึ้นจากการใช้โดรนขนาดเล็กมากกว่าจะเป็นขีปนาวุธ อย่างไรก็ดี การที่ทหารยูเครนสามารถโจมตีได้ถึงบริเวณหลังแนวข้าศึกได้สร้างความอับอายให้กับรัสเซีย

แม้ยูเครนจะไม่ได้ออกมาแสดงความรับผิดชอบ แต่ภาพถ่ายจากดาวเทียมชี้ว่านี่เป็นการจู่โจมแบบเจาะจงเป้าหมาย

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายคนของยูเครนเองก็ออกมาส่งสัญญาณว่ารัฐบาลยูเครนมีส่วนเกี่ยวข้องกับการระเบิดครั้งนี้

กราฟฟิค

หากย้อนกลับดูภาพถ่ายจากดาวเทียมของการโจมตีโรงจอดเครื่องบินรบของรัสเซียเมื่อสัปดาห์ก่อน จะพบว่าความเสียหายเป็นไปอย่างเฉพาะเจาะจง

เครื่องบินรบสองลำซึ่งรวมเครื่องบินเอสยู-24เอ็มเอส ได้รับความเสียหาย เช่นเดียวกับตึก 2 หลัง ในบริเวณใกล้เคียง

วิลเลียม อัลเบอร์คี จากสถาบันคลังสมองด้านกลาโหมไอไอเอสเอสกล่าวกับบีบีซีว่าตึก 2 หลังที่ถูกทำลายนั้นถูกใช้เป็นที่เก็บอาวุธชั่วคราว และผู้ก่อเหตุตั้งใจเล็งมาที่ตึกทั้งสองหลังก็เพื่อส่งให้เกิดผลกระทบมากที่สุดกับเครื่องบินรบาองลำที่จอดอยู่ใกล้ ๆ

นายอัลเบอร์คีมองว่าการจู่โจมครั้งนี้เกิดขึ้นจากะเบิดลูกปรายหรือระเบิดพวง (cluster munitions) ซึ่งยูเครนไม่มีอาวุธนี้ไว้ในครอบครอง

หากเป็นยูเครนจริงที่กระทำการโจมตีครั้งนี้ นายอัลเบอร์คีมองว่าพวกเขาหันมาใช้ขีปนาวุธ เอส-300 ที่เอามาดัดแปลงแทน หรือไม่ก็ใช้จรวดต่อต้านเรือรบเนปจูน

เกิดอะไรขึ้นทางตอนใต้ของยูเครน

ทางการยูเครนประกาศมาแล้วหลายสัปดาห์ว่าพวกเขากำลังดำเนินการทวงคืนจังหวัดทางตอนใต้ของเคียซอนซึ่งถูกรัสเซียยึดไว้ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของสงคราม

เมื่อวันที่ 13 ส.ค.ที่ผ่านมา ยูเครนระบุว่าพวกเขาจู่โจมสะพานแห่งหนึ่งที่กองทัพรัสเซียใช้สัญจรไปมา

นอกจากบริเวณดังกล่าว ทางตอนใต้ของยูเครนยังเป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซียซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในทวีปยุโรป

กองทัพรัสเซียยึดโรงงานไฟฟ้าดังกล่าวไว้ตั้งแต่เดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ทว่ายังคงไม่ได้ทำร้ายคนงานยูเครนในนั้น

ทั้งยูเครนและรัสเซียต่างก็โทษกันไปมากับเหตุระเบิดในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งสร้างความหวาดกลัวมากขึ้นว่าจะส่งผลมาถึงโรงงานไฟฟ้าแห่งนี้หรือไม่

ประธานาธิบดีเซเลนสกีออกมากล่าวว่า “หากตอนนี้ทั่วโลกไม่แสดงพลังและการตัดสินใจในการปกป้องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนี้ หมายความว่าโลกของเราพ่ายแพ้”

ด้านองค์การสหประชาชาติกล่าวว่าพร้อมให้การสนับสนุนการเข้าไปตรวจสอบโรงงานไฟฟ้าดังกล่าว

……

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว