ริชี ซูนัค : อ่าน-เขียน-แปลชื่อนายกฯ สหราชอาณาจักรคนใหม่ ชาย “ผู้มีปัญญา” ในสกุล “เกียรติยศดี”

หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ

ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

ริชี ซูนัค

ที่มาของภาพ, EPA

พลันที่ Rishi Sunak ก้าวขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคคอนเซอร์เวทีฟคนใหม่ ด้วยเสียงสนับสนุนอย่างท่วมท้นจาก ส.ส. ร่วมพรรค และเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในฐานะนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรคนแรกที่มีเชื้อสายอินเดีย

ผู้สนใจข่าวสารการเมืองและผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ในประเทศไทยต่างพากันสืบค้นชื่อผู้นำอังกฤษวัย 42 ปีทางอินเทอร์เน็ต หวังทำความรู้จักตัวตน ความคิด และชีวิตของเขา

สิ่งที่ปรากฏคือชื่อ Rishi ถูกเขียนเป็นภาษาไทยอย่างน้อย 4 แบบ ได้แก่ ริชิ, ริชี, ฤษิ และ ฤษี

ส่วนนามสกุล Sunak มีผู้สะกดไว้อย่างน้อย 4 แบบ ได้แก่ สุนัก สุนัค ซูนัก และ ซูนัค

บีบีซีไทยสอบถามไปยังเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย แนะนำให้ใช้คำภาษาไทยว่า ริชี ซูนัค

ท่ามกลางความหลากหลายในการแปลงชื่อ-สกุลของผู้นำสหราชอาณาจักรคนใหม่เป็นภาษาไทย บีบีซีไทยสนทนากับ กิตติพงศ์ บุญเกิด อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาเอเชียใต้  ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อไขความกระจ่างตามหลักการเขียน-อ่านชื่อของผู้มีเชื้อสายอินเดีย และตามหาความหมายเบื้องหลังนามผู้นำรายนี้

ริชี หรือ ฤษี = ผู้มีปัญญา

เริ่มต้นด้วยชื่อ Rishi อาจารย์กิตติพงศ์บอกว่าเขียนเป็นภาษาไทยได้ 2 แบบ

ถ้ายึดตามธรรมเนียมการแปลคำจากภาษาอินเดียเป็นภาษาไทยที่ทำกันมา จะตรงกับคำว่า ฤษี (อ่านว่า รึ-สี) แต่ถ้าทำแบบนี้เสียงจะเพี้ยนนิดหน่อย เพราะเขาเป็นคนเชื้อสายอินเดีย

ถ้าแปลคำตามสากล คือถ่ายโดยเสียงจากภาษาอังกฤษเป็นไทย จะใช้คำว่า ริชี (อ่านว่า ริ-ชี)

ราชบัณฑิตยสถานไทยไม่ได้บังคับแนวทางการถ่ายคำภาษาฮินดีเป็นไทย แต่มีแนวให้เลือกใช้คือ ถ่ายโดยอักษร ถ่ายโดยเสียง หรือปรับรูป

ริชี

ที่มาของภาพ, Pool/Getty Images

“การใช้งานขึ้นอยู่กับความนิยมในสังคมที่ใช้กันอยู่แล้วจนแพร่หลาย หรือใช้แล้วรู้เรื่อง ไม่สับสน ดังนั้นใครจะใช้ ริชี หรือ ฤษี ก็ไม่ถือว่าผิด” อาจารย์กิตติพงศ์กล่าว

สำหรับคำว่า ฤษิ  มีรากศัพท์จากคำสันสกฤตซึ่งมีอิทธิพลต่อภาษาต่าง ๆ ที่ใช้อยู่ในอินเดีย ทั้งฮินดี ปัญจาบี มีความหมายว่า “นักบวช ผู้เห็น ผู้มีความรู้ ผู้มีปัญญา”

แม้ในพจนานุกรมภาษาไทย สะกดว่า ฤษิ แต่ในการออกเสียงมักยืดเสียงให้ยาวขึ้น จากสระอิ เป็น สระอิ เมื่อถ่ายรูปเป็นคำไทยจึงกลายเป็นคำว่า ฤษี หรือ ฤาษี

อาจารย์กิตติพงศ์กล่าวด้วยว่า ฤษี เป็นชื่อที่ได้รับความนิยมแพร่หลายในทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย โดยคนอินเดียชอบนำชื่อเทพเจ้ามาตั้งชื่อคน ไม่ใช่ว่าเพื่อทำให้ตัวเองวิเศษ หรือทำด้วยความเหิมเกริม แต่ทำด้วยความเคารพนอบน้อม ทำให้พระนามของพระเจ้าสถิตอยู่กับตน

“คุณคนนี้ถือว่านามเป็นมงคล เพราะมีความหมายถึงบุคคลศักดิ์สิทธิ คือฤษี”

สุนัก = ผู้มีเกียรติยศดี

ชื่อสกุล Sunak ถ่ายเป็นคำไทยว่า สุนัก (อ่านว่า สุ-นัก) ได้คำเดียวตามความเห็นของอาจารย์กิตติพงศ์ เพราะถูกต้องเป๊ะ โดยรูปอักษรตรงกันคือใช้ ก.ไก่ และโดยการอ่านออกเสียงก็ตรงกันทั้งในภาษาอินเดียและไทย

ส่วนที่บางคนเลือกใช้คำว่า สุนัค น่าจะเป็นการแปลทับศัพท์ภาษาอังกฤษที่ K คืออักษร ค.ควาย

นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญภาษาอินเดียอธิบายว่า เหตุที่ไม่ใช้ ค.ควาย หรือ ข.ไข่ เป็นตัวสะกด เพราะให้ความหมายต่างจากการใช้ ก.ไก่ เป็นตัวสะกด

  • สุนัข หมายถึง ผู้มีเล็บงาม (สุ แปลว่า ดี และ นัข แปลว่า เล็บ)
  • สุนัก หมายถึง ผู้มีเกียรติยศดี บุคคลสำคัญ (สุ แปลว่า ดี และ นัก แปลว่า จมูก)

ส่วนสาเหตุที่ไม่แปลชื่อสกุล สุนัก ว่า จมูกดี จมูกสวย เป็นเพราะอาจารย์กิตติพงศ์ได้สืบค้นประวัติของนายกฯ สหราชอาณาจักรคนใหม่ พบว่า บรรพบุรุษของเขาอยู่แถบปัญจาบ ตอนเหนือของอินเดีย

“นามสกุลนี้อยู่ในตระกูล ขตรี ซึ่งเป็นกลุ่มหนึ่งของวรรณะกษัตริย์ แสดงว่าคุณคนนี้มีเชื้อสายกษัตริย์”

เมื่อถอดคำว่า สุนัก จากรากศัพท์ภาษาปัญจาบีที่ใช้อยู่ทางตอนเหนือของอินเดีย จึงแปลความหมายได้ว่า ผู้มีเกียรติยศดี บุคคลสำคัญ

อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ย้ำว่า การถ่ายคำจากภาษาในอินเดียเป็นไทยต้องคำนึงถึงรากเหง้าของภาษาที่แท้จริงด้วย ไม่ใช่ทุกคำที่เป็นภาษาฮินดี เพราะอินเดียมีความหลากหลายทางภาษา แต่คนไทยส่วนใหญ่อาจรู้จักผ่านภาษาบาลี สันสกฤต ทว่าหากคำใดมาจากภาษาท้องถิ่น ก็ไม่ควรใช้หลักการแปลแบบเดียวกันทั้งประเทศ หรือนำหลักคิดแบบบาลี สันสกฤต มาใช้กับทุกคำ

ศรีภรรยาผู้ได้ชื่อว่า “สตรีผู้บริสุทธิ์”

ริชี และภรรยา

ที่มาของภาพ, PA Media

นอกจากตัวนายกฯ คนใหม่แห่งสหราชอาณาจักร ภรรยาของเขายังได้รับความสนใจเป็นพิเศษจากสื่อมวลชนและคนทั่วไป เนื่องจากเป็นทายาทอภิมหาเศรษฐี

Akshata Murthy หรือ อักษตา มูรติ ในาษาไทยตามการถ่ายคำของอาจารย์กิตติพงศ์ มีความหมายดีไม่แพ้ชื่อสามีเช่นกัน

  • อักษตา หมายถึง สตรีผู้บริสุทธิ์
  • มูรติ หมายถึง รูปปั้น รูปประติมา

แม้คนไทยบางส่วนใช้คำว่า มูรตี เป็นชื่อสกุลของเธอ แต่นักวิชาการรายนี้ชี้ว่า คำ ๆ นี้มีการถ่ายเสียงและใช้อย่างแพร่หลายในไทยแล้วว่า มูรติ เหมือนกับพระตรีมูรติ ซึ่งเป็นคำอินเดียแท้ ๆ จึงน่าจะเลือกใช้คำที่แพร่หลายในสังคมไทยดีกว่า

ถ่ายคำให้ตรง เพื่อรักษาความรู้-เห็นความสัมพันธ์วัฒนธรรม

ส่วนที่สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทยแนะนำให้เรียกผู้นำคนใหม่ของสหราชอาณาจักรว่า ริชี ซูนัค ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาอินเดียแห่งจุฬาฯ ชี้ว่า เป็นการถ่ายเสียงตามสากล เหมือนชื่อ Susan ที่ออกเสียงว่า ซูซาน ดังนั้นขึ้นอยู่กับว่าเราจะเอาวัฒนธรรมไหนมาจับ

“ถ้าถือว่าเขาเป็นคนอังกฤษ เพราะเป็นนายกฯ อังกฤษ เขาก็มีสิทธิอันชอบธรรมที่จะสะกดให้ถูกต้องตามหลักภาษาอังกฤษ หากทางการหรือทางสถานทูตว่าอย่างไรก็ใช้ไปตามนั้น แต่ในทางวัฒนธรรม ซึ่งคนไทยมีความสัมพันธ์กับอินเดีย ก็มีอิสระในการทำอะไรทางวัฒนธรรมของเรา หากใช้ความรู้ด้านอินเดียที่เรามี ก็จะถ่ายเป็นคำว่า ฤษี สุนัก” อาจารย์กิตติศักดิ์กล่าว

เช่นเดียวกับชื่อนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี แห่งอินเดีย ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศของไทยใช้คำดังกล่าว แต่หากอาจารย์กิตติพงศ์ต้องใช้คำนี้ จะเขียนว่า นเรนทร เพราะชื่อของนายกฯ แดนภารตะ ใช้สระอะ ไม่ใช่สระอา และถ้าฟังชาวอินเดียออกเสียงก็จะเป็น นเรนตร (นะ-เรน-ตระ)

“มันเป็นเส้นบาง ๆ ถ้ามาจ้องจับผิดเหมือนครูภาษาไทย ก็ไม่ถูก แต่เมื่อใช้งานเอง หรือต้องบอกใครได้ ผมจะใช้ นเรนทร ซึ่งที่สุดแล้วคงนำความเป็นทางการมาบังคับไม่ได้ เพราะวัฒนธรรมเป็นเรื่องมีชีวิต ถ้าเขาจะใช้ตามความคุ้นเคย ความถนัด ก็ให้เขาใช้ไป แต่เมื่อไรต้องใช้ทางการ ก็ต้องยึดตามทางการ” อาจารย์กิตติศักดิ์ให้ความเห็น

อ.กิตติพงศ์

ที่มาของภาพ, Kittipong Boonkerd

นักวิชาการ ผู้แปลหนังสือ “คีตาโพธ : ภควัทคีตาในทัศนะของคานธี” จากภาษาฮินดี ยังกล่าวถึงความสำคัญในการถ่ายคำจากภาษาในอินเดียให้เป็นภาษาไทยอย่างถูกต้องเอาไว้ว่า ไทยรับวัฒนธรรมอินเดียเข้ามา รับศัพท์แสงเข้ามาใช้ จึงมีธรรมเนียมถ่ายอักษร ถ้าถ่ายให้ตรงกับภาษาอินเดียได้ก็จะได้ความหมายพร้อมศัพท์ไปด้วย เช่น ถ้าบอก ริชี ไม่รู้แปลว่าอะไร แต่ถ้าใช้ ฤษี คนไทยจะรู้ความหมายทันที

“ความสำคัญของการถ่ายรูปคำให้ตรง ก็เพื่อรักษาความรู้นี้ไว้ ให้เห็นความสัมพันธ์ของวัฒนธรรมไทย-อินเดีย แต่โดยนัยนี้ โดยการใช้งาน ไม่ควรบังคับว่าต้องเขียนแบบนั้นแบบนี้ หากได้รับความนิยมโดยแพร่หลาย ก็อนุโลมตามความแพร่หลายนั้นได้ หลายคำจากภาษาในอินเดียที่ใช้ในไทยแพร่หลายก็ไม่ตรงกับรูปเดิมในอินเดีย ส่วนที่ใช้ไปแล้วก็ใช้ไป แต่เมื่อเป็นคำใหม่เข้ามาและยังไม่แพร่หลาย ถ้าถอดคำให้ตรงได้ก็ควรทำ เพื่อให้ความรู้และความเข้าใจยังอยู่” อาจารย์กิตติพงศ์กล่าวทิ้งท้าย

…….

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว