แท็กซี่ : คนขับแท็กซี่ไทย “พยุงตัวเองรอวันตาย” ชี้คมนาคมจ่อขึ้นค่าโดยสารในกทม. แทบไม่ช่วย

  • ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

สมาพันธ์แรงงานแท็กซี่ไทยชี้ แผนปรับขึ้นค่าโดยสารสำหรับรถแท็กซี่ใน กทม. ไม่ช่วยลดภาระคนขับแท็กซี่ที่ “พยุงตัวเอง รอวันตาย” จากต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น  

เมื่อวันที่ 9 พ.ย. นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ให้คณะกรรมการบริหารร่วม 4 สมาคมแท็กซี่ และสมาพันธ์แรงงานแท็กซี่ไทยเข้าพบ ถึงเรื่องการปรับอัตราค่าโดยสารรถแท็กซี่ที่จดทะเบียนในเขตกรุงเทพฯ

การพบปะดังกล่าว เกิดขึ้นหลังผู้ให้บริการแท็กซี่ชุมนุมหน้ากระทรวงคมนาคม เพื่อทวงถามถึงการปรับอัตราค่าโดยสารจนบรรลุแนวทางที่เห็นชอบคือ เพิ่มอัตราค่าโดยสารตามระยะทางและค่ารถติดเฉลี่ย 7.34% ดังนี้

ปรับขึ้นค่าโดยสารราว 7% ใน กทม.

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ระยะทางกิโลเมตรแรก: รถเล็ก 35 บาท รถใหญ่ 40 บาท

ระยะทางกิโลเมตรที่ 2-10: รถเล็ก กม. ละ 6.5 บาท / รถใหญ่ กม. ละ 6.5 บาท

ระยะทางกิโลเมตรที่ 11-20: รถเล็ก กม. ละ 7 บาท / รถใหญ่ กม. ละ 7 บาท

ระยะทางกิโลเมตรที่ 21-40: รถเล็ก กม. ละ 8 บาท / รถใหญ่ กม. ละ 8 บาท

ระยะทางกิโลเมตรที่ 41-60: รถเล็ก กม. ละ 8.5 บาท / รถใหญ่ กม. ละ 8.5 บาท

ระยะทางกิโลเมตรที่ 61-80: รถเล็ก กม. ละ 9 บาท / รถใหญ่ กม. ละ 9 บาท

ระยะทางที่ 81 กิโลเมตรขึ้นไป: รถเล็ก กม. ละ 10.5 บาท / รถใหญ่ กม. ละ 10.5 บาท

ค่ารถติด (บาท/นาที): รถเล็ก 3 บาท / รถใหญ่ 3 บาท

กรมการขนส่งทางบกจะดำเนินการเรื่องเอกสารข้อกฎหมายการประกาศใช้อัตราค่าโดยสารใหม่ และดำเนินเรื่องส่งให้นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อให้กระบวนการรวดเร็วที่สุด

อย่างไรก็ดี มติเห็นชอบของที่ประชุม ยังถือว่าน้อยกว่าที่ 4 สมาคมฯ เสนอที่เฉลี่ย 29.71% รวมถึง ระยะทางกิโลเมตรแรกที่เริ่มต้น 40-45 บาท และกิโลเมตรต่อ ๆ ไป ควรเพิ่มจากมติ 2.5-3 บาท

จากการปรับขึ้นนี้ นายเกรียงไกร แก้วเกตุ ประธานสมาพันธ์แรงงานแท็กซี่ไทย เห็นว่ามติที่ประชุมแทบไม่ได้แก้ปัญหา “ต้นทุนสูง” ของผู้ให้บริการแท็กซี่เลย

กรมขนส่งทางบก

ที่มาของภาพ, กรมขนส่งทางบก

“ถ้าคิดตามมติที่ประชุม คือ แท็กซี่คันหนึ่งวิ่งวันละ 10 เที่ยว ทั้งวันได้เพิ่ม 180 บาท… มันไม่พอหรอกพี่” นายเกรียงไกร บอกกับบีบีซีไทย พร้อมอธิบายว่า ปัจจุบันคนขับแท็กซี่คนหนึ่งต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น การเอารัดเอาเปรียบ อีกทั้งรัฐบาลแทบไม่ช่วยเหลือทั้งที่พวกเขาจ่ายภาษีให้มหาศาล

แก้ปัญหาไม่ตรงจุด

การรวมตัวเรียกร้องของสมาคมประสานงานรถรับจ้างสุวรรณภูมิ สมาคมผู้ขับรถแท็กซี่สาธารณะ สมาคมแท็กซี่ยานยนต์ไฟฟ้า สมาคมแท็กซี่สาธารณะไทย สมาพันธ์แรงงานแท็กซี่ไทย และกลุ่มแท็กซี่ทวงคืนความยุติธรรม เป็นผลจากสิ่งที่พวกเขามองว่า กรมขนส่งทางบกบ่ายเบี่ยงไม่กำหนดวันนัดหมายชัดเจน อีกทั้งทำงานล่าช้า

“การมาครั้งนี้ของกลุ่มแท็กซี่เพื่อจะมาเจรจากับนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว. คมนาคม เพื่อให้ทราบคำตอบว่า จะปรับขึ้นค่าโดยสารในอัตราที่เท่าไหร่และดำเนินการเมื่อไหร่ เพราะเรื่องดังกล่าวมีการประชุมหารือหลายครั้งและยืดเยื้อมานานแล้วไม่ได้ข้อสรุปสักที“ นายอนุวัตร ยาวุฒิ นายกสมาคมแท็กซี่ยานยนต์ไฟฟ้า พร้อมเสริมว่า ค่าโดยสารแท็กซี่เริ่มต้น 35 บาท ใช้มา 30 ปีแล้ว ตั้งแต่ปี 2535

อย่างไรก็ดี สมาพันธ์แรงงานแท็กซี่ไทยอธิบายว่า การเพิ่มค่าโดยสารตามมติที่ประชุมนั้น เป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุของสิ่งที่ผู้ให้บริการแท็กซี่ในเวลานี้กำลังเผชิญ คือ รายได้ที่น้อยลง แต่ค่าใช้จ่ายกลับสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าเชื้อเพลิงก๊าซเอ็นจีวี และแอลพีจี

“แล้วถ้าปรับมิเตอร์ พวกเราก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง ผมเสนอ 100 บาท อธิบดี (กรมการขนส่ง) ขอ 200 บาท คิดดู 82,000 คัน คูณ 200 บาท 16.4 ล้านบาท มันเตะหมูเข้าปากหมา”

เกรียงไกร แก้วเกตุ ประธานสมาพันธ์แรงงานแท็กซี่ไทย

ที่มาของภาพ, เกรียงไกร แก้วเกตุ

ประธานสมาพันธ์ฯ ซึ่งตนเองเป็นผู้ให้บริการแท็กซี่เองด้วย ระบุว่า จริง ๆ แล้ว การเพิ่มอัตราค่าโดยสารเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เขายกตัวอย่างการวิ่งรถแถวอโศก รับส่งผู้โดยสารใกล้ ๆ 2 กิโลเมตร แต่รถติดเป็นชั่วโมง ก็ได้เงินแค่ 80 บาท ซึ่งไม่คุ้มทุน

สิ่งที่ทางสมาพันธ์ฯ ต้องการและมองว่าแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง คือ ต้นทุนรถที่ต่ำลง เพิ่มสวัสดิการคุ้มครอง และที่พักอาศัยราคาประหยัด สำหรับผู้ให้บริการแท็กซี่รายได้ต่ำ

“ปัจจุบัน แท็กซี่ป้ายแดงยังไม่คิดดอกเบี้ยก็ 900,000 กว่าบาท… บวกค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ก็กว่า 1 ล้านบาท” นายเกรียงไกร อธิบาย พร้อมระบุว่า เขามีค่าใช้จ่ายต้องผ่อนกับไฟแนนซ์ หรือการกู้เงินกับธนาคารหรือสถาบันการเงิน เดือนละ 18,000 บาท ซึ่งหากตัดต้นทุนค่าเติมแก๊สในแต่ละวัน ค่าอาหารสองมื้อ และค่าส่งรถกับอู่แท็กซี่แล้ว เขาเหลือเงินเดือนละราว 5,000 บาทเท่านั้น

สำหรับตัวเขานั้น ยังโชคดีที่มีบ้าน แต่รายได้เพียงเท่านี้ แทบไม่เพียงพอเลี้ยงดูตนเอง และครอบครัว หากเป็นผู้ให้บริการคนอื่นที่ต้องเสียค่าเช่าบ้านเอง จะแทบไม่เหลือเงินเลยด้วยซ้ำ

“แท็กซี่เหนื่อยก็นอนพัก 10 นาทีแล้ววิ่งต่อ เพราะคนข้างหลังรอกินอยู่… เราพยุงตัวเองรอวันตาย หวังว่าพรุ่งนี้จะดีขึ้น แต่มันไม่ดีขึ้น”

แท็กซี่มิเตอร์ไทย กับศึกรอบด้าน

สำหรับการปรับขึ้นค่าโดยสารครั้งนี้ จะมีผลเฉพาะแท็กซี่ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ ที่มีอยู่กว่า 80,000 คัน แต่ใช้บริการจริง 60,000 คัน ซึ่งก่อนจะเก็บค่าโดยสารในอัตราใหม่ได้นั้น จะต้องจูนมิเตอร์ค่าโดยสารใหม่ เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

กรมขนส่งทางบนกจะเตรียมพื้นที่รองรับแท็กซี่เข้ามาปรับมิเตอร์เพื่อความรวดเร็ว แต่นายเกรียงไกร ชี้ว่าแค่การปรับมิเตอร์ก็เป็นปัญหาแล้ว เพราะเสียค่าใช้จ่ายราวคนละ 200 บาท อีกทั้ง การปรับจูนมิเตอร์ของแท็กซี่บางคัน บริษัทผู้ผลิตมิเตอร์บางแห่งปิดตัวไปแล้ว หมายความว่าต้องติดมิเตอร์ใหม่ ที่ราคาราว 3,500 บาท

ไม่เพียงเท่านั้น ในฐานะที่ปรึกษากรรมาธิการแรงงาน เขาชี้ว่า ผู้ให้บริการแท็กซี่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ อาทิ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ เอสเอ็มอีแบงก์ ที่ระบุว่า ผู้ให้บริการแท็กซี่ทำสัญญาเช่าซื้อไม่ได้ เพราะไม่ใช่ผู้ประกอบการ

“แต่ผมถามทางกรมฯ และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ไป เขาก็บอกว่าผมเป็นผู้ประกอบการ… แต่พอไปหา เอสเอ็มอีแบงก์ เขาบอกว่าผมไม่ใช่ผู้ประกอบการ”

รายได้ลด ต้นทุนเพิ่ม

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

สถานการณ์ที่ยากลำบากอยู่แล้ว ก็มาเจอกับการแข่งขันของ “รถป้ายดำ” หรือรถส่วนบุคคล ที่ให้บริการผู้โดยสารผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ แต่กลับไม่ถูกข้อจำกัดเรื่องคุณลักษณะของรถที่ให้บริการ เหมือนกับรถแท็กซี่

“รถแกร็บประกันภัยถูกกว่าผมอีก… รถผมก็แพงกว่า กินน้ำมันก็กินกว่า ภาษีก็เสียเยอะ แต่ขนส่งไม่เห็นความสำคัญของพวกผมเลย”

นายเกรียงไกร เปิดเผยว่า เคยร้องถามที่ประชุมที่มีผู้แทนจากทุกกระทรวงเข้าร่วมว่า สถานการณ์ของผู้ให้บริการแท็กซี่ไทยกำลังวิกฤตแล้ว จะมีใคร “เป็นฮีโร่ช่วยพวกผม”

ผลปรากฏว่า “ไม่มีใครยกมือสักคน มีแต่คนบอกว่า ไม่กล้าช่วย ไม่ใช่เรื่องของผม”

แท็กซี่ไทยชอบปฏิเสธผู้โดยสาร

กรมขนส่งทางบก ย้ำเมื่อวานนี้ (9 พ.ย.) ว่า ผู้ให้บริการแท็กซี่ควรปฏิบัติตามกฎหมาย และไม่ปฏิเสธผู้โดยสาร หากพบมีการกระทำผิดจะดำเนินการขั้นสูงสุด

การปฏิเสธไม่รับผู้โดยสารเป็นปัญหาที่คนไทย โดยเฉพาะใน กทม. พูดถึงมาอย่างต่อเนื่อง โดยครั้งหนึ่ง นิดาโพล เคยจัดทำการสำรวจและพบว่า ผู้ใช้บริการแท็กซี่ส่วนใหญ่ล้วนเคยเจอการปฏิเสธผู้โดยสาร ทำให้การจะเรียกแท็กซี่ 1 ครั้ง จะถูกปฏิเสธ 3.5 คัน น้อยที่สุด 1 คัน มากที่สุด 20 คัน

นายเกรียงไกร ยอมรับว่า การปฏิเสธผู้โดยสาร รวมถึงการปิดมิเตอร์รับเฉพาะผู้โดยสารต่างชาติ ที่จ่ายแบบเหมาในราคาสูง ทำให้ทัศนคติของประชาชนต่อผู้ให้บริการแท็กซี่ย่ำแย่ลง

“อยากจะบอกว่า อาชีพมีทุกอาชีพ มีทั้งคนดีและไม่ดี” เขาระบุ

“อยากบอกประชาชนว่า ถ้าเราเจอก่อนขึ้นรถแท็กซี่ถ่ายรูปป้ายทะเบียนไว้ เราต้องช่วยกัน เราในฐานะสมาคมเราดูแลทุกคนได้ แต่ผู้โดยสารต้องช่วยเรา น้ำไหนไม่ดีต้องไล่ทิ้ง”

ผู้ให้บริการแท็กซี่ที่ไม่ดีนั้นยังมีอยู่ แต่อยากให้มองคนที่รักในอาชีพนี้ และพยายามให้บริการอย่างเต็มที่ด้วย

“เราขับรถ 20-30 ปี เรารักในอาชีพนี้”

………….

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว