มาสโตดอน แพลตฟอร์มที่คนแห่ไปเล่นหลัง อีลอน มัสก์ ซื้อทวิตเตอร์ มีอะไรดี

  • โดย โซอี ไคลนแมน
  • บรรณาธิการด้านเทคโนโลยีบีบีซี
The Twitter and Mastodon logos

ที่มาของภาพ, NurPhoto

การเข้าซื้อกิจการทวิตเตอร์โดย อีลอน มัสก์ ทำให้เกิดประเด็นถกเถียงมากมาย รวมถึงล่าสุดที่ทวิตเตอร์ประกาศปิดออฟฟิศชั่วคราวโดยจะกลับมาเปิดอีกครั้งวันที่ 21 พ.ย.

ก่อนหน้านี้ มีรายงานว่าพนักงานบริษัทจำนวนมากลาออก หลังนายมัสก์ออกมาเรียกร้องให้พนักงาน “ทำงานอย่างหนักหลายชั่วโมงติดต่อกัน” หรือไม่ก็ลาออกไป

หนึ่งในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่คนแห่กันไปเล่นแทนทวิตเตอร์คือ มาสโตดอน (Matsodon)

มาทำความรู้จักกันว่าแพลตฟอร์มนี้คืออะไร

แพลตฟอร์มนี้ระบุว่า มีผู้ใช้ 6.55 แสนคนแล้ว โดยมีมากกว่า 2.3 แสนคนที่เพิ่งมาสมัครใหม่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

แทนที่จะ “tweet” เวลาคนเล่นมาสโตดอนเขียนโพสต์จะเรียกกันว่า “toots” โดยคนสามารถกดไลค์ รีโพสต์ และติดตามกันได้เหมือนทวิตเตอร์

อย่างไรก็ดี แพลตฟอร์มซึ่งก่อตั้งมา 6 ปีแล้วไม่ได้มีโครงสร้างเหมือนทวิตเตอร์ซะดีเดียว โดยข้อแตกต่างสำคัญคือเรื่องเซิร์ฟเวอร์

เซิร์ฟเวอร์คืออะไร

เวลาคุณสมัครเล่นมาสโตดอน คุณต้องเลือกเซิร์ฟเวอร์ก่อน โดยมีให้เลือกมากมายโดยแบ่งเป็นหัวข้อ อาจจะเป็นประเทศ เมือง หรือความสนใจ อย่างเช่น สหราชอาณาจักร, สังคม, เกม ฯลฯ

แต่เซิร์ฟเวอร์ก็ไม่ได้สำคัญขนาดนั้น เพราะคุณสามารถไปติดตามคนที่อยู่เซิร์ฟเวอร์ไหนก็ได้ แต่มันแค่ช่วยให้คุณได้เริ่มจากการตามคนที่สนอกสนใจในเรื่องคล้าย ๆ กัน

ขณะนี้เซิร์ฟเวอร์สังคมและสหราชอาณาจักรกำลังเป็นที่สนใจมาก ไรอัน ไวลด์ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการเซิร์ฟเวอร์ MastodonApp.UK ผ่านบริษัทของเขาที่ชื่อ Superior Networks บอกว่ามีคนสมัครเข้ามาร่วมเซิร์ฟเวอร์มากกว่า 6,000 คนในช่วง 24 ชั่วโมง และตอนนี้ต้องปิดรับสมัครแล้ว

ติดตามคนอื่นได้อย่างไร

เซิร์ฟเวอร์ที่คุณเลือกจะกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชื่อผุ้ใช้ หรือ username คุณด้วย อาทิ ชื่อทวิตเตอร์ผมตอนนี้ชื่อว่า “zsk” ถ้าเลือกเซิร์ฟเวอร์สหราชอาณาจักรหรือ UK ชื่อผมก็จะกลายเป็น @[email protected]

คุณสามารถหาชื่อคนที่อยู่บนเซิร์ฟเวอร์เดียวกันได้ แต่ถ้าอยู่คนละเซิร์ฟเวอร์ คุณก็จำเป็นต้องรู้ชื่อเซิร์ฟเวอร์ที่เขาอยู่ด้วย

มาสโตดอน ต่างจากทวิตเตอร์ตรงที่จะไม่มีการแนะนำคนให้คุณติดตาม แต่คุณยังสามารถค้นหาโพสต์จากแฮชแท็กได้

ทำไมต้องมีเซิร์ฟเวอร์

เรื่องนี้ค่อนข้างซับซ้อน แต่พูดง่าย ๆ คือ มาสโตดอนไม่ใช่แพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่ง แล้วก็ไม่มีใครคนใดคนหนึ่งเป็นเจ้าของ มาสโตดอนเป็นแค่เครือข่ายที่รวบรวมเซิร์ฟเวอร์ต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกัน

นี่เป็นโครงสร้างที่พยายามกระจายอำนาจออก และด้วยเหตุผลนี้ แพลตฟอร์มดังกล่าวไม่ได้สามารถถูกเปลี่ยนแปลงหรือซื้อขายได้ผ่านการตัดสินใจของคนคนเดียว

A screengrab from Zoe's Mastodon account

ที่มาของภาพ, Mastodon

1px transparent line

ข้อเสียคือเซิร์ฟเวอร์ของคุณจะอยู่ในมือของคนหนึ่งหรือองค์กรหนึ่งที่คอยดำเนินการเซิร์ฟเวอร์ดังกล่าว หากเขาตัดสินใจจะยกเลิกเซิร์ฟเวอร์นั้น บัญชีคุณก็จะหายไปด้วย มาสโตดอนขอให้เจ้าของเซิร์ฟเวอร์ช่วยแจ้งผู้ใช้ล่วงหน้า 3 เดือนหากว่าจะปิดเซิร์ฟเวอร์

แจ็ค ดอร์ซี ผู้ก่อตั้งทวิตเตอร์ กำลังสร้างแพลตฟอร์มใหม่ที่ชื่อ BlueSky โดยเขาบอกว่าอยากจะให้เป็นแพลตฟอร์มที่กระจายอำนาจเช่นกัน

ใครควบคุมเนื้อหา

ตอนนี้ เจ้าของเซิร์ฟเวอร์แต่ละคนมีกฎควบคุมเนื้อหาของตัวเอง และบางแพลตฟอร์มก็ไม่มี บางเซิร์ฟเวอร์เลือกที่จะไม่เชื่อมต่อกับเซิร์ฟเวอร์อื่นที่เต็มไปด้วยบัญชีบอตหรือที่มีเนื้อหาเรื่องความเกลียดชัง นอกจากนี้ผู้ใช้ก็สามารถรายงานถึงโพสต์ต่าง ๆ ที่ไม่เหมาะสมไปยังเจ้าของเซิร์ฟเวอร์ด้วย

หากเป็นเนื้อหาที่ผิดกฎหมายหรือมีเนื้อหาว่าด้วยความเกลียดชัง เจ้าของเซิร์ฟเวอร์ก็สามารถลบโพสต์นั้น ๆ ได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าโพสต์นั้นจะหายไปจากทุกที่

นี่จะเป็นปัญหาใหญ่หากแฟลตฟอร์มนี้มีคนใช้มากขึ้นเรื่อย ๆ เริ่มมีรายงานแล้วว่าผู้ใช้บางคนถูกโจมตีด้วยเนื้อหาที่เต็มไปด้วยความเกลียดชัง และบีบีซีเองก็ได้เห็นเนื้อหาที่เหยียดคนรักเพศเดียวกันแล้ว

มีโฆษณาไหม

ไม่มี แต่คุณก็สามารถโพสต์โฆษณาบริษัทหรือสินค้าของตัวเองได้

ฟรีหรือเปล่า

ขึ้นอยู่กับว่าคุณใช้เซิร์ฟเวอร์ไหน บางเซิร์ฟเวอร์ขอให้คนช่วยบริจาคเงินเพราะพวกเขาไม่ได้มีรายได้ แต่ส่วนใหญ่คนสามารถใช้แพลตฟอร์มนี้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ

………..

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว