สหรัฐฯ ยกเครื่องนาวิกโยธินครั้งใหญ่ รับมือภัยคุกคามจากจีน

 

อนุสาวรีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงสมรภูมิอิโวะจิมะ ในกรุงวอชิงตันดีซีของสหรัฐฯ

Getty Images
อนุสาวรีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงสมรภูมิอิโวะจิมะ ในกรุงวอชิงตันดีซีของสหรัฐฯ

การพบปะหารือระหว่างผู้นำสหรัฐฯและผู้นำญี่ปุ่นที่ทำเนียบขาวเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านความมั่นคงในภาคพื้นแปซิฟิกเป็นพิเศษ ซึ่งประเด็นนี้ได้นำไปสู่ความขัดแย้งภายในกองกำลังนาวิกโยธินสหรัฐฯ ที่อยู่ระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่านตามแผนการยกเครื่องครั้งใหญ่ เพื่อเตรียมรับมือภัยคุกคามจากจีน

แผนการ Force Design 2030 ซึ่งประกาศออกมาตั้งแต่สามปีก่อน เตรียมจะปฏิรูปกองกำลังนาวิกโยธินสหรัฐฯ ให้มีความพร้อมต่อสถานการณ์สู้รบยุคใหม่ที่อาจต้องเผชิญความขัดแย้งกับกองทัพเรือจีนมากขึ้น

แต่ขณะนี้บรรดาอดีตผู้บัญชาการกองกำลังนาวิกโยธินสหรัฐฯ ที่เกษียณอายุไปแล้ว พากันออกมาให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนและเดินสายแสดงความคิดเห็นในการบรรยายตามสถาบันต่าง ๆ โดยคัดค้านแผนการนี้อย่างหัวชนฝา

จิม เวบบ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการทบวงทหารเรือสหรัฐฯ ผู้เคยปฏิบัติหน้าที่เป็นหนึ่งในกำลังพลนาวิกโยธินช่วงสงครามเวียดนาม เขียนวิจารณ์แผนการ Force Design 2030 ลงในหนังสือพิมพ์เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัลอย่างเผ็ดร้อนว่า แผนการนี้มีข้อบกพร่องในตัวมันเอง ทั้งไม่ได้ผ่านการทดสอบมามากพอก่อนจะนำมาปฏิบัติจริง

“มันทำให้เกิดคำถามในเรื่องของภูมิปัญญาและความเสี่ยงในระยะยาว หากมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของกองกำลังนาวิกโยธินโดยตัดลดกำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์ลงอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับหน่วยที่ต้องมีผู้เสียชีวิตจำนวนหนึ่งเป็นประจำอยู่แล้วในสถานการณ์การสู้รบส่วนใหญ่”

ฉากหนึ่งจากภาพยนตร์มินิซีรีส์ “เดอะแปซิฟิก” (2010)

Rex Features
ฉากหนึ่งจากภาพยนตร์มินิซีรีส์ “เดอะแปซิฟิก” (2010)

สิ่งที่ทำให้เหล่าอดีตผู้บัญชาการไม่พอใจนั้น เนื่องมาจากมีการเปลี่ยนแปลงแผนยุทธศาสตร์ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific region) ให้แตกต่างไปจากรูปแบบเดิมที่เคยใช้รับมือการก่อความไม่สงบในอิรักหรืออัฟกานิสถาน

แผนการใหม่จะจัดแบ่งกำลังพลนาวิกโยธินออกเป็นหน่วยเล็ก ๆ ซึ่งจะกระจายกันไปปฏิบัติการตามหมู่เกาะต่าง ๆ ในแถบแปซิฟิกไปจนถึงมหาสมุทรอินเดีย โดยกองกำลังขนาดเล็กเหล่านี้จะมีเขี้ยวเล็บเป็นอาวุธทันสมัย ที่ทำให้สามารถบุกโจมตีหรือรับมือตอบโต้ศัตรูได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เราจะไม่ได้เห็นยุทธศาสตร์แบบเก่าเช่นการยกพลขึ้นบกครั้งใหญ่ในสงครามโลกครั้งที่สอง หรือการประจำการกำลังพลจำนวนมากบนภาคพื้นดินดังเช่นในสงครามอิรักอีกแล้ว

กองกำลังนาวิกโยธินซึ่งมีฐานะเป็นกองทัพหนึ่งของสหรัฐฯ เช่นเดียวกับกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการสู้รบในต่างแดนนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ทั้งยังมีบทบาทโดดเด่นในสงครามอิรักและอัฟกานิสถานอีกด้วย ดังจะเห็นได้ในภาพยนตร์เรื่อง “หาดทรายแห่งอิโวะจิมะ” (1949) และภาพยนตร์มินิซีรีส์ “เดอะแปซิฟิก” (2010) ซึ่งแสดงให้เห็นยุทธการยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ที่ใช้ทหารและพาหนะจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม แผนการใหม่ที่มุ่งรับมือภัยคุกคามจากจีนเป็นหลัก ได้ตัดลดหน่วยกองพันทหารราบหรือทหารเดินเท้าในกองกำลังนาวิกโยธินลงอย่างมาก ยกเลิกการใช้รถถังทั้งหมด รวมทั้งยุบหน่วยเฮลิคอปเตอร์ประจัญบานส่วนใหญ่ และแทนที่ 3 ใน 4 ของปืนใหญ่ลากจูงที่มีอยู่ ด้วยระบบยิงจรวดพิสัยไกลที่ทันสมัยกว่า

นายกรัฐมนตรี ฟุมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่น ขณะพบหารือกับประธานาธิบดี โจ ไบเดน ที่ทำเนียบขาว

Getty Images
นายกรัฐมนตรี ฟุมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่น ขณะพบหารือกับประธานาธิบดี โจ ไบเดน ที่ทำเนียบขาว

งบประมาณที่ใช้ในการยกเครื่องกองกำลังนาวิกโยธิน 15,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นั้น คาดว่าจะได้มาจากการตัดลดกำลังพลและปรับโครงสร้างเก่า ซึ่งจะมีมูลค่ารวมกันราว 18,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

อาวุธยุทโธปกรณ์แบบใหม่ยังรวมถึงขีปนาวุธต่อต้านเรือรบที่สามารถยิงได้จากบนบก รวมทั้งระบบอากาศยานไร้คนขับหรือโดรน โดยการติดตั้งอาวุธเหล่านี้มีจุดประสงค์เพื่อให้นาวิกโยธินสหรัฐฯ สามารถดำเนินยุทธการแบบใหม่ตามแนวทางการสู้รบต่อต้านรัสเซีย ซึ่งเกิดขึ้นในเมืองท่าต่าง ๆ ของยูเครนมาแล้ว แต่แผนการ Force Design 2030 จะมุ่งใช้ยกเครื่องกองกำลังนาวิกโยธินสหรัฐฯ ที่ประจำการบนเกาะโอกินาวาของญี่ปุ่นเป็นหลัก

ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารและความมั่นคงหลายคนมองว่า คำวิจารณ์คัดค้านแผนปฏิรูปกองกำลังนาวิกโยธินนั้น ขาดวิสัยทัศน์ ไม่ยอมมองการณ์ไกล และยึดติดกับความสำเร็จอันรุ่งโรจน์ในอดีตมากเกินไป

ไมก์ โอแฮลลอน ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายต่างประเทศของสถาบันบรูกกิงส์ (Brookings Institution) ที่กรุงวอชิงตันดีซี แสดงความเห็นว่า “แผนการที่มุ่งรับมือจีนเป็นหลัก จะไม่ส่งผลกระทบต่อปฏิบัติการของนาวิกโยธินสหรัฐฯ ในภูมิภาคอื่น ๆ ของโลกมากนัก เราต้องไม่ลืมว่าการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงนั้นมีความจำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่กองทัพสหรัฐฯ ได้ถอนตัวออกจากอิรักและอัฟกานิสถานไปแล้ว”

ดร. แฟรงก์ ฮอฟฟ์แมน นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยการป้องกันประเทศสหรัฐฯ (NDU) ระบุว่า “แม้จะยกเลิกการใช้รถถังทั้งหมด แต่ก็ยังมียานยนต์หุ้มเกราะที่ทันสมัยให้เลือกใช้อย่างเหมาะสมกับสมรภูมิยุคใหม่อีกมากมาย นี่คือการปรับตัวเพื่อให้ปฏิบัติการได้ครอบคลุมพื้นที่กว้างและลึกขึ้น รวมทั้งโจมตีได้แม่นยำขึ้นเหมือนกับที่เห็นกันอยู่ในสงครามยูเครน”

การซ้อมรบร่วมระหว่างนาวิกโยธินสหรัฐฯ กับกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นที่เมืองโกเต็มบะ

Getty Images
การซ้อมรบร่วมระหว่างนาวิกโยธินสหรัฐฯ กับกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นที่เมืองโกเต็มบะ

ถึงกระนั้นก็ตาม แผนการ Force Design 2030 ยังคงต้องมีการปรับเปลี่ยนและพัฒนาให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบันอีกมาก เนื่องจากสภาพทางภูมิศาสตร์ของหมู่เกาะต่าง ๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิกอันกว้างใหญ่นั้น แตกต่างจากสมรภูมิที่เป็นทุ่งหญ้าและป่าของยูเครนอย่างสิ้นเชิง

นิก ไชลด์ นักวิเคราะห์อาวุโสประจำสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการศึกษาเชิงยุทธศาสตร์ (IISS) ของสหราชอาณาจักร แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า “การมีพื้นที่ปฏิบัติการหลายจุดในมหาสมุทร จะสร้างปัญหาใหม่ด้านการลำเลียงและลอจิสติกส์ ซึ่งการใช้พาหนะลำเลียงพลและอาวุธยุทโธปกรณ์ขนาดใหญ่เหมือนในอดีต จะทำให้ตกเป็นเป้าการโจมตีจากขีปนาวุธที่มีความแม่นยำสูงได้ง่าย”

“กองกำลังนาวิกโยธินสหรัฐฯ จึงจำเป็นต้องคิดค้นและพัฒนาพาหนะสะเทินน้ำสะเทินบกชนิดใหม่ ซึ่งจะมีขนาดเล็กลงแต่มีการผลิตเพื่อใช้งานเป็นจำนวนมาก จึงจะเพียงพอต่อปฏิบัติการที่มีความคล่องตัวและครอบคลุมพื้นที่กว้างใหญ่อย่างเช่นหมู่เกาะต่าง ๆ ในมหาสมุทรได้”

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว