จาก “แม่ม่ายดำ” ถึง “แอม ไซยาไนด์” ทำความรู้จักฆาตกรต่อเนื่องหญิงที่ใช้ยาพิษฆ่าชิงทรัพย์

EPA "แอม ไซยาไนด์" คือชื่อที่สื่อไทยตั้งให้ผู้ต้องสงสัยคดีวางยา ฆ่าชิงทรัพย์

“ฉันไม่ได้เงินอะไรเลย หลังแต่งงานกับเขา… ฉันไม่ปกปิดความผิด ฉันจะหัวเราะด้วยซ้ำ ถ้าฉันถูกตัดสินให้เสียชีวิตพรุ่งนี้”

นี่คือคำสารภาพต่อศาลของจิซาโกะ คาเคฮิ วัย 76 ปี ฆาตกรต่อเนื่อง ฉายา “แม่ม่ายดำ” ผู้ใช้ยาพิษไซยาไนด์วางยาและฆ่าอดีตคู่ครอง 3 คน รวมถึงสามีของเธอ และตำรวจยังพบว่าเธอพยายามฆ่าผู้ชายอีกคนด้วย

คนรักของเธอ 2 คน และสามี ถูกวางยาพิษระหว่างปี 2550-2556 ทุกคนมีอายุระหว่าง 70-80 ปี โดยผู้เสียชีวิตที่เป็นสามีนั้น เสียชีวิตหลังแต่งงานกันได้เพียง 1 เดือน นำมาสู่ฉายา “แม่ม่ายดำ” ตามชนิดของแมงมุมที่สังหารคู่ตัวเองหลังผสมพันธุ์

การฆาตกรรมสามี ทำให้นางคาเคฮิได้รับเงินมรดกและประกันรวมมูลค่ากว่า 1,000 ล้านเยน แต่ท้ายสุด เธอนำไปใช้กับการเล่นหุ้นจนเป็นหนี้

ส่วนที่อินเดีย คุณแม่ลูก 3 รายหนึ่ง ตั้งตนเป็นผู้ประกอบพิธีกรรมดับทุกข์ แต่กลับหลอกเหยื่อดื่มน้ำศักดิ์สิทธิ์ผสมไซยาไนด์ ฆาตกรรมไป 7 ศพ ภายในเวลาไม่กี่เดือน ถือเป็นฆาตกรต่อเนื่องหญิงรายแรกของอินเดีย

บีบีซีไทย พาสำรวจฆาตกรต่อเนื่องหญิง ผู้มีอาวุธเป็นยาพิษไซยาไนด์สังหารเหยื่อเพื่อชิงทรัพย์ ในวันที่คดี “แอม ไซยาไนด์” วางยาฆ่าเพื่อนและคนรู้จักในไทย อาจกลายเป็นหนึ่งในการฆาตกรรมต่อเนื่องด้วยยาพิษไซยาไนด์ ที่มีเหยื่อมากที่สุดติดอันดับโลก

*หมายเหตุ: ฆาตกรต่อเนื่องที่ใช้ยาพิษรวมถึงไซยาไนด์ และมีผู้เสียชีวิตมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก คือ โดนัลด์ ฮาร์วีย์ ที่อ้างว่าได้สังหารคนไป 37-57 คน ในช่วงที่เขาทำงานในโรงพยาบาล ด้วยการฉีดยาพิษเขาสายน้ำเกลือ เขาถูกจับในปี 2530 และถูกตัดสินโทษจำคุกตลอดชีวิต 20 กระทง

“แม่ม่ายดำ” ฆ่า 3 รายใน 6 ปี

หนังสือพิมพ์เจแปนไทม์ รายงานอ้างอิงคำให้การของนางคาเคฮิ ต่อชั้นศาลที่เธอยอมรับสารภาพว่าฆาตกรรมสามีจริง ด้วยเหตุผลว่า “ไม่เคยได้เงินเลย”

อัยการระบุว่า คาเคฮิ หรือฆาตกรต่อเนื่อง “แม่ม่ายดำ” พุ่งเป้าไปที่เหยื่อที่เป็นผู้ชาย ฆาตกรรมแล้วรับผลประโยชน์ทางการเงิน รวมถึงการฆ่าชิงทรัพย์ โดยเหยื่อทั้ง 3 คน ถูกวางยาด้วยยาพิษไซยาไนด์

การสืบสวนของตำรวจเริ่มต้นจากกรณีการเสียชีวิตของนายอิซาโอะ คาเคฮิ ซึ่งได้พบกับ จิซาโกะ คาเคฮิ จากเว็บไซต์หาคู่ แต่หลังแต่งงานกันได้เพียง 1 เดือน เขาก็เสียชีวิตในวันที่ 28 ธ.ค. 2556

ผลการชันสูตรศพตรวจพบร่องรอยไซยาไนด์ ซึ่งเป็นสารเคมีอันตรายที่ออกฤทธิ์ได้รวดเร็ว และมีความเป็นพิษสูงมาก อยู่ในร่างกายของ อิซาโอะ คาเคฮิ ขณะที่ตำรวจขยายผลตรวจสอบการเสียชีวิตของชายคนอื่น ๆ ที่เชื่อมโยงกับนางคาเคฮิ

Reuters

Reuters
อิซาโอะ คาเคฮิ ฆาตกรต่อเนื่อง “แม่ม่ายดำ” ที่สะเทือนขวัญญี่ปุ่น

ต่อมาตำรวจพบว่า คนรักของนางคาเคฮิก่อนหน้านี้ 2 คน อายุระหว่าง 70-80 ปี ได้เสียชีวิตจากการถูกวางยาพิษด้วยสารไซยาไนด์เช่นกัน ไม่เพียงเท่านั้น สามีอีก 3 คนก่อนหน้าของนางคาเคฮิ ก็เสียชีวิตเช่นกัน แต่เธอไม่ได้ถูกตั้งข้อหาจากกรณีการเสียชีวิตของพวกเขา

นางคาเคฮิ ถูกจับกุมเมื่อปี 2557 ซึ่งในเวลานั้น เธอปฏิเสธข้อกล่าวหา และบอกว่า บุคคลทั้ง 3 รวมถึงสามีของเธอ “ตายตามโชคชะตา” และ “ถ้าใครคิดว่าเป็นคดีฆาตกรรม ฉันยอมกัดลิ้นตายดีกว่า”

แต่ต่อมา หลังการดำเนินคดียาวนานถึงชั้นอุทธรณ์ นางคาเคฮิยอมรับสารภาพต่อศาล พร้อมระบุด้วยว่า ได้สารไซยาไนด์จากเพื่อนทางธุรกิจ แต่ตำรวจตรวจสอบไม่พบแหล่งที่มาแน่ชัด

ทนายความของนางคาเคฮิ ระบุว่า คำให้การของนางคาเคฮิยึดเป็นหลักฐานไม่ได้ เพราะ “เธอเป็นโรคสมองเสื่อม เธอจำอะไรไม่ได้เลย อย่านับถึงเรื่องที่เกิดขึ้น”

เมื่อกลางปี 2564 ศาลสูงสุดของญี่ปุ่นปฏิเสธการยื่นอุทธรณ์โทษประหารชีวิตครั้งสุดท้ายของนางคาเคฮิ ทำให้ตอนนี้เธอกำลังรอการประหารชีวิตอยู่

“ไซยาไนด์ มัลลิกา” 5 ศพใน 3 เดือน

ในเขตชานเมืองของบังกาลอร์ อินเดีย ผู้หญิง 5 คนกลายเป็นศพในเวลา 3 เดือน ร่างกายไร้ร่องรอยถูกทำร้ายหรือล่วงละเมิดทางเพศ นั่นเป็นเพราะพวกเธอเสียชีวิตจากการวางยาพิษด้วยสารไซยาไนด์

นี่คือคดีสะเทือนขวัญอินเดียของ เค.ดี. เคมปามมะ ที่ถูกตั้งฉายาว่า “ไซยาไนด์ มัลลิกา” ที่สื่ออินเดียและทางการระบุว่า เป็นฆาตกรต่อเนื่องหญิงคนแรกของอินเดีย

ตำรวจเชื่อว่า ช่วงปี 2541-2550 เธอได้วางยาพิษสังหารผู้หญิง 6 คน (5 รายใน 3 เดือน) ในรัฐกรณาฏกะ แต่ด้วยสังคมชายเป็นใหญ่ ข้อเท็จจริงว่าผู้หญิงเป็นฆาตกรต่อเนื่องจึงสร้างความตื่นตะลึงต่อสังคมและเจ้าหน้าที่

Getty Images

Getty Images
เคมปามมะ ใช้ไซยาไนด์ ฆ่าชิงทรัพย์ 6 ศพใน 3 เดือน

เว็บไซต์ข่าว Homegrown, อินเดีย เอ็กซ์เพรส และสื่อท้องถิ่นอีกหลายแห่ง รายงานถึงเรื่องราวของนางเคมปามมะว่า เธอเกิดในครอบครัวชนชั้นกลางช่วงปี 2513 ในเมืองบังกาลอร์ นิสัยของเธอนั้นมีความทะเยอทะยานสูง และ “อยากมีชีวิตที่สุขสบาย”

เธอแต่งงานกับช่างตัดเสื้อ และมีลูกด้วยกัน 3 คน เธอทำอาชีพแม่บ้าน และเริ่มชีวิตผิดกฎหมายด้วยการขโมยของจากบ้านที่เธอทำงานให้

เว็บไซต์ข่าว Homegrown ลงรายละเอียดต่อว่า เธอได้ก่อตั้งกองทุนการกุศลเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งก็ถือว่าทำสำเร็จ แต่ท้ายสุดก็ขาดทุนมหาศาลจนครอบครัวของเธอเป็นหนี้เป็นสิน ส่วนสามีของเธอได้ขับไล่เธอออกจากบ้านในปี 2541 เธอจึงต้องหาทางหาเงินใหม่ แต่นั่นกลับเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อเหตุฆาตกรรมต่อเนื่องหลายศพ

สื่ออินเดียหลายสำนักและ กัลฟ์นิวส์รายงานว่า เคมปามมะเริ่มก่อเหตุครั้งแรกในปี 2542 วิธีการของเธอ คือ การสังเกตการณ์ผู้หญิงที่เดินทางมาที่วัด เพื่อขอพรและสวดภาวนาให้พ้นทุกข์ในเรื่องต่าง ๆ

เมื่อพบเหยื่อที่เหมาะสม เคมปามมะจะเข้าไปหาและตีสนิทโกหกว่าจะทำให้พวกเธอพ้นทุกข์ ด้วยพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ โดยเมื่อเสร็จสิ้นพิธี เธอจะยื่นแก้วน้ำผสมไซยาไนด์ให้จนเหยื่อเสียชีวิต แล้วเธอก็โจรกรรมสิ่งของมีค่าไป

นับแต่เหยื่อรายแรกในปี 2542 นางเคมปามมะ ทิ้งช่วงไปหลายปี ก่อนจะก่อเหตุฆ่าชิงทรัพย์ด้วยวิธีการคล้ายกันกับผู้หญิงอีก 5 คน ในเวลาแค่ 3 เดือนในปี 2550 รวมเป็นผู้เสียชีวิต 6 คน

ไม่เพียงเท่านั้นตำรวจสงสัยว่ากรณีคนหาย 5 ราย อาจเชื่อมโยงกับนางเคมปามมะด้วย

ฉายา “มัลลิกา” ที่สื่อตั้งให้เคมปามมะ มาจาก เหยื่อคนสุดท้ายที่ชื่อ มัลลิกา นั่นเอง

ท้ายที่สุดเธอก็ถูกจับกุมในปี 2551 และถูกตัดสินประหารชีวิตในปี 2555 แต่ได้รับการลดโทษเป็นจำคุกตลอดชีวิตที่เรือนจำ โดยเธอเป็นคนแรกในรัฐกรณาฏกะที่ถูกตัดสินประหารชีวิต

วีรกรรม “แอม ไซยาไนด์”

ผู้ชื่นชอบนวนิยายสืบสวนสอบสวน หรือมังงะ-การ์ตูน นักสืบ รวมถึง “โคนัน” และ “คินดะอิจิ” จะคุ้นชินกับชื่อ สารไซยาไนด์ ซึ่งมักถูกใช้เป็นยาพิษสำหรับการก่อเหตุฆาตกรรม

แต่คำว่าไซยาไนด์ตอนนี้ กำลังกลายเป็นที่พูดถึงในโลกแห่งความเป็นจริง และติดเทรนด์ทวิตเตอร์ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา หลังเหตุสะเทือนขวัญกรณีของ “แอม ไซยาไนด์” ที่อาจกลายเป็นฆาตกรต่อเนื่องหญิงด้วยการวางยาพิษที่มีเหยื่อมากติดอันดับโลก

แอม หรือ นางสรารัตน์ เป็นอดีตภรรยาของตำรวจระดับรองผู้กำกับการในพื้นที่ จ. ราชบุรี และตอนนี้ เป็นผู้ต้องสงสัยฆาตกรรมถึง 12 ราย และพยายามฆ่าอีก 1 ราย

ชื่อของ แอม ปรากฏในหน้าสื่อ หลังการเสียชีวิตของ ก้อย หรือ น.ส. ศิริพร ขันวงษ์ ชาว จ.กาญจนบุรี ที่หมดสติระหว่างไปปล่อยปลากับ แอม เมื่อ 14 เม.ย. ก่อนจะเสียชีวิตในเวลาต่อมา และผลการชันสูตรพบร่องรอยสารไซยาไนด์

ตำรวจได้บุกค้นบ้านของ แอม และพบหลักฐานเป็นสารไซยาไนด์ ภายในบ้าน

พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) เปิดเผยว่า จากการสอบสวน พบว่าเหยื่อเพิ่มเป็น 13 ราย รอดชีวิต 1 ราย และอาจพบเหยื่อเพิ่มขึ้นอีก

เหยื่อรายแรกย้อนหลังไปถึงปี 2563 ครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัด และเกือบทุกคดี มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องของเงิน และการสูญหายของทรัพย์สิน โดยรายล่าสุด คือ ก้อย ศิริพร ที่ทรัพย์สินหลายอย่างและเงินสดหายไป หลังเสียชีวิตที่ท่าน้ำบ้านโป่ง จ.ราชบุรี

พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ สันนิษฐานว่า ผู้ก่อเหตุน่าจะต้องการทรัพย์สินของผู้ตาย รวมถึงมีพฤติกรรมเลือกเหยื่อจากคนใกล้ชิด โดยเฉพาะในแวดวงตำรวจและเหยื่อต้องเป็นคนมีเงิน

ภายหลังแอมถูกจับกุม มีการเปิดเผยรายชื่อกลุ่มผู้เล่นแชร์ ที่ถูกสื่อตั้งชื่อว่า “วงแชร์มรณะ” จำนวน 6 คน รวมถึง แอม ที่เป็นท้าวแชร์ โดยผู้เล่นแชร์เสียชีวิตเกือบทุกคน ตอนนี้ตำรวจได้ติดต่อสมาชิกวงแชร์ที่ยังมีชีวิตอยู่ 2 คน เป็นพยานแล้ว

Getty Images

Getty Images
“สารไซยาไนด์ ทำให้เหยื่อเสียชีวิตเร็วที่สุด และตรวจพบง่ายที่สุด โดยจะแสดงอาการไปทั่วร่างกาย” แพทย์หญิง พรทิพย์

รายการเจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์ รายงานอ้างอิงตำรวจ ถึงรายละเอียดการเสียชีวิตของเหยื่อ 12 ราย เป็นผู้เสียชีวิต 11 ราย และรอดชีวิต 1 ราย ตามที่มีข้อมูลในเวลานี้ และต้องสงสัยว่า แอม เป็นผู้ก่อเหตุ

  1. น.ส. ดาริณี เทพหวี หรือฟ้า อายุ 34 ปี – เสียชีวิตจากสาเหตุกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2563 ทรัพย์สินสูญหาย 60,000 บาท
  2. นายสุรัตน์ ทรพับ อายุ 35 ปี – เสียชีวิตด้วยสาเหตุหลอดเลือดหัวใจตีบ เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2564 ที่ จ. กาญจนบุรี และพบเงินจากบัญชีธนาคารของผู้ตายโอนเข้าบัญชีของแอม 60,000 บาท
  3. ร.ต.อ. หญิงกานดา โตไร่ หรือผู้กองนุ้ย อายุ 36 ปี – เสียชีวิตด้วยสาเหตุระบบไหลเวียนโลหิตและหายใจล้มเหลว เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2565 จ. นครปฐม
  4. นางจันทร์รัตน์ วงศ์ไกรสิณ – เสียชีวิตวันที่ 15 ส.ค. 2565 ใน จ. เพชรบุรี
  5. น.ส. กะณิกา ตุลาเดชารักษ์ อายุ 44 ปี – เสียชีวิตด้วยสาเหตุเลือดออกในสมอง เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2565 ที่ปั๊ม ปตท. ใน จ. ราชบุรี ช่วงเสียชีวิตพบเงินในบัญชีธนาคารถูกถอนออกไป 300,000 บาท พร้อมโทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง สร้อยคอและสร้อยข้อมือทองคำ สูญหายอีกอย่างละเส้น
  6. นายสุทธิศักดิ์ พูนขวัญ หรือ แต้ อายุ 35 ปี – เสียชีวิตด้วยสาเหตุหัวใจเต้นผิดจังหวะ เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2566 ที่บ้านพักใน จ. อุดรธานี ทรัพย์สินที่สูญหายมีทั้งสร้อยคอทองคำ และสร้อยข้อมือทองคำ น้ำหนักรวม 8 บาท พระเครื่องมูลค่า 100,000 บาท พร้อมเงินสดอีกจำนวนหนึ่ง
  7. พ.ต.ต. หญิงนิกา แสงจันทร์ อายุ 38 ปี – เสียชีวิตด้วยสาเหตุระบบไหลเวียนโลหิตและการหายใจล้มเหลว เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2566 ที่บ้านใน จ. นครปฐม ทรัพย์สินที่สูญหายประกอบด้วย เงินสด 10,000 บาท และเงินในบัญชีถูกถอน 140,000 บาท
  8. น.ส. ศิริพร ขันวงษ์ หรือก้อย อายุ 33 ปี – เสียชีวิตด้วยสาเหตุหัวใจล้มเหลว เมื่อวันที่ 14 เม.ย. 2566 ที่ท่าน้ำบ้านโป่ง จ. ราชบุรี ทรัพย์สินสูญหายเป็นกระเป๋าแบรนด์เนม 1 ใบ โทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง และเงินสด 50,000 บาท
  9. น.ส. รจรินทร์ นิลห้อย หรือ เจ๊น้อยขายผัก อายุ 39 ปี – เสียชีวิตด้วยสาเหตุเลือดเป็นกรด เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2565 ที่ตลาดมหาชัย จ. สมุทรสาคร เธออยู่ในวงแชร์เดียวกับแอม
  10. น.ส. ผุสดี สามบุญมี หรือครูอ๊อด อายุ 39 ปี – เสียชีวิตด้วยสาเหตุไม่แน่ชัด เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2565 จ. นครปฐม โดยอยู่ในวงแชร์เดียวกับแอม
  11. น.ส. มณีรัตน์ พจนารถ – เสียชีวิตด้วยสาเหตุไม่แน่ชัด วันที่ 10 ก.ย. 2565 ใน จ. นครปฐม
  12. น.ส. กานติมา แพสอาด หรือปลา อายุ 36 ปี – มีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก มือชา หลังรับประทานยาที่ได้จาก แอม ขณะเดินเล่นอยู่ที่ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน กาญจนบุรี แต่เคราะห์ดีมีผู้ให้การช่วยเหลือทัน จากการตรวจสอบพบว่า แอมติดหนี้กานติมา 250,000 บาท

รพี ชำนาญเรือ ผู้ประสานงานเหยื่อ “แอม ไซยาไนด์” เป็นบุคคลที่ถือว่าผลักดันให้เกิดการสอบสวน คดี “แอม ไซยาไนด์” เริ่มจากการตรวจสอบ “เงื่อนงำ” การเสียชีวิตของก้อย หรือ ศิริพร หลังญาติของก้อยติดต่อมาขอความช่วยเหลือกับเขา

นับจากวันที่ 14 เม.ย. ที่ก้อยเสียชีวิต เขาได้ตรวจสอบกล้องวงจรปิด และค่อย ๆ พบความน่าสงสัยหลายจุด โดยเฉพาะหญิงปริศนาที่ไปรับก้อย และเดินอยู่ใกล้ท่าน้ำบ้านโป่งตามหลังก้อยไป ก่อนสืบทราบว่า คือ แอม หรือนางสรารัตน์

เมื่อเขาโพสต์ข้อมูลผ่านสังคมออนไลน์ ถึงพฤติการณ์ที่เกิดขึ้น เริ่มมีญาติและเพื่อนสนิทของบุคคลที่เชื่อว่าตกเป็นเหยื่อและเสียชีวิตเพราะแอมติดต่อเข้ามาหาเขาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงกรณี “วงแชร์มรณะ” ที่กำลังเป็นข่าวด้วย ไม่เพียงเท่านั้น เขายังเปิดเผยว่า แอมเป็นท้าวแชร์หลายสิบวงเลยทีเดียว

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว