เลือกตั้ง 2566 : ปฏิกิริยาสื่อต่างชาติต่อการเลือกตั้ง การเมืองไทย “เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่”

หลังผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ สำหรับการเลือกตั้งทั่วไปปี 2566 ได้รับการเปิดเผยออกมา สื่อต่างชาติทุกสำนักได้รายงานผล โดยมุ่งประเด็นไปที่การกวาดคะแนนเสียงอย่างถล่มทลายของพรรคฝ่ายค้านหลัก ซึ่งแสดงถึงการปฏิเสธอย่างหนักแน่นเด็ดขาดของประชาชนชาวไทยว่า ไม่ต้องการและไม่ยอมรับรัฐบาลชุดปัจจุบันอีกต่อไป

สำนักข่าวอัลจาซีรารายงานว่า พรรครัฐบาลชุดปัจจุบันซึ่งเป็นแนวร่วมของฝ่ายอนุรักษนิยมและกองทัพ ประสบความพ่ายแพ้อย่างหมดรูป โดยได้คะแนนเสียงจากทั้งระบบ ส.ส.แบ่งเขต และระบบบัญชีรายชื่อ รวมกันไม่กี่สิบที่นั่งเท่านั้น ยกเว้นพรรคภูมิใจไทย ซึ่งมีคะแนนนำมาเป็นอันดับสาม

ในขณะที่พรรคเพื่อไทยซึ่งเคยได้คะแนนเสียงสูงสุดมาก่อน แม้ก่อนหน้านี้ ถูกเก็งไว้อยู่แล้วว่า จะประสบชัยชนะเป็นอันดับที่หนึ่งหรือสองของศึกเลือกตั้งครั้งนี้ แต่ก็ไม่สามารถกวาดคะแนนเสียงแบบถล่มทลายหรือ “แลนด์สไลด์” อย่างที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้ได้

ส่วนพรรคก้าวไกลซึ่งมีคะแนนนำมาเป็นอันดับหนึ่งในขณะนี้ ทำได้ดีกว่าที่คาดหมายกันไว้ก่อนหน้านี้มาก แสดงถึงการสนับสนุนอย่างท่วมท้นของประชาชนต่อนโยบายปฏิรูปกองทัพและสถาบันกษัตริย์ รวมทั้งการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ก้าวไกลผลักดันมาโดยตลอด

ด้านสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรครวมไทยสร้างชาติ แสดงการยอมรับความพ่ายแพ้อย่างเงียบ ๆ โดยเดินทางออกจากที่ทำการพรรคไปในช่วงกลางดึก พร้อมกับให้สัมภาษณ์ทิ้งท้ายว่า “ขอให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย มีความเจริญก้าวหน้า ผมเคารพในวิถีประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง ขอบคุณครับ”

นอกจากนี้ รอยเตอร์ยังได้สัมภาษณ์ ศ.ดร. ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งแสดงความเห็นต่อภาพรวมของการเลือกตั้งครั้งนี้ว่า “การขึ้นนำของพรรคก้าวไกล แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของการเมืองไทย”

.

Reuters “ขอให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย มีความเจริญก้าวหน้า ผมเคารพในวิถีประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง ขอบคุณครับ”

 

“พรรคเพื่อไทยนั้นต่อสู้ผิดทาง โดยพยายามแข่งขันในสงครามของนโยบายประชานิยม ซึ่งเป็นประเด็นในอดีตที่เคยได้รับชัยชนะไปแล้ว แต่พรรคก้าวไกลได้ยกระดับของเกมการแข่งขันไปสู่การปฏิรูปสถาบันสำคัญ ซึ่งเป็นสมรภูมิที่แท้จริงของการเมืองไทยยุคใหม่” ศ.ดร. ฐิตินันท์ กล่าว

หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนของอังกฤษ รายงานความเห็นของ รศ. ดร. ประจักษ์ ก้องกีรติ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่า “การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ใช่แค่เพียงการลงประชามติต่อสถาบันอย่างกองทัพเท่านั้น แต่เป็นการส่งเสียงถึงระบอบอำนาจเก่าทั้งหมด ถือว่าเป็นก้าวสำคัญของประเทศไทยในการหวนคืนสู่ระบอบประชาธิปไตย แม้เส้นทางสายนี้อาจไม่สะดวกราบรื่นนักก็ตาม”

สื่อต่างชาติทุกสำนักระบุตรงกันว่า ยังคงมีเค้าลางของปัญหาเรื่องการจับมือกันตั้งรัฐบาลชุดใหม่ โดยนิกเคอิ เอเชีย (Nikkei Asia) รายงานว่า แนวโน้มการจับมือจัดตั้งรัฐบาลระหว่างพรรคฝ่ายค้านปัจจุบันยังคงมีทิศทางไม่แน่นอนอย่างสูง

.

EPA “พรรคเพื่อไทยนั้นต่อสู้ผิดทาง” ฐิตินันท์

 

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลแสดงความมั่นใจว่า หากพรรคของตนได้คะแนนเสียงสูงสุด ก็จะต้องมีสิทธิเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยเขาจะหารือกับพรรคฝ่ายค้านที่เคยร่วมงานกันมาก่อนทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย พรรคเสรีรวมไทย หรือพรรคประชาชาติก็ตาม ซึ่งพิธาเน้นย้ำว่า รัฐบาลชุดใหม่ที่มีก้าวไกลเป็นแกนนำ จะต้องไม่มีพรรคการเมืองที่เผด็จการทหารสนับสนุนรวมอยู่ด้วย

แต่ทว่า เศรษฐา ทวีสิน หนึ่งในแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยยังคงสงวนท่าทีในเรื่องนี้ โดยให้สัมภาษณ์ว่าการนับคะแนนยังคงไม่เสร็จสิ้นลงอย่างเป็นทางการ อีกทั้งพรรคเพื่อไทยยังมีคะแนนสูสีกับพรรคก้าวไกลอยู่มาก จึงยังไม่อาจบอกได้ว่าเพื่อไทยจะตกลงจับมือกับก้าวไกลหรือไม่ ส่วนแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ก็มีท่าทีแบบเดียวกัน

เซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์ (SCMP) รายงานว่า ประชาชนยังมีความหวาดกลัวว่าเผด็จการทหารจะใช้เล่ห์กลแบบเดิมเพื่อยับยั้งผลการเลือกตั้ง เช่นการใช้เสียงของวุฒิสมาชิกที่กองทัพแต่งตั้ง 250 คน มาเลือกตัวนายกรัฐมนตรีคนใหม่ รวมทั้งอาจมีการใช้คำสั่งศาลเพื่อยุบพรรคหรือตัดสิทธิทางการเมืองของผู้นำพรรคที่ชนะการเลือกตั้ง หรือแม้กระทั่งอาจลงมือทำรัฐประหาร เพื่อพยายามยึดกุมอำนาจเอาไว้ต่อไป ทำให้ประเทศไทยยังคงมีเค้าลางของความไร้เสถียรภาพทางการเมืองอยู่ในช่วงต่อจากนี้

.

Reuters

 

สำนักข่าวอัลจาซีรารายงานว่า สภาพการณ์ดังกล่าวทำให้ยังไม่อาจฟันธงลงไปได้ว่า พล.อ. ประยุทธ์ จะไม่หวนกลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากสมาชิกวุฒิสภายังคงสามารถเล่นเกมการเมืองแบบเดิม ตามที่เคยโหวตให้ พล.อ. ประยุทธ์ขึ้นเป็นผู้นำรัฐบาลที่มีพรรคพันธมิตรรวม 19 พรรคได้สำเร็จ เมื่อ 4 ปีที่แล้ว แม้พรรคของเขาจะไม่ได้รับเสียงข้างมากในการเลือกตั้งครั้งนั้นก็ตาม

นิกเคอิ เอเชีย ระบุว่า เว้นเสียแต่จะมีการจับมือระหว่างพรรคต่าง ๆ เพื่อจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากที่มีจำนวน ส.ส. อย่างน้อย 376 ที่นั่ง จึงจะสามารถหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่เผด็จการทหารหวนกลับคืนสู่อำนาจได้ แต่ในขณะนี้ดูเหมือนว่าแผนการดังกล่าวจะมีอุปสรรคขัดขวางอยู่ไม่น้อย และต้องอาศัยการเจรจาต่อรองระหว่างพรรคการเมืองที่มีคะแนนนำ ซึ่งยังคงมีอุดมการณ์และผลประโยชน์บางส่วนขัดแย้งกัน

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว