แมวเหมียวแอบปล่อยก๊าซพิษบ่อยแค่ไหน ?

มุกตลกเรื่องสุนัขผายลมเสียงดังนั้น เรามักได้ยินได้ฟังกันบ่อยครั้ง แต่กลับมีทาสแมวน้อยคนที่เคยได้เห็นท่าทาง ได้ยินเสียง หรือได้กลิ่นจากการผายลมของเจ้านาย จนทำให้หลายคนสงสัยว่า แมวเหมียวรู้จักการตดเพื่อปลดปล่อยก๊าซส่วนเกินจากทางเดินอาหารบ้างหรือไม่

บทความจากเว็บไซต์ Live Science ได้ให้คำตอบในเรื่องนี้ว่า การผายลมเป็นส่วนหนึ่งของกลไกการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ดังนั้นแมวเหมียวจึงจะต้องปล่อยก๊าซพิษออกมาเป็นครั้งคราวด้วยอย่างแน่นอน เพราะเป็นผลผลิตที่เกิดขึ้นจากการกินอาหารและการย่อยอาหารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่สิ่งที่ทำให้น้องแมวผายลมน้อย และมักแอบปล่อยออกมาอย่างเงียบเชียบจนไม่อาจสังเกตเห็นได้นั้น มาจากชนิดของอาหารที่กินเข้าไปเป็นประจำ ซึ่งแมวนั้นเป็นสัตว์กินเนื้อที่อาศัยอาหารประเภทเนื้อเพียงอย่างเดียวในการดำรงชีวิต (obligate carnivore) โดยไม่อาจย่อยและดูดซึมอาหารจำพวกพืชผักและคาร์โบไฮเดรต ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของก๊าซส่วนเกินได้มากนัก

อาหารที่มีแป้งมากและพืชผักบางชนิด อย่างเช่นกะหล่ำปลี กะหล่ำดอก บร็อกโคลี เคล และยอดผักต่าง ๆ สามารถทำให้เกิดอาการท้องอืดและก๊าซในทางเดินอาหารกับคนและสุนัข ซึ่งต่างก็เป็นสิ่งมีชีวิตที่กินทั้งพืชและสัตว์ (omnivore) ด้วยกันทั้งคู่ แม้กากใยหรือไฟเบอร์ในพืชผักจำพวกนี้จะมีประโยชน์ต่อสุขภาพของลำไส้ และเป็นอาหารเลี้ยงจุลินทรีย์ชนิดที่ดีในลำไส้ด้วยก็ตาม

เมื่ออาหารจำพวกแป้งและพืชผักที่ไม่สามารถย่อยได้ตกไปถึงลำไส้ใหญ่ จุลินทรีย์ภายในนั้นจะทำให้เกิดการหมักคาร์โบไฮเดรตเช่นโอลิโกแซ็กคาไรด์ (Oligosaccharide) จนเกิดก๊าซที่ไม่มีกลิ่นเช่นไนโตรเจน ไฮโดรเจน มีเทน และคาร์บอนไดออกไซด์

แต่ในบางครั้งกระบวนการหมักอาจทำให้เกิดก๊าซไข่เน่าหรือไฮโดรเจนซัลไฟด์ ซึ่งเป็นของเสียที่จุลินทรีย์ขับถ่ายออกมาด้วย ซึ่งก๊าซชนิดนี้แม้จะมีปริมาณเล็กน้อย แต่ก็ส่งกลิ่นเหม็นได้อย่างร้ายกาจ

ด้วยเหตุที่แมวเหมียวไม่ค่อยได้กินอาหารจำพวกแป้งและพืชผัก ทำให้พวกมันผายลมน้อยมาก และบ่อยครั้งตดของแมวก็ไร้เสียงไร้กลิ่นอย่างสิ้นเชิง ทำให้ดูเสมือนว่าน้องแมวเป็นสัตว์แสนสะอาดที่ไม่รู้จักการปล่อยก๊าซพิษกับเขาบ้างเลย

อย่างไรก็ตามหากทาสแมวสังเกตพบว่าเจ้านายผายลมบ่อยขึ้น นั่นอาจไม่ใช่เรื่องตลกขบขัน เพราะมีความเป็นไปได้ว่ามันคือสัญญาณบ่งบอกถึงโรคภัยหรือความผิดปกติในทางเดินอาหาร เช่นโรคลำไส้แปรปรวนหรือไอบีเอส (IBS) ในแมว หรือมีแบคทีเรียสะสมในลำไส้มากเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่มีอาการท้องเสียหรือถ่ายเป็นเลือดร่วมด้วย

ดังนั้นครั้งต่อไปที่แมวเหมียวของคุณเริ่มปล่อยก๊าซเสียงดังปู้ดป้าด สิ่งที่ต้องทำไม่ใช่การนั่งขำหรือการคว้ากล้องและโทรศัพท์มือถือมาถ่ายคลิป แต่ควรจะรีบพาน้องแมวไปตรวจสุขภาพที่คลินิกสัตวแพทย์โดยด่วน

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว