ค่าแรงขั้นต่ำ: เทียบนโยบายขึ้นค่าแรง 300 บาทสมัยยิ่งลักษณ์ กับ 450 บาท ก้าวไกล กระทบเศรษฐกิจไทยแค่ไหน

นโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาท ซึ่งพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ประกาศว่าจะทำทันทีหลังจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ ไม่ใช่ครั้งแรกที่จะเป็นการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแบบก้าวกระโดด หากย้อนหลังไปเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว การขึ้นค่าแรงแบบก้าวกระโดดเช่นนี้ ดำเนินนโยบายสำเร็จมาแล้วในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ค่าแรงขึ้นต่ำสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ปรับขึ้นเป็น 300 บาท เป็นการปรับขึ้นราว ๆ 60% ขณะที่การขึ้นค่าแรงของพรรคก้าวไกลเป็น 450 บาท หากทำได้สำเร็จจริงจะเป็นการปรับขึ้นราว ๆ 30% ทว่าก่อนที่นโยบายดังกล่าวนี้จะผลักดันจนบังคับใช้ได้ ต้องผ่านอีกหลายขั้นตอนและกระบวนการต่อรองจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง

บีบีซีไทยชวนสำรวจเส้นทางการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทในอดีตที่ผ่านมา ผลกระทบจากนโยบายทั้งบวกและลบ และการวิเคราะห์จากนักเศรษฐศาสตร์ ว่าการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตามตัวเลขที่พรรคก้าวไกลประกาศมา มีปัจจัยเรื่องใดเกี่ยวข้องบ้าง

สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 8 เดือน ขึ้นค่าแรง 300 บาท ได้ใน 7 จังหวัดนำร่อง

รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ เริ่มปฏิบัติหน้าที่หลังได้รับการโปรดเกล้าฯ คณะรัฐมนตรีในวันที่ 9 ส.ค. 2554 รัฐบาลในเวลานั้น แม้เป็นรัฐบาลผสม แต่พรรคเพื่อไทยได้ที่นั่ง ส.ส. สูงถึง 265 เสียง จึงทำให้เก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแทบทั้งหมดเป็นของเพื่อไทย รวมทั้งกระทรวงแรงงาน

การขับเคลื่อนนโยบายขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเริ่มปรากฏเป็นรูปธรรมหลังจากรัฐบาลทำหน้าที่ประมาณ 3 เดือน เมื่อ คณะกรรมการค่าจ้าง หรือคณะกรรมการไตรภาคีซึ่งประกอบไปด้วยรัฐ ตัวแทนนายจ้าง และตัวแทนลูกจ้าง มีมติเห็นชอบปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ในวันที่ 17 ต.ค. 2554 โดยเป็นการปรับขึ้น 2 ครั้ง ได้แก่

ครั้งที่ 1 วันที่ 1 เม.ย. 2555 ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท ใน 7 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และภูเก็ต และปรับค่าจ้างทุกจังหวัดขึ้น 39.5% เป็น 222-273 บาท

Advertisment

ครั้งที่ 2 วันที่ 1 ม.ค. 2556 ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท ในอีก 70 จังหวัดที่เหลือ รวมเป็น 77 จังหวัด

การประกาศขึ้นค่าแรง 300 บาทในครั้งนั้น เป็นการปรับทุกพื้นที่เท่ากัน ซึ่งต่างจากอัตราค่าแรงในปัจจุบัน ที่มีการปรับขึ้นแตกต่างกันแต่ละกลุ่มจังหวัด โดยอ้างอิงค่าครองชีพ

Advertisment

ชุดแพ็กเกจนโยบายที่มากับการขึ้นค่าแรง

หลังจากมติของคณะกรรมการค่าจ้าง เห็นชอบการขึ้นค่าจ้างแล้ว รัฐบาลก็ต้องนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อเห็นชอบ

ระหว่างนี้เป็นช่วงที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อย่างนายจ้าง ลูกจ้าง ได้เข้ามามีส่วนในกระบวนการต่อรอง โดยเฉพาะมาตรการเยียวยาบรรเทาผลกระทบต่อนายจ้างผู้ประกอบการ

หากย้อนไปดูมาตรการเยียวยาต่าง ๆ ในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ พบว่ามีการต่อรองในทุกช่วงของการดำเนินนโยบาย ดังปรากฏในช่วง 1-2 เดือน ก่อนการขึ้นค่าจ้างรอบสองที่มีผลวันที่ 1 ม.ค. 2556

ในช่วงดังกล่าว ภาคเอกชนยังคงมีการต่อรองให้ขยายเวลามาตรการต่าง ๆ ออกไป ได้แก่ การลดภาษีนิติบุคคลจาก 30% เหลือ 23% ในปี 2555 การลดส่งเงินสมทบประกันสังคม การนำค่าใช้จ่ายในการปรับเพิ่มค่าจ้างมาหักค่าใช้จ่ายได้ 1.5 เท่าของส่วนต่างค่าจ้าง โดยในเวลาต่อมา คณะรัฐมนตรีก็เห็นชอบขยายเวลามาตรการออกไปอีก 1 ปี เพื่อรองรับการขึ้นค่าแรงทั่วประเทศ 77 จังหวัด (มติ ครม. 20 พ.ย. 2555)

นอกจากนี้ ยังปรากฏข้อเสนอเพิ่มเติมจากคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ในช่วงนั้น เช่น การขอให้มีมาตรการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ให้กับผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือเอสเอ็มอี (SMEs) ทันที 3 ปี เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินสด ลดภาษีที่ดิน ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือน 50% เป็นเวลา 3 ปี เป็นต้น

เปิดงานวิจัย ผลกระทบทางบวกและลบจากการขึ้นค่าแรง 300 บาท

รายงานการวิเคราะห์ “ค่าแรงขั้นต่ำ บทเรียนจากนโยบาย 300 บาท” ของดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารโลก ระบุว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ซึ่งเป็นการปรับอัตราที่แท้จริงตามเงินเฟ้อ สามารถลดความเหลื่อมล้ำของโครงสร้างค่าจ้างได้ค่อนข้างมาก ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ตกอยู่กับแรงงานที่มีรายได้ต่ำ แต่ขณะเดียวกันนายจ้างยังต้องเพิ่มค่าจ้างให้กับแรงงานที่มีรายได้สูงขึ้นไปด้วย

การศึกษานี้สอดคล้องกับผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (ทีดีอาร์ไอ) ที่พบว่าแรงงานที่ได้รับประโยชน์โดยตรงทันทีมีจำนวน 3.2 ล้านคน

แต่แม้ว่าจะเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มแรงงานจำนวนมาก แต่ก็พบว่าการขึ้นค่าแรง 300 บาท สร้างผลกระทบทางลบต่อแรงงานบางกลุ่มด้วย

งานศึกษาของดิลกะ ชี้ว่า กลุ่มแรงงานหนุ่มสาวที่มีทักษะต่ำ เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบในทางลบจากนโยบายนี้มากที่สุด เพราะผลจากนโยบายทำให้มีการลดการจ้างงานแรงงานกลุ่มนี้ลง โดยเฉพาะในธุรกิจเอสเอ็มอี และกิจการขนาดใหญ่ ซึ่งจ้างแรงงานทักษะต่ำลดลงอย่างมาก

ส่วนผลกระทบต่อผู้ประกอบการ ดิลกะชี้ว่า “การปรับขึ้นของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอย่างมากและฉับพลันจึงกระทบต้นทุนการผลิตของกิจการเอกชนอย่างมีนัยสำคัญ”

การจ้างงานโดยรวมในกิจการขนาดย่อมและเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบอย่างมากจากนโยบายนี้ แต่ในทางกลับกัน ผลของนโยบายกลับทำให้มีการจ้างงานโดยรวมเพิ่มขึ้นในธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งอาจสะท้อนถึงความสามารถของธุรกิจขนาดใหญ่ในการจ่ายค่าแรงในอัตราที่สูงกว่าตลาด และการขาดแคลนแรงงานในช่วงก่อนมีการบังคับใช้นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท

นอกจากนี้ ในงานศึกษาของยงยุทธ แฉล้มวงษ์ นักวิชาการทีดีอาร์ไอ ยังพบด้วยว่า ในปี 2558 หรือหลังมีนโยบายขึ้นค่าจ้าง 300 บาทไป 2-3 ปี ในภาพรวมยังมีแรงงานทั่วประเทศไม่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ 2.11 ล้านคน หรือ 14.8% โดยส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่ทำงานอยู่ในสถานประกอบการที่มีคนทำงานไม่เกิน 50 คน และพบมากที่สุดในสถานประกอบการขนาดเล็กที่มีลูกจ้างไม่เกิน 9 คน

ส่วนการประเมินว่าการขึ้นค่าแรง 300 บาท จะส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการสูงขึ้นและผลักดันให้เกิดภาวะเงินเฟ้อสูงขึ้น นั้นกลับไม่เกิดขึ้น

ดร.สันติธาร เสถียรไทย นักเศรษฐศาสตร์และผู้บริหารของกลุ่มบริษัทด้านเทคโนโลยี Sea Group ชี้ว่าการขึ้นค่าแรงในปี 2555-2556 เกิดขึ้นในช่วงที่สภาวะเศรษฐกิจไม่ได้เข้มแข็งนัก ธุรกิจต่าง ๆ จึงไม่สามารถส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นไปยังผู้บริโภคได้ ส่งผลให้เงินเฟ้อไม่ได้เพิ่มขึ้นมากอย่างที่หลายคนคาด และภาคธุรกิจต้องปรับตัวโดยการลดการจ้างงานเพื่อลดต้นทุนลง หรือยอมมีกำไรลดลงแทน

สภาวะทางเศรษฐกิจในปีที่ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท VS 450 บาท

สภาวะทางเศรษฐกิจ นับเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการดำเนินโนบายขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเช่นกัน ซึ่ง ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกกับบีบีซีไทยว่า ในช่วงปี 2554-2556 กับปี 2566 มีความแตกต่างกัน

ดร.เกียรติอนันต์ อธิบายว่า ในช่วงการดำเนินนโยบายสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ข้อมูลจากหลายแหล่งชี้ไปทางเดียวกันว่าเป็นช่วงที่เศรษฐกิจโตต่อเนื่อง ตลอดจนเศรษฐกิจโลกที่ไม่ได้อยู่ในภาวะแย่มากนัก การส่งออกของไทยยังไปได้ ประกอบกับในช่วงเวลาดังกล่าวไทยยังพึ่งพิงแรงงานข้ามชาติจำนวนมากจากปัญหาขาดแคลนแรงงานในประเทศ ทำให้การขึ้นค่าแรงเกิดผลกระทบไม่มาก ซึ่งแตกต่างจากสภาวะทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน

“มีกระบวนการปรับตัวของผู้ประกอบการมาระยะหนึ่ง ประกอบกับตอนนั้นค่าแรงขึ้นช้าและเป็นช่วงที่ค่าครองชีพไม่ได้พุ่งปรี๊ด จึงทำให้ผลกระทบที่เกิดขึ้นถูกกระจายไปในหลายมิติ ไม่ส่งผลกระทบรุนแรง แล้วการตกงานมีน้อยเนื่องจากการนำหุ่นยนต์สักตัวมาแทนคนมันแพงมาก ไม่สามารถแทนคนได้เหมือนในปัจจุบัน” ดร.เกียรติอนันต์ กล่าว

กลับมาที่สถานการณ์ปัจจุบัน นักวิชาการเศรษฐศาสตร์รายนี้กล่าวว่า แม้ค่าแรงไม่ขึ้น แต่สถานการณ์โควิด-19 ก็ทำให้โมเดลการทำธุรกิจเปลี่ยนไปเป็นแบบการใช้คนน้อยลง ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น เพื่อความคล่องตัวเพื่อการลดต้นทุน เพราะฉะนั้น การขึ้นค่าแรงตอนนี้ หากบริหารจัดการไม่ดี ผลกระทบจะเยอะกว่าในอดีต

“ผมสนับสนุนให้ขึ้น เพราะว่าตอนนี้ค่าครองชีพไม่พอให้คนอยู่ เพียงแต่ว่าจะขึ้นยังไง ที่ทำให้ธุรกิจไปด้วยกันได้กับคนทำงาน ไม่ให้กระทบการจ้างงาน แต่จะขึ้นยังไง ซึ่งมันมีหลายสูตรที่เป็นไปได้”

นักเศรษฐศาสตร์จาก มธ. วิเคราะห์ด้วยว่า การย้ายฐานการลงทุนของต่างชาติออกจากไทยมีความเป็นไปได้หากมีการขึ้นค่าแรง แต่เป็นในลักษณะที่ไปเร่งกระบวนการย้ายฐานการลงทุนที่มีอยู่แล้วให้เร็วกว่าเดิม

“จริง ๆ มันเป็นจังหวะหลังโควิด เพราะฉะนั้น เขากำลังคิดใหม่ทำใหม่ แม้แต่บริษัทใหญ่ ๆ เขาก็คิดเรื่องบิสสิเนส โมเดลใหม่ กับการสร้างซัพพลายเชนระดับภูมิภาคใหม่ ทีนี้อะไรก็ตามที่ปัจจุบันอยู่ในเมืองไทยแล้วมันยิ่ง (ผลประกอบการ) น้อย พอขึ้นค่าแรงไปอีก มาร์จินยิ่งต่ำ มันเป็นการเร่งกระบวนการเรื่องที่จะย้าย ก็จะย้ายเร็วขึ้น น่าจะเห็นชัด”

สอดคล้องกับความเห็นของ ดร.สันติธาร เสถียรไทย ที่ตั้งข้อสังเกตว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำโดยไม่แก้เรื่องผลิตภาพ (productivity) ที่ต่ำของแรงงาน อาจส่งผลลบมากกว่า เพราะทำให้ธุรกิจต้องแบกต้นทุนสูงขึ้นโดยผลผลิตและรายได้ไม่เพิ่มหรือเพิ่มน้อย จนอาจนำไปสู่การทำให้ธุรกิจต้องหดตัว ย้ายฐานการผลิต หรือเลือกที่จะใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีแทนที่คน ซึ่งล้วนแต่จะลดปริมาณการจ้างงานลง

เอสเอ็มอี คิดอย่างไรกับชุดมาตรการบรรเทาผลกระทบของก้าวไกล

ในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) แกนนำรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรค โดยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ได้เดินสายหารือกับภาคเอกชนและสหภาพแรงงานหลายองค์กร และกลุ่มที่มีเสียงตอบรับในทิศทางแสดงความกังวลต่อเรื่องการขึ้นค่าจ้าง

นายพิธา ได้ชี้แจงต่อสื่อว่า การขึ้นค่าแรงไม่ได้ทำตามใจตัวเอง แต่ขึ้นแบบมีหลักการสากลว่าตัวเลขควรเป็นอย่างไร และมาพร้อมกับแพ็กเกจดูแลผู้ประกอบการไปด้วยกัน ได้แก่ การสมทบเงินประกันสังคมแทนนายจ้าง 6 เดือนแรก การนำค่าแรงไปหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าเป็นเวลา 2 ปี และการลดภาษีให้กับธุรกิจเอสเอ็มอีจาก 20% เป็น 15% และจาก 15% เป็น 10%

แต่สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เห็นว่า มาตรการช่วยเหลือเบื้องต้นจากที่ประกาศมา อาจไม่สามารถบรรเทาผลกระทบได้ตรงจุด

แสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวกับบีบีซีไทยว่า ในภาพรวมแรงงานในประเทศไทยจำนวน 40 ล้านคน เป็นแรงงานนอกระบบราว 20 ล้าน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีปัญหาเรื่องค่าแรงขึ้นต่ำ ดังนั้น การจูงใจให้แรงงานนอกระบบ เข้ามาอยู่ในระบบ เป็นสิ่งที่จะต้องทำควบคู่กันไปกับการขึ้นค่าแรงด้วย

สำหรับมาตรการสมทบเงินประกันสังคม แสงชัยระบุว่า จากข้อมูลมีแรงงานตามมาตรา 33 ของประกันสังคมอยู่เพียง 11 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานในภาคเอสเอ็มอีประมาณ 4.5 แสนคน แต่ในภาพรวมของเอสเอ็มอีมีการจ้างงานอยู่ถึง 12 ล้านคน จึงเห็นว่าถ้าไม่แก้ปัญหาเรื่องแรงงานนอกระบบเสียก่อน ก็เหมือน “เกาไม่ถูกที่คัน” และเอสเอ็มอีส่วนมากจะไม่เข้าข่าย

ส่วนมาตรการหักภาษี ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยกล่าวว่า ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ อาจได้ประโยชน์จากการหักภาษี 2 เท่า 2 ปี มากกว่าเอสเอ็มอี เนื่องจากเห็นว่าธุรกิจขนาดใหญ่ในกลุ่มที่ใช้แรงงานทักษะสูงอาจไม่ได้รับผลกระทบ ตรงกันข้ามกับเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใช้แรงงานทักษะต่ำที่จะได้รับผลด้านลบจากการการขึ้นค่าแรงทั้งระบบมากกว่า

“เราต้องดูสถานการณ์มิติทางเศรษฐกิจ ในแต่ละช่วงปี และต้องประเมินขีดความสามารถของผู้ประกอบการ ในแต่ละระดับ แต่ละเซกเมนต์ ที่มีความพร้อมในการขึ้นค่าแรงด้วย” ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าว

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว