สุพัฒนพงษ์ ตรึงดีเซล 35 บาทต่อลิตร โอดแบกหนี้กองทุนแสนล้าน

สุพัฒนพงษ์ ยันตรึงดีเซล 35 บ./ลิตร ยังไม่เคาะค่าไฟงวดหน้า
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน

สุพัฒนพงษ์ ยันตรึงดีเซล 35 บาทต่อลิตร ยังไม่เคาะค่าไฟงวดหน้า โอดยังมีภาระหนี้กองทุนแสนล้าน ขณะที่ พพ.จับมือองค์กรภาครัฐ เอกชนชั้นนำกว่า 70 แห่ง สร้างต้นแบบองค์กรใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูง ตั้งเป้าช่วยไทยลดการนำเข้าพลังงานกว่า 5,400 ล้านบาท/ปี เทียบเท่าแอลเอ็นจี 90,000 ตัน บรรเทาผลกระทบวิกฤตราคาพลังงานอย่างยั่งยืน

วันที่ 6 ธันวาคม 2565 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน เปิดเผยหลังเป็นประธาน กิจกรรมประกาศเจตนารมณ์เครือข่ายอนุรักษ์พลังงาน “Energy Beyond Standards” ว่า สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกมีแนวโน้มในทางที่ดีขึ้น หลังจากกลุ่มโอเปกพลัสได้คงการลดกำลังการผลิตไว้ที่ระดับ 2 ล้านบาร์เรลต่อวันตามเดิม

อย่างไรก็ตามคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ยังคงติดตามสถานการณ์ใกล้ชิดโดยในส่วนของราคาขายปลีกดีเซลยังคงตรึงไว้ที่ 35 บาทต่อลิตร

ขณะนี้แม้ว่าราคาตลาดโลกจะอ่อนตัวลงจนทำให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสามารถเรียกเก็บเงินเข้าสะสมได้ราว 3 บาทต่อลิตรเนื่องจากฐานะกองทุนน้ำมันฯสุทธิยังคงติดลบ 129,426 ล้านบาทแบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 87,237 ล้านบาท บัญชีแอลพีจีติดลบ 44,189 ล้านบาท

“ราคาดีเซลแม้ว่าเริ่มเก็บเงินเป็นบวกเฉลี่ย 3 บาทต่อลิตร แต่ไม่ได้ลดราคาขายปลีกให้ประชาชนเพราะอย่าลืมว่าเรายังมีภาระหนี้กองทุนฯและสำคัญเรายังลดภาษีสรรพสามิตให้อีก 5 บาทต่อลิตร และราคา 34.94 บาทต่อลิตรหรือ 35 บาทนี้ถือว่าต่ำกว่าเพื่อนบ้านมากแล้วระหว่างนี้จึงยังไม่สามารถปรับราคาขายปลีกลงได้ คงต้องติดตามราคาตลาดโลกอีกระยะเพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่กระทบต่อภาระในอนาคต” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว

สำหรับค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) งวด ม.ค.-เม.ย. 2566 ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะเป็นผู้พิจารณาประกาศตัวเลขอย่างเป็นทางการหลังจากที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้เห็นชอบกรอบแนวทางการลดภาระค่าไฟช่วงวิกฤตพลังงานชั่วคราว โดยเน้นการบริหารก๊าซฯ เช่น จัดสรรก๊าซอ่าวไทยใช้สำหรับการผลิตไฟให้ประเภทบ้านที่อยู่อาศัยก่อน พร้อมกันนี้ขอความร่วมมือ บมจ.ปตท.จัดสรรเงินราว 6,000 ล้านบาท (ม.ค.-เม.ย. 2566) มาดูแลต้นทุนเชื้อเพลิงผลิตไฟและก๊าซหุงต้ม (LPG) ดังนั้นแนวทางนี้จะช่วยตรึงค่าไฟฟ้าให้กับบ้านที่อยู่อาศัยเป็นสำคัญ

“กพช.ได้กำหนดแนวทางที่จะไปช่วยเหลือการลดค่าไฟฟ้าลงโดยเฉพาะการช่วยเหลือประเภทบ้านที่อยู่อาศัยซึ่งใช้ไฟไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน ซึ่งจะทำให้ค่าไฟภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรมไม่เท่ากันแต่เราก็ทำแค่ชั่วคราว ดังนั้นทาง กกพ.จะเป็นผู้พิจารณา” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวอีกว่า กระทรวงพลังงานได้เร่งผลักดันนโยบายการอนุรักษ์พลังงานอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจ ซึ่งถือเป็นภาคส่วนที่มีการใช้พลังงานสูงให้เกิดการใช้พลังงานอย่างประสิทธิภาพ

โดยการประกาศเจตนารมณ์จากภาครัฐและเอกชนทั้ง 70 องค์กรในวันนี้ จะเป็นก้าวสำคัญให้เกิดการสร้างเครือข่ายด้านอนุรักษ์พลังงาน สร้างความร่วมมือการให้คำปรึกษา ให้ความช่วยเหลือเพื่อให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ทั้งนี้จากมาตรการที่หน่วยงานแต่ละแห่งจะดำเนินการเพื่อการอนุรักษ์พลังงานนั้น นอกจากจะช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าในองค์กรแล้ว คาดว่าจะส่งผลในภาพรวมเกิดการลดใช้ไฟฟ้าได้กว่า 675 ล้านหน่วย/ปี ลดค่าใช้จ่ายการนำเข้าพลังงานของประเทศได้สูงถึง 5,400 ล้านบาท/ปี เทียบเท่าแอลเอ็นจี 90,000 ตัน บรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 296,000 ตันคาร์บอน/ปี

อีกทั้งช่วยขับเคลื่อนนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย เพื่อบรรลุสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ให้ได้ ในปี ค.ศ. 2050

ด้าน นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดี พพ. กล่าวว่า การประกาศเจตนารมณ์เครือข่ายอนุรักษ์พลังงาน “Energy Beyond Standards” พพ.ได้รับความร่วมมือจากสมาชิกสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาชิกสมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย สมาชิกสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และองค์กรชั้นนำรวมทั้งสิ้นจำนวน 70 แห่ง อาทิ กลุ่มบริษัท เครือ ปตท. เครือเซ็นทรัล ค่ายรถยนต์โตโยต้า และบริษัท SCG เป็นต้น

โดยทุกองค์กรที่มาร่วมกันจะมีส่วนช่วยให้ประเทศไทยก้าวข้ามวิกฤตด้านพลังงาน ด้วยการดำเนินการอนุรักษ์พลังงานในองค์กร ทั้งนี้ พพ.จะให้การสนับสนุนด้านเทคนิค การฝึกอบรมให้ความรู้ การให้คำปรึกษาและแนะนำ ตลอดจนเผยแพร่ผลสำเร็จและความรู้ด้านอนุรักษ์พลังงานสู่สาธารณชน กระตุ้นทุกภาคส่วนให้เกิดความตระหนักและเกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับตัวอย่างมาตรการเพื่อสนับสนุนให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้ความร่วมมือในกิจกรรมครั้งนี้ จะมีมาตรการทั้งด้านอนุรักษ์พลังงาน การใช้พลังงานทดแทน ที่เกิดผลสัมฤทธิ์สูงและสามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้กว้างขวางมากขึ้น

อาทิ มาตรการลดการสูญเสียพลังงานของเครื่องจักรและอุปกรณ์ โดยมุ่งเน้นการปรับปรุงปรับเปลี่ยนเครื่องจักรอุปกรณ์ โดยใช้เครื่องจักรอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูง มาตรการติดตั้งระบบ Monitoring and control เพื่อประเมินค่าการใช้พลังงาน

และการนำพลังงานทดแทนมาใช้งาน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานชีวมวล และระบบพลังงานชีวภาพ ร่วมกับระบบควบคุมการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพ เป็นต้น

โดยหลังจากนี้ พพ.จะมีการติดตามผลการประหยัดพลังงาน รายงานผ่านระบบ online และจัดตั้ง energy clinic ในการให้คำปรึกษาทั้งด้านการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน ตลอดจนให้คำแนะนำแหล่งเงินลงทุน โดยผู้เชี่ยวชาญ ที่มีความรู้ไว้รองรับกิจกรรมนี้ด้วยแล้ว นายประเสริฐกล่าว