ยุบสภา เลือกตั้ง 66 ครม.ประยุทธ์ อนุมัติทิ้งทวนอะไรบ้าง

ยุบสภา ครม.รักษาการ ประยุทธ์ อุนมัติอะไรไม่ได้บ้าง

หาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ยุบสภาตามไทม์ไลน์ที่ นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประกาศไว้ในวันที่ 20 มีนาคม 2566

คาดว่าการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 14 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมาเป็นการประชุม ครม.นัดสุดท้ายที่ พล.อ.ประยุทธ์จะมีอำนาจเต็ม

8 ปี ที่มีอำนาจเต็มไม้เต็มมือ จะเหลือเพียงแค่ครึ่งเดียว การประชุม ครม.นัดต่อไปหลังจากยุบสภา พล.อ.ประยุทธ์ และ ครม.จะไม่สามารถทำอะไรได้หลาย ๆ อย่าง

ดังนั้น การประชุม ครม.เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 ที่ใช้เวลายาวนานกว่า 6 ชั่วโมง จึงเห็น ครม.อนุมัติโครงการและงบประมาณแบบ “เทกระจาด” หรือบางวาระเรียกว่าเป็นการ “ทิ้งทวน”

ครม.นัดสุดท้ายอนุมัติงบฯกลาง 6 แสนล้าน

เพราะตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตําแหน่งตามมาตรา 167 (2) หรือ กรณียุบสภา คณะรัฐมนตรีต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไป แต่ไม่สามารถ “อนุมัติงบฯกลาง” ได้ ดังนั้น วันที่ 14 มีนาคม 2566 จึงมีการอนุมัติแบบ “ทิ้งทวน” ถึง 6 แสนล้าน ประกอบด้วย

กระทรวงมีที่สูงสุดอันดับแรก มี 11 รายการ รวมอยู่ในงบฯกลางวงเงิน 601,745 ล้านบาท รองลงมาคือ กระทรวงมหาดไทย 351,985 ล้านบาท กระทรวงศึกษาธิการ 330,512 ล้านบาท กระทรวงการคลัง 313,822 ล้านบาท กองทุนหมุนเวียน 229,112 ล้านบาท กระทรวงกลาโหม 198,562 ล้านบาท กระทรวงคมนาคม 183,950 ล้านบาท กระทรวงสาธารณสุข 170,369 ล้านบาท

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 117,142 ล้านบาท ส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี 128,444 ล้านบาท กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 127,669 ล้านบาท รัฐวิสาหกิจ 149,382.7 ล้านบาท

หน่วยงานที่ได้รับจัดสรรงบฯต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 93,647 ล้านบาท กระทรวงแรงงาน 61,841 ล้านบาท สำนักนายกรัฐมนตรี 35,423 ล้านบาท รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 33,759 ล้านบาท กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 31,977 ล้านบาท กระทรวงยุติธรรม 26,048 ล้านบาท กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 25,261 ล้านบาท หน่วยงานของศาล 24,914 ล้านบาท

หน่วยงานขององค์กรอิสระและองค์กรอัยการ 23,054 ล้านบาท จังหวัดและกลุ่มจังหวัด 22,628 ล้านบาท สภากาชาดไทย 8,867 ล้านบาท กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 8,639 ล้านบาท ส่วนราชการในพระองค์ 8,478 ล้านบาท กระทรวงการต่างประเทศ 7,555 ล้านบาท หน่วยงานของรัฐสภา 7,499 ล้านบาท กระทรวงวัฒนธรรม 7,004 ล้านบาท กระทรวงพาณิชย์ 6,680 ล้านบาท กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 5,764 ล้านบาท กระทรวงอุตสาหกรรม 4,645 ล้านบาท กระทรวงพลังงาน 3,026 ล้านบาท หน่วยงานอื่นของรัฐ 583 ล้านบาท

หลังยุบสภา ช่วงเลือกตั้ง 66 อนุมัติอะไรไม่ได้บ้าง

สาเหตุที่ต้องเทกระจาดในนัดสุดท้าย เพราะตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตําแหน่งตามมาตรา 167 (2) หรือ กรณียุบสภา คณะรัฐมนตรีต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไป แต่อยู่ภายใต้ 4 เงื่อนไข

1. ไม่สามารถอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพัน ต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป ยกเว้นกําหนดไว้แล้วในงบประมาณรายจ่ายประจําปี

2. ไม่แต่งตั้งหรือโยกย้ายข้าราชการซึ่งมีตําแหน่งหรือเงินเดือนประจําหรือพนักงานของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่

หรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือพ้นจากตําแหน่ง หรือให้ผู้อื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจาก กกต.ก่อน

3. ไม่สามารถอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสํารองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจําเป็น เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจาก กกต.ก่อน

4. ไม่ใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทําการใดอันอาจมีผลต่อการเลือกตั้ง และไม่กระทําการอันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามระเบียบที่ กกต.กําหนด

ขั้นตอนเลือกตั้ง หลังยุบสภา

รัฐธรรมนูญมาตรา 103 กำหนดว่า ภายใน 5 วันหลังจากมีพระราชกฤษฎีกายุบสภา ให้ กกต.ประกาศวันเลือกตั้ง ซึ่งต้องไม่น้อยกว่า 45 วันแต่ไม่เกิน 60 วันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับ และให้ประกาศวันรับสมัครเลือกตั้ง

ประกอบกับมาตรา 12 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2561 กำหนดให้ กกต. เริ่มรับสมัครไม่เกิน 25 วัน นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งทั่วไปใช้บังคับ และต้องกําหนดวันรับสมัครไม่น้อยกว่า 5 วัน

วันรู้ชื่อแคนดิเดตนายกฯ

สำหรับ “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” ที่กำหนดให้พรรคการเมืองสามารถเสนอชื่อได้ 3 ชื่อ หรือไม่เสนอชื่อก็ได้นั้น จะต้องแจ้งรายชื่อต่อ กกต. ก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้ง


และให้ กกต.ประกาศรายชื่อบุคคลดังกล่าวพร้อมกับชื่อของพรรคการเมืองนั้นให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป เป็นไปตาม มาตรา 13 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2561