เปิดโควตาที่มา 2,725 ตำแหน่งการเมือง ในมือรัฐบาลก้าวไกล

เปิดที่มาโควตารัฐมนตรี ผ่านกฎหมายข้าราชการการเมืองฝ่ายรัฐบาลต้องมี 190 ตำแหน่ง 18 ประเภท ฝ่ายนิติบัญญัติ 2,535 ตำแหน่ง

พรรคร่วมรัฐบาล 8 พรรค 312 เสียง ที่มีพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ที่ชนะการเลือกตั้งด้วย 151 เสียง และพรรคอันดับ 2 เพื่อไทย (พท.) 141 เสียง และพรรคขนาดเล็ก 2 พรรคคือ ประชาชาติ (ปช.) 9 ตำแหน่ง พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) 6 ตำแหน่ง รวมพรรคจิ๋วรายละ 2 เสียง รายละ 1 เสียง 3 พรรค

การเจรจาแลกเปลี่ยน-สลับโควตารัฐมนตรี 35+1 ตำแหน่ง และตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร แทรกเป็นวาระ “นอกรอบ” ระหว่าง 2 พรรคใหญ่ดำเนินไปคู่ขนานกับการวางเค้าโครงนโยบายรัฐบาลใหม่ รื้อถอนระบอบประยุทธ์ที่ฝังรากยาวนาน 9 ปี

โควตาตำแหน่งประจำทำเนียบรัฐบาล-รัฐมนตรี 20 กระทรวง ถูกเปิดสูตรฐานคำนวณจาก ส.ส.เฉลี่ย 8 คน ต่อ 1 ตำแหน่งรัฐมนตรี ส่วนตำแหน่งฝ่ายนิติบัญญัติ วางสูตรคำนวณเฉพาะโควตา ประธานกรรมาธิการสามัญ 35 ตำแหน่ง ซึ่งพรรคอันดับ 1 และพรรคอันดับ 2 ต่างตระเตรียมหาคนการเมืองเพิ่มเติม

ตามรายงานของบีบีซีไทยระบุว่า เฉพาะอย่างยิ่งพรรคก้าวไกลที่เติบโตเกินกว่าคาด และมีสิทธิได้ครอบครองตำแหน่งทางการเมือง ทั้งฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติไม่น้อยกว่า 900 ตำแหน่ง จาก 2,695 ตำแหน่ง

สำหรับตำแหน่งในฝ่ายบริหาร และข้าราชการการเมืองมีประมาณ 190 ตำแหน่ง ที่ได้รับค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2535 ทั้งสิ้น 18 ประเภท ประมาณ 160 ตำแหน่ง และตำแหน่งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ซึ่งไม่ถือว่าเป็นข้าราชการการเมือง โดยปฏิบัติหน้าที่ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และประจำกระทรวงต่าง ๆ อีกประมาณ 30 ตำแหน่ง

แบ่งเป็นตำแหน่งที่ต้องประจำการในทำเนียบรัฐบาลและประจำการ 20 กระทรวง ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี, รองนายกรัฐมนตรี, รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการของรองนายกฯ ประมาณ 4 ตำแหน่ง, เลขานุการ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จำนวนตำแหน่งขึ้นอยู่กับจำนวนรัฐมนตรีประมาณ 1-3 คน และข้าราชการการเมืองประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 30 ตำแหน่ง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวง (รมว.) และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง (รมช.) รวมทั้งหมด 35 ตำแหน่ง, ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี 5 ตำแหน่ง, ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี ที่ปรึกษารัฐมนตรี และที่ปรึกษา รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รวมทั้งหมด 35 ตำแหน่ง

เลขานุการรัฐมนตรีว่าการ 20 กระทรวง  20 ตำแหน่ง, ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการมีประมาณ 16 กระทรวง ที่ต้องมีรัฐมนตรีช่วย ยกเว้น 6 กระทรวง ที่ไม่เคยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการ อาทิ กระทรวงการท่องเที่ยวฯ, ยุติธรรม, การพัฒนาสังคมฯ, ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกระทรวงการอุดมศึกษาฯ

ตำแหน่งที่ประจำการในตึกไทยคู่ฟ้า เคียงคู่นายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย เลขาธิการนายกรัฐมนตรี 1 ตำแหน่ง และประจำการที่ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล อาทิ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง โควตานายกฯ 3 ตำแหน่ง

ตำแหน่งประจำการที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ประกอบด้วย โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 1 ตำแหน่ง, รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ 3 ตำแหน่ง

สำหรับตำแหน่งในฝ่ายนิติบัญญัติ 2,535 ตำแหน่ง ประกอบด้วย ประธานสภาผู้แทนราษฎร 1 ตำแหน่ง, รองประธานสภาผู้แทนราษฎร 2 ตำแหน่ง, ประธานกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) 1 ตำแหน่ง

ตำแหน่งใหญ่ ๆ ตามโควตาที่มาจากสัดส่วนจำนวน ส.ส.ของแต่ละพรรค ประกอบด้วย ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญ 35 ตำแหน่ง

ตำแหน่ง ส.ส. 1 คน สามารถแต่งตั้งทีมงานได้ไม่เกิน 8 คน ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญประจำตัว ส.ส. 1 คน ผู้ชำนาญประจำตัว ส.ส. 2 คน และผู้ช่วยดำเนินงานของ ส.ส. 5 คน เมื่อรวม ส.ส. ของ 8 พรรคการเมือง 312 ในส่วนนี้ต้องใช้คนที่เกี่ยวข้องประมาณ 2,496 ตำแหน่ง

ตำแหน่งในฝ่ายนิติบัญญัติ เฉพาะโควตาฝ่ายรัฐบาล มี 11 ตำแหน่ง ตามนัยแห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการรัฐสภา พ.ศ. 2554 ประกอบด้วย ที่ปรึกษาประธานรัฐสภา 1 ตำแหน่ง, ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร 1 ตำแหน่ง, ที่ปรึกษารองประธานสภาผู้แทนราษฎร 2 ตำแหน่ง, โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร 1 ตำแหน่ง, เลขานุการประธานรัฐสภา 1 ตำแหน่ง, เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร 1 ตำแหน่ง

และเลขานุการรองประธานสภาผู้แทนราษฎร 2 ตำแหน่ง, ผู้ช่วยเลขานุการประธานรัฐสภา 1 ตำแหน่ง, ผู้ช่วยเลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร 1 ตำแหน่ง

ทั้งหมดนี้คือพันธะและภาระของพรรคการเมืองในฝ่ายรัฐบาลต้องจัดสรรคนการเมืองเข้าสู่ตำแหน่ง ซึ่งพรรคเกิดใหม่ต้องครุ่นคิดคำนวณและเปิดรับสมัครนักวิชาชีพการเมืองเข้าสู่ “ทีมรัฐบาลก้าวไกล”