ก้าวไกล ในกับดัก เพื่อไทย เกมชิงประธานสภา-รัฐมนตรี

รัฐบาลก้าวไกล

จนถึงเวลานี้ ทุกวงการยังตั้งคำถามว่า “พรรคก้าวไกล” จะจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่

นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 จะเป็นใคร ใช่ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หรือไม่

ทั้งที่พรรคก้าวไกล บวกกับพันธมิตร 7 พรรค กำเสียงข้างมาก 312 เสียง

แม้ว่าหลังการเลือกตั้ง พรรคที่ปั่นป่วนที่สุด จะเป็นพรรคเพื่อไทย จากเป้าหมายแลนด์สไลด์กลายเป็น “แลนด์ไถล” ได้ต่ำกว่าเป้าหมาย กว่า 140 ที่นั่ง จาก 280 เหลือเพียง 141 เสียง

แต่ด้วยความที่ผ่านร้อน หนาว มา 2 ทศวรรษ ทำให้พรรคเพื่อไทยไม่เชิงเสียกระบวนมากนัก กลับมาตั้งหลัก เดินเกมต่อรองเก้าอี้ทางการเมืองได้ทุกชอต

จากพรรคเพื่อไทยที่ตกเป็นรอง กลับตาลปัตรพลิกขี่หลังพรรคก้าวไกลดื้อ ๆ

หลังจากปิดหีบเลือกตั้งผ่านไป 15 วัน กลายเป็น “พรรคก้าวไกล” ที่สุดต้อง “ตั้งหลัก” ฝ่าสารพัดปัญหาในการเป็นรัฐบาล

เพราะพลันที่พรรคพันธมิตร 8 พรรค ลงนามเอ็มโอยูจัดตั้งรัฐบาล กลับกลายเป็นวิวาทะระหว่าง พรรคเพื่อไทย กับ พรรคไทยสร้างไทย เป็นมวยคู่เอกระหว่าง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กับ น.ต.ศิธา ทิวารี แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคไทยสร้างไทย

จนเกิดวาทกรรม “ชกได้ ชกไปแล้ว” ของ นพ.ชลน่าน

เรื่องนี้ถึงขั้นกลายเป็นประเด็นในวงถกลับ ระหว่างแกนนำเพื่อไทย-สั่งก้าวไกล ให้เร่งหย่าศึกโดยเร็ว เพื่อไม่ให้กระทบกับงานใหญ่

เช่นเดียวกับการเคลื่อนไหวผ่านโลกทวิตเตอร์ ของ “ปิยบุตร แสงกนกกุล” เลขาธิการคณะก้าวหน้า ผู้ช่วยหาเสียงพรรคก้าวไกล ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับ MOU รัฐบาลก้าวไกล จนถึงการโพสต์เฟซบุ๊ก ปลุกเร้าไม่ให้พรรคก้าวไกล ยอมยกเก้าอี้ประธานสภาให้เพื่อไทย

“การเจรจาต่อรองเพื่อกำหนดเนื้อหาใน MOU ได้ผ่านพ้นไปด้วยดี ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่าพรรคก้าวไกลได้ถอยในหลายประเด็น จนเหลือแต่ประเด็นที่ทุกพรรคยอมรับได้ และยอมเพิ่มอีกหลายข้อความเพื่อให้ทุกพรรคคลายความกังวลและสบายใจมากขึ้นแล้ว”

“เมื่อถึงคราวจัดสรรกระทรวงให้แต่ละพรรค พรรคก้าวไกลก็คงต้องยินยอม “เฉือน” อีกหลายกระทรวงให้กับพรรคอื่น ๆ เพื่อให้การจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ โดยเฉพาะกระทรวงที่สังคมจัดให้เป็นเกรด A โดยพิจารณาจากงบประมาณและโครงการ “เป็นเนื้อเป็นหนัง”

อีกท่อนหนึ่ง “ปิยบุตร” โพสต์อีกว่า ปัญหามีอยู่ว่า พรรคก้าวไกลจะต้องถอยจนถึงเมื่อไร ต้องยินยอมถึงขนาดไหน เพื่อให้ทุกพรรคพอใจและตั้งรัฐบาลได้ ? และไปต่อได้ ?

จากนั้นไม่นาน ประเด็นวิวาทะระหว่าง ศิธา กับ นพ.ชลน่าน ก็เคลื่อนสู่ปมที่ใหญ่กว่า คือ การชิงเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎร

พรรคเพื่อไทย กดปุ่มสั่งการให้องคาพยพ เดินหน้าชิงเก้าอี้ประธานสภา ขณะที่ พรรคก้าวไกล และองคาพยพก็สู้ไม่ถอย

อาจกลายเป็นชนวน “แตกหัก” หากตกลงกันไม่ได้ ถ้า พรรคเพื่อไทย ปล่อยให้ ส.ส.ในสังกัด “ฟรีโหวต” เกมตั้งรัฐบาลก้าวไกลอาจพังครืน

แหล่งข่าวในพรรคเพื่อไทยบอกว่า “เรื่องเก้าอี้ประธานสภาเป็นเงื่อนไขของพรรคเพื่อไทยให้พรรคก้าวไกลไปพิจารณา เรื่องนี้ต้องดีลกันให้จบ และถ้าไม่มีการโพสต์ของอาจารย์ปิยบุตรคงจบไปแล้ว เพราะไม่ใช่เรื่องใหญ่”

ขณะที่ “ชัยธวัช ตุลาธน” เลขาธิการพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์แบบเปิดหน้าว่า ระบุว่า จริง ๆ แล้ว ความขัดแย้งไม่ได้รุนแรงเหมือนที่ปรากฏหน้าสื่อ เพราะการประสานงานภายในที่ได้มีการพูดคุยก็เป็นไปด้วยดี เมื่อวันศุกร์ (27 พ.ค.) ที่ผ่านมา ก็ประสานคุยกับพรรคเพื่อไทยแล้วเรื่องตำแหน่งประธานสภา

“ทั้งก้าวไกลและเพื่อไทยเห็นตรงกันว่า ควรหยุดให้ข่าวประเด็นนี้ แล้วหันกลับมาคุยกันแบบภายใน และส่วนตัวมองว่าเรื่องนี้ยังมีเวลาพูดคุย เพื่อหาข้อยุติร่วมกัน”

ส่วนตำแหน่งรัฐมนตรี กระทรวงที่พรรคเพื่อไทย แนบท้ายในข้อเสนอ คือ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพลังงาน กระทรวงการต่างระเทศ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงวัฒนธรรม เป็นกระทรวงเกรดเอ ทั้งสิ้น

ก้าวไกล กำลังเป็นรัฐบาลโดยอุบัติเหตุ เพราะภายในพรรคไม่คิดว่าจะมาไกลถึงขั้นได้เป็นรัฐบาล

ส่วนเพื่อไทย ใช้ความเขี้ยวในการต่อรอง ทั้งเก้าอี้ประธานสภา ทั้งเก้าอี้รัฐมนตรี และอนาคตอาจจะไปถึงการโหวตนายกรัฐมนตรี