กรมศุลกากรชี้แจงจับทุเรียน 8,420 กิโลกรัม จีพีเอสระบุลักลอบจากกัมพูชา

ศุลกากร

กรมศุลกากรเดินหน้าฟ้อง กรณีจับทุเรียนจำนวน 8,420 กิโลกรัม รวมมูลค่ากว่า 1 ล้านบาท ที่ลักลอบนำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน แต่ถูกอ้างว่าเป็นทุเรียนจากสวนในจังหวัดศรีสะเกษ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา และถูกบิดเบือนข้อมูลสร้างความเสื่อมเสียผ่านสื่อสังคมออนไลน์

วันที่ 26 มิถุนายน 2566 นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร นำแถลงข่าวชี้แจงว่า ในการจับกุมครั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งจากสายข่าว ว่าจะมีการนำทุเรียนลักลอบนำเข้าจากแนวชายแดนไทย-กัมพูชา บริเวณ ต.คลองน้ำใส อ.อรัญประเทศ และเหตุผลที่ไม่บุกจับบริเวณพรมแดนเพราะอยู่ในพื้นที่ทับซ้อน

ฉะนั้น ทางหน่วยงานจึงรอให้รถขนทุเรียนดังกล่าวเข้าสู่เขตแดนไทยเสียก่อนจึงเข้าจับกุม กระทั่งเกิดประเด็นว่ามาจากจังหวัดศรีสะเกษไม่ใช่ทุเรียนลักลอบ และทางเจ้าหน้าที่ถูกกล่าวหาว่าเข้าไปข่มขู่ทำให้ผู้ลักลอบยอมรับ ซึ่งเจ้าหน้าที่มีหลักฐานการทำงานทั้งหมด

“เรามีหลักฐานครบถ้วนในการจับกุม ตั้งแต่จีพีเอสของรถยนต์ บันทึกจับกุม บันทึกภาพ บันทึกเสียง ประสานงานกับตำรวจและอัยการทั้งก่อนและหลังดำเนินการ ซึ่งผู้รับจ้างขนส่งและผู้ว่าจ้างกล่าวอ้างเป็นเจ้าของก็ได้ดำเนินการยอมรับความผิดทั้งหมด ไปลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจกับเจ้าหน้าที่ด้วยว่ามีการกระทำผิดจริง แต่ติดใจว่ากรมศุลกากรจะต้องดำเนินการกับของกลางให้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยมีเจตนาอยากขอซื้อคืน ซึ่งเราได้ดำเนินการตามกฎระเบียบของกรมศุลกากร”

นายพชรกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ดำเนินการจัดการของกลาง โดยให้ศูนย์ราชการแจ้งความประสงค์ ขายปันส่วนให้ส่วนราชการเพื่อขายเป็นสวัสดิการในหน่วยงานราชการเท่านั้น และประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาตรวจว่ามีโรคพืชติดเข้ามาหรือไม่ ถ้ามีต้องทำลายทิ้ง

สำหรับการระงับคดีนายด่านต้องส่งเรื่องมาและระงับคดีในชั้นศุลกากรเพื่อเสียค่าปรับแล้วจบ แต่ในกรณีนี้เพื่อความสบายใจจึงไม่ระงับคดีในชั้นศุลกากร แต่จะให้พนักงานสอบสวนนำเรื่องไปขยายผลต่อ เพื่อสร้างความมั่นใจว่ากรมศุลกากรได้ดำเนินการถูกต้องตามกฎระเบียบ ส่วนที่มีข้อมูลต่าง ๆ เผยแพร่ออกไปก็ต้องจัดการดำเนินการ

ADVERTISMENT

“เรียนผู้กระทำผิดในลักษณะนี้ว่า การกระทำดังกล่าวส่งผลกระทบต่อเกษตรภายในประเทศ และอาจจะส่งผลกระทบต่อสินค้าส่งออกด้วย จึงขอให้เลิกทำซะ เพราะมีผลกระทบในวงกว้าง ส่วนเรื่องคดีความพนักงานสอบสวนเราจะไม่ยอมระงับคดี จะได้เห็นชัดว่าอะไรเป็นอย่างไร รวมถึงการกล่าวอ้างบิดเบือนสร้างความเสื่อมเสียให้กับกรมศุลกากร เราจะต้องดำเนินคดีในส่วนที่เกี่ยวข้อง อยากให้เป็นอุทาหรณ์ เป็นกรณีตัวอย่าง และไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก”

ด้านนายศศิน ปงรังษี ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรภาคที่ 1 กล่าวว่า สำหรับโทษในกรณีไม่ระงับคดี จำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับ 10 เท่า ริบของกลาง ทั้งจำทั้งปรับ โดยการดำเนินคดีในชั้นศาลจะหนัก เพราะปกติคดีศุลกากรกว่า 90% จะจบที่ศุลกากร

ADVERTISMENT