เลื่อนโหวตนายกฯ รอบ 3 ลากยาวถึงสิงหาคม เพื่อไทย-ก้าวไกลไร้ทางออก

เลื่อนโหวตนายกฯ รอบที่ 3

พรรคเพื่อไทย ที่พลิกขึ้นเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรค 312 เสียง ตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 66 ยังไม่มีแนวทาง และวงประชุมเพื่อแจ้งมติและข้อมูลใหม่ หลังได้เจรจาหาเสียง ส.ส.เพิ่มเติมจาก 5 พรรคร่วมรัฐบาลขั้วเก่า ที่มีความเห็นตรงกันว่าไม่สามารถร่วมงานกับพรรคก้าวไกลที่มีนโยบายแก้ไขกฎหมายอาญา ม.112

วันที่ 25 กรกฎาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี รอบที่ 3 อาจจะต้องลากยาวไปจนถึงกลางเดือนสิงหาคม 2566 เพราะขณะนี้พรรคเพื่อไทย (พท.) กับ 7 พรรคที่ตกลงจะร่วมรัฐบาลใหม่ 312 เสียง ยังไม่สามารถนัดประชุมกันได้

อีกทั้งยังมีปัจจัยแทรกซ้อน เมื่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยว่า การเสนอชื่อบุคคลให้รัฐสภาเห็นชอบเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีถือเป็นญัตติ ซึ่งต้องปฏิบัติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อ 41 ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่

ในการนี้ ได้ขอให้รัฐสภาชะลอการประชุมเพื่อโหวตนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 3 ไว้ก่อน จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยชี้ขาดออกมา ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญจะประชุมประจำสัปดาห์ ในวันพุธที่ 26 กรกฎาคม 66

สำหรับขั้นตอนการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ หลังจากรับคำร้องในทางธุรการจากสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินแล้วนั้น ขั้นตอนต่อไป คณะพิจารณารับคำร้องชุดเล็ก ซึ่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาทำความเห็นว่าจะรับหรือไม่รับคำร้อง ก่อนที่จะส่งความเห็นไปยังที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา

เลื่อนโหวตนายกฯ ถึงสิงหาคม 66

จากนี้ไปจนถึงต้นเดือนสิงหาคม 2566 มีกระบวนการทางการเมืองที่เกิดขึ้น ที่ส่งผลต่อการเลื่อนการโหวตนายกรัฐมนตรี รอบที่ 3 ดังนี้

  • 23-24 กรกฎาคม 66 พรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาล นัดเจรจากับพรรคภูมิใจไทย 71 เสียง พรรคพลังประชารัฐ 40 เสียง พรรครวมไทยสร้างชาติ 36 เสียง พรรคชาติไทยพัฒนา 9 เสียง พรรคชาติพัฒนากล้า 2 เสียง ทุกพรรคแถลงว่า “ไม่สามารถร่วมงานการเมืองกับพรรคก้าวไกล” ที่มีนโยบายแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112
  • 24 กรกฎาคม 66 พรรคก้าวไกลมีมติเอกฉันท์ ไม่สามารถร่วมงานการเมืองกับพรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ และสมาชิกบางส่วนให้ความเห็นว่าไม่สามารถถอยเรื่องกฎหมายอาญา ม.112
  • 24 กรกฎาคม 66 มีความเห็นของ ส.ว.บางส่วน ยืนยันไม่โหวตให้แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคที่มีนโยบายแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 และไม่สนับสนุนแคนดิเดตนายกฯ จากรัฐบาลผสมที่มีก้าวไกลร่วมด้วย
  • 25 กรกฎาคม 66 พรรคเพื่อไทยแจ้งยกเลิกการประชุมร่วมกับ 7 พรรคที่เคยร่วมจัดตั้งรัฐบาล
  • 26 กรกฏาคม 66 ประธานรัฐสภาแจ้งยกเลิกการประชุมคณะกรรมการประสานงาน 3 ฝ่าย หรือ วิป 3 ฝ่าย ที่ประกอบด้วย วิปรัฐบาลเก่า วิปฝ่ายค้าน (ว่าที่รัฐบาล 8 พรรค) และวิปวุฒิสภา
  • 26 กรกฎาคม 66 ศาลรัฐธรรมนูญประชุม คาดว่าจะพิจารณารับ-ไม่รับคำร้อง ผู้ตรวจการแผ่นดิน
  • 27 กรกฎาคม 66 ประธานรัฐสภาสั่งเลื่อนประชุมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี รอบที่ 3
  • 28 กรกฎาคม 66 วันหยุด เฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
  • 29-30 กรกฎาคม 66 วันหยุดเสาร์-อาทิตย์
  • 31 กรกฎาคม 66 รัฐบาลประกาศเป็น “วันหยุดพิเศษ”
  • 1 สิงหาคม 66 วันอาสาฬหบูชา วันหยุดต่อเนื่อง
  • 2 สิงหาคม 66 วันเข้าพรรษา วันหยุดต่อเนื่อง

จากนั้นในวันที่ 3 สิงหาคม 66 เมื่อเปิดทำการ จึงจะมีการนัดประชุมวิป 3 ฝ่าย และจะมีการกำหนดวาระร่วมกัน ว่าจะนัดประชุมเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี รอบที่ 3 เมื่อไร ซึ่งต้องแจ้งสมาชิกรัฐสภาล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน

แหล่งข่าวจากแกนนำพรรคเพื่อไทย ให้ความเห็นว่า มีแนวโน้มสูงที่การนัดประชุมรัฐสภา เพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี รอบที่ 3 อาจลากยาวไปถึงราวกลางเดือนสิงหาคม 66 และถึงตอนนั้นการจัดตั้งรัฐบาลขั้วเก่า 8 พรรค อาจจะไม่ได้อยู่ด้วยกันครบทุกพรรค เพราะทั้งพรรคก้าวไกล และ 5 พรรคที่เพื่อไทยเปิดเจรจาใหม่ต่างฝ่ายต่างติดล็อกเรื่องเงื่อนไขการร่วมรัฐบาล และไม่มีฝ่ายใดถอย