นายกฯ ตรวจติดตามน้ำอ่างหนองปลาไหล ให้ความสำคัญบริหารจัดการน้ำ ลั่น ยอมรับไม่ได้ ถ้ามีเรื่องไม่ดีเกี่ยวกับการขาดแคลนน้ำ พา “วงษ์สยาม-อีสท์ วอเตอร์” หย่าศึก – จับมือโชว์สื่อ
วันที่ 4 พฤศจิกายน 2566 ที่อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล ตำบลปลวกแดง อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ตรวจเยี่ยมอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหลเพื่อติดตามระบบการบริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำให้รองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) พร้อมกล่าวมอบนโยบายภายหลังรับฟังบรรยายสรุป ว่า ขอบคุณที่สละเวลาวันเสาร์มาช่วยกันทำงาน เชื่อว่าปัญหาเรื่องน้ำทุกท่านตระหนักดีอยู่แล้วแต่ละพื้นที่มีปัญหาที่แตกต่าง บางจังหวัดมีปัญหาน้ำท่วม
บางจังหวัดแล้ง บางจังหวัดขาดน้ำที่จะใช้ในภาคอุตสาหกรรม และทราบกันดีอยู่แล้วเรื่องน้ำพี่น้องประชาชน รวมทั้งภาคอุตสาหกรรมมีเหตุผลในการใช้อยู่ 4 อย่าง คืออุปโภคบริโภครักษาระบบนิเวศเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม พื้นที่นี้ โฟกัส เรื่อง 3 และ 4 เป็นหลัก ส่วนมากเรื่องการใช้เกษตรกรรม มีความต้องการน้ำสูง และภาคพื้นอีแีซีจังหวัดระยอง จังหวัดชลบุรี และปราจีนบุรี เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นศูนย์ยุทธศาสตร์สําคัญของประเทศเรา
ฉะนั้นความต้องการน้ำในเขตนี้จะมีสูงกว่าเขตอื่น ปัญหาความขัดแย้งของพี่น้องประชาชนในอนาคตที่จะเกิดขึ้นระหว่างการแย่งน้ำภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรมเป็นเรื่องสำคัญ ตรงนี้รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างมาก ขอบคุณที่กรุณานำเสนอมีหลายประเด็นการพัฒนาความต้องการแหล่งน้ำ การเชื่อมต่อ ส่งจ่าย เชื่อว่าได้ศึกษากันมาดีแล้ว
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลนี้ได้เข้ามาบริหารจัดการในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาเราให้ความสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งคือการเชื้อเชิญนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศไทย การลงทุนเป็นการลงทุนที่สูง ไม่ใช่แค่เรื่องน้ำอย่างเดียว เรื่องพลังงานสะอาด และอีกหลายเรื่องเป็นปัจจัยสำคัญในการที่จะเชิญให้นักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามา
“ฉะนั้นเรายอมรับไม่ได้ที่จะให้มีเรื่องไม่ดีเกี่ยวกับการขาดแคลนน้ำเกิดขึ้น เรื่องนี้ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายปกครอง สทนช.กรมชลประทาน กระทรวงอุตสาหกรรม และบีโอไอ และอีกหลายภาคส่วน การที่ท่านได้นำเสนอมาและมีผลงานโดยเชื่อว่าเป็นเรื่องที่ดี และไม่อยากให้มีการล่าช้าเกิดขึ้นในการบริหารจัดการเรื่องนี้ ฉะนั้นถ้ามีปัญหาตรงไหนรัฐบาลพร้อมที่จะบริหารจัดการตรงนี้ให้ดี การสื่อสารกับพี่น้องประชาชนถือเป็นเรื่องสำคัญ อยากให้มีการสื่อสารที่ดีขึ้น ลดความขัดแย้งระหว่างภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม ที่จะมีการแย่งน้ำกันเกิดขึ้น ถ้าตรงไหนมีปัญหาเกิดขึ้นขอให้แจ้งมาได้เลย” นายกฯ กล่าว
นายเศรษฐากล่าวว่า เรื่องการจัดหาแหล่งน้ำ ขุดเจาะเชื่อมโยงถือเป็นเรื่องสำคัญ การลงทุนครั้งนี้ถือเป็นการลงทุนที่ทางเรามั่นใจว่าจะคุ้มค่าและเป็นประโยชน์กับประเทศชาติสูงสุดหากไม่ทำตรงนี้เราจะไม่สามารถยกระดับความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนได้ เราจะไม่สามารถหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางได้ เชื่อว่าอนาคตที่เราจะต้องเดินหน้าต่อไปด้วยกัน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาล ภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานรัฐต้องให้ความสำคัญ
วันนี้การที่ลงพื้นที่ครั้งแรกของตนในอีอีซี ดีใจที่มีทุกส่วนเข้ามา และนั่งรถไฟมาก็มีการพูดคุยในหลายปัญหา เรื่องน้ำเป็นหนึ่งในหลายๆเรื่องที่เราได้มีการยกมาพูดคุยกัน เราจะกลับมาที่นี่อีก 60 วันข้างหน้า เพื่อมาดูเรื่องการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง เรื่องที่ยังไม่ถูกบริหารจัดการ เราให้ความสำคัญเรื่องนี้ ยืนยันการทำงานของรัฐบาลนี้จะทำงานอย่างรวดเร็วฉับพลัน และตอบโจทย์กับพี่น้องประชาชนนักลงทุนต่างชาติมากที่สุด
จากนั้นนายกฯรับฟังสรุประบบท่อส่งน้ำในภาคตะวันออก ของพื้นที่จ.ชลบุรี จ.ระยอง และจ.จันทบุรี รวมทั้งเยี่ยมชมสถานีสูบน้ำหนองปลาไหล โดยมีนายสุริยพล นุชอนงค์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นผู้รายงาน ถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่
โดยนายกฯ ได้นำตัวแทนจากบริษัทวงษ์สยามและบริษัทอิสท์วอเตอร์ มาจับมือกันเพื่อยืนยันความร่วมมือต่อสื่อมวลชน และระบุว่า ปัญหาที่มีในอดีตก็มีการตกลงกันเรียบร้อยทั้งภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม มั่นใจได้ว่าปัญหาจะไม่เกิดขึ้น ซึ่งแหล่งน้ำเป็นเรื่องสำคัญในอดีตทางรัฐบาลมีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำที่จะเพียงพอต่อภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการใช้โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เราเดินทางไปเจราจากับต่างประเทศในเรื่องไฟฟ้าและความเพียงพอในการมีน้ำใช้ของภาคอุตสาหกรรม
นายกฯ ระบุว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรามีปัญหาในการปั๊มน้ำจากแหล่งน้ำต่างๆ และเรื่องของการจัดส่งน้ำที่ภาคเอกชนอาจจะมีความเข้าใจผิดกันเกิดขึ้น แต่ได้แก้ไขปัญหาให้เรียบร้อยแล้ว วันนี้จึงเป็นศักดิ์ศรีพยานว่าได้ข้อยุติในความร่วมมือทั้งสองฝ่ายและจบลงแล้ว โดยทั้งสองฝ่ายยินดีที่จะทำงานร่วมมือกันที่จะก้าวข้ามปัญหาในการขัดแย้งน้ำ นี่เป็นภาพประวัติศาสตร์ระหว่างรัฐบาลและภาคเอกชน เพื่อให้ความมั่นใจกับนักลงทุน และปัญหานี้จะไม่เกิดขึ้นอีกอนาคต
“ผมขอขอบคุณทุกท่านที่เห็นประโยชน์แก่ประเทศชาติเป็นหลัก เรื่องเล็กๆ น้อยๆให้ลืมไป ทุกท่านมาร่วมกันช่วยพัฒนาประเทศไปข้างหน้า ผมขอขอบคุณในนามรัฐบาลไทยไว้ด้วย” นายเศรษฐา กล่าว
ด้านนายสุริยพล นุชอนงค์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ในการลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล 1 ใน 11 อ่างเก็บน้ำ ในโครงข่ายรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ตนได้รายงานสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำในโครงข่ายน้ำ EEC ปัจจุบันมีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 624 ล้าน ลบ.ม. เพียงพอต่อการบริหารจัดการน้ำเพื่อใช้ในช่วงฤดูแล้งนี้ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความมั่นคงด้านน้ำให้กับพื้นที่ EEC
โดยกรมชลประทาน ได้มีกรผันน้ำมาเติมในอ่างเก็บน้ำเพิ่มเติม รวม 130 ล้านลบ.ม.
อาทิ
1. การสูบผันน้ำจากคลองวังโตนด มาเติมอ่างเก็บน้ำประแสร์ ปริมาณน้ำ 5.66 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 100% ของแผน
2. การสูบกลับจากคลองสะพาน มาเติมอ่างเก็บน้ำประแสร์ ปริมาณน้ำ 7.95 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 100% ของแผน
3. การสูบผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ มาเติมอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ และอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล ปริมาณน้ำ 44.23 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 79 % ของแผน
4. การสูบผันน้ำจากคลองพระองค์ฯ มาเติมอ่างเก็บน้ำบางพระ ปริมาณน้ำ 43.60 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 75 % ของแผน
5. การสูบผันน้ำจากคลองพานทอง มาเติมอ่างเก็บน้ำบางพระ ปริมาณน้ำ 2.45 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 75 % ของแผน
6. การสูบผันน้ำจากแม่น้ำบางปะกง มาเติมอ่างเก็บน้ำบางพระ (EW) ปริมาณน้ำ 24.45 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 83 % ของแผน
7. การสูบผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ มาเติมอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล (EW) ปริมาณน้ำ 4.04 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 34 % ของแผน
- อีสท์ วอเตอร์ ปฏิบัติตามคำสั่ง กรมธนารักษ์ยันการส่งมอบ ไม่กระทบผู้ใช้น้ำ
- ปิดจ๊อบท่อส่งน้ำอีอีซี ธนารักษ์เซ็นสัญญา วงษ์สยาม รับเงินเข้ารัฐ 600 ล้านบาท
- อีสท์ วอเตอร์ แจงกรณีศาลปกครองสูงสุดไม่รับคำฟ้อง ลุย 5 มาตรการสกัดแล้งตะวันออก