
ธปท. เปิดข้อมูลผลดำเนินงานแบงก์ ภาพรวมสินเชื่อไตรมาส 3/66 หดตัว 0.9% เหตุภาคธุรกิจทยอยคืนหนี้ ขณะที่ NPL โตเล็กน้อย จากสินเชื่อรายย่อย ชี้ต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของ “SMEs-ครัวเรือน”
วันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 นางสาวอัจจนา ล่ำซำ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบแบบจำลองและวิเคราะห์สถาบันการเงินธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ผลสรุปภาพรวมผลดำเนินงานธนาคารพาณิชย์ ณ ไตรมาส 3 ปี 2566 ว่า ธนาคารพาณิชย์มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ โดยมีเงินกองทุน เงินสำรอง และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง
- เปิด 10 อันดับมหาวิทยาลัยที่มีจำนวนนักศึกษามากที่สุดในประเทศไทย
- วันหยุดเดือนธันวาคม 2566 เช็กวันหยุด วันสำคัญ วันหยุดยาว-หยุดต่อเนื่อง
- โปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชฯ รวมทั้งสิ้น 3,007 ราย
โดยสินเชื่อรวมทั้งระบบหดตัวเล็กน้อยที่ 0.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY) ส่วนหนึ่งเนื่องจากปีก่อนหน้ามีฐานที่ค่อนข้างสูง และ จากการทยอยชำระคืนหนี้ของภาคธุรกิจ หลังเร่งขยายตัวต่อเนื่องเพื่อเสริมสภาพคล่องในช่วงโควิด โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ธุรกิจขนาดใหญ่กลุ่มส่งออกและภาครัฐ ประกอบกับมีการบริหารจัดการคุณภาพหนี้ของธนาคารพาณิชย์ อย่างไรก็ดี สินเชื่อธุรกิจยังขยายตัวได้ในธุรกิจกลุ่มโฮลดิ้ง และก่อสร้าง
ส่วนสินเชื่อรายย่อยขยายตัวชะลอลง คุณภาพสินเชื่อด้อยลงในสินเชื่ออุปโภคบริโภค โดยภาพรวมปริมาณหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากสินเชื่อรายย่อยเป็นสำคัญ ขณะที่สินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (significant increase in credit risk : SICR หรือ stage 2) ลดลงจากไตรมาสก่อนในเกือบทุกพอร์ต ยกเว้นสินเชื่อรถยนต์
ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์ยังบริหารจัดการคุณภาพหนี้และให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (non-performing loan : NPL หรือ stage 3) ไตรมาส 3 ปี 2566 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 494.6 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ 2.70% ขณะที่สัดส่วนสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม stage 2 อยู่ที่ 5.84 % ลดลงจากไตรมาสก่อนที่ 6.08 %
“ยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของ SMEs และครัวเรือนบางกลุ่มที่ยังมีฐานะการเงินเปราะบางจากรายได้ที่ฟื้นตัวช้า โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ไตรมาส 2 ปี 2566 ทรงตัวที่ 90.7 % จากไตรมาสก่อน ขณะที่ภาคธุรกิจมีสัดส่วนหนี้สินต่อ GDP เพิ่มขึ้นเล็กน้อย”
สำหรับผลการดำเนินงานระบบแบงก์ในไตรมาส 3 ปรับดีขึ้น จากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้น แม้ต้นทุนทางการเงินจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินรับฝากและ FIDF Fee กลับสู่ระดับปกติ ขณะที่ค่าใช้จ่ายดำเนินงาน และค่าใช้จ่ายสำรองปรับเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ หากเทียบไตรมาสก่อน กำไรสุทธิปรับลดลง จากการลดลงของรายได้เงินปันผลตามปัจจัยฤดูกาล และกำไร FVTPL ที่ลดลงจากผลขาดทุนจากการขายตราสารอนุพันธ์เป็นสำคัญ
ขณะที่เงินกองทุน (BIS ratio) ขยายตัวอยู่ในระดับสูง ที่ 19.9%, สภาพคล่อง (LCR) อยู่ที่ 196.0% เนื่องจากประมาณการกระแสเงินสดไหลออกมีการปรับลดลง และ เงินสำรอง อยู่ที่ 176.0% ยังทรงตัวได้ในระดับสูงเช่นกัน ส่วนหนึ่งจากธนาคารพาณิชย์มีการสะสมเงินสำรองมาอย่างต่อเนื่องในระดับสูง