การบินไทย เฟ้นประธานบอร์ดใหม่ “ชุมพล” บุคคลในฝันของ “บรรยง”

สปอตไลต์ของการบินไทย ยังฉายจับอยู่ที่ รายชื่อบอร์ดบริหาร บมจ.การบินไทยชุดใหม่ และบุคคลที่จะถูกเลือกเข้ามาเป็น “ผู้บริหารแผนฟื้นฟู” หลังนำกิจการเข้าสู่กระบวนการของศาลล้มละลาย

หลังจากผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2563 ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม แจ้งให้สาธารณชน รับทราบการตัดสินใจของคณะรัฐมนตรี ว่าเลือกที่จะ “ให้การบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการในศาลล้มละลาย”

โดยตัดข้อเสนอ 2 ข้อออกไปคือ 1.ใส่เงินกู้ 54,000 ล้านบาท พร้อมเตรียมเพิ่มทุน 80,000 ล้านบาท และ 2. ปล่อยให้เข้าสู่สถานการณ์ล้มละลาย

โดยมี 10 ขั้นตอน ในการเข้าสู่กระบวนการของศาลล้มละลาย

ขั้นตอนหลังจากนี้ การบินไทยจะต้องยื่นขอฟื้นฟูกิจการจากศาลล้มละลาย ตั้งคณะทำงานเจรจากับเจ้าหนี้ ประชุมเจ้าหนี้ เพื่อตรวจบัญชีลูกหนี้ หากศาลรับฟื้นฟู การบินไทยจะได้รับคุ้มครองพักชำระหนี้ ซึ่งการบินไทยจะต้องตั้งคณะเจรจากับเจ้าหนี้ทั้งไทยและต่างประเทศ เพื่อแสดงให้เห็นว่าแผนฟื้นฟูสามารถทำให้ฐานะการเงินของการบินไทยกลับมาแข็งแกร่งได้ จากนั้นศาลจะนัดไต่สวน เพื่อตั้งผู้บริหารแผนต่อไป

ขณะเดียวกันกระทรวงการคลังจะลดสัดส่วนถือหุ้นการบินไทยลงต่ำกว่า 50 % พ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ และเปลี่ยนบอร์ดบริหารใหม่

ขั้นตอนผู้บริหารแผนนั้น นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุไว้ชัดเจนว่า “ในการตั้งผู้บริหารแผนฟื้นฟู พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบให้กระทรวงคมนาคม เป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งอยู่ในระหว่างทาบทามที่บุคคลที่เหมาะสมประมาณ 15 รายชื่อ แต่จะมีชื่อนายจรัมพร โชติกเสถียร อดีตดีดีการบินไทย หรือนายชาติชาย พยุหนาวีชัย เอ็มดีธนาคารออมสินหรือไม่นั้น ขอให้เป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้ตัดสินใจ แต่คนที่เข้ามาจะต้องเป็นคนที่เป็นมืออาชีพและทุกคนยอมรับ”

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2563 นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน และอดีตกรรมการ (บอร์ด บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์ใน สำนักข่าวออนไลน์ The standard  กรณีการแก้ปัญหาขาดทุนบมจ.การบินไทย ไว้ว่า…

“บุคคลในฝันที่ผมอยากให้มาเป็นประธานการบินไทย คือ คนไทยที่ได้รับเชิญให้ไปเป็นกรรมการ British Airway Public Company Limited อยู่หลายปี (2548-2552) นอกจากนี้ยังถูกเชิญให้ไปเป็นประธานกรรมการ บริษัทสิงคโปร์ เทเลคอมมูนิเคชั่น จำกัด ประจำประเทศสิงคโปร์ด้วย”

“แต่ผมว่าท่านไม่ยอมมา คุณไปเช็กเอง ไปหาเอง เป็นคนไทย เป็นนักบริหารที่เก่งมาก ๆ อัจฉริยะ ถูกเชิญให้ไปเป็นกรรมการ British Airway อยู่หลายปี เมืองนอกเขาไม่ติดยึดเรื่องเชื้อชาติ สัญชาติ”

นายบรรยงกล่าวด้วยว่า British Airway แม้จะเป็นสายการบินแห่งชาติ แต่รัฐบาลอังกฤษถือหุ้นศูนย์เปอร์เซ็นต์ แต่เป็นสายการบินของประชาชน และประชาชนไม่จำเป็นต้องเป็นคนอังกฤษ ใครก็ได้ เป็นของตลาด

บุคคลที่นายบรรยง กล่าวถึง นั้นอาจจะชื่อ “นายชุมพล ณ ลำเลียง” ก็เป็นได้

เพราะประวัติของ นายชุมพล ณ ลำเลียง ปัจจุบันเป็นกรรมการอิสระ กรรมการบรรษัทภิบาลและสรรหา กรรมการพิจารณาผลตอบแทนของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (Siam Cement Group : SCG) เข้ารับตำแหน่งกรรมการเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2535

เคยเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ในปี 2536-2548   และเป็นกรรมการ British Airways Public Company Limited ในปี 2548-2552 และเป็นประธานกรรมการ บริษัทสิงคโปร์ เทเลคอมมูนิเคชั่น จำกัด ประเทศสิงคโปร์ ในปี 2547-2554

ทั้งนี้หัวใจของการพลิกโฉมการบินไทย ครั้งประวัติศาสต์ คือ  บุคคลที่จะถูกเลือกเข้ามาเป็น  “ผู้บริหารแผนฟื้นฟูการบินไทย”  ซึ่งขณะนี้ฝ่ายการเมืองยังต่อรองกันว่า จะเสนอใครบ้าง โดยหลักการ จะต้องเป็นผู้ที่ “เจ้าหนี้” ยอมรับ และ ต้องทราบรายละเอียดสัญญาต่าง ๆ ที่ทำไว้กับเจ้าหนี้แต่ละรายเป็นอย่างดี

ขณะที่เจ้าหนี้ของการบินไทย รายใหญ่สุดคือหนี้ซื้อเครื่องบิน ประมาณ 1.4 แสนล้านบาท ซึ่งจะครบดีลกว่า 4 หมื่นล้านบาท ในปี 2563 นี้

การทำ Due diligence (การตรวจสอบวิเคราะห์สถานะ) ต้องทำออกมาอย่าง “มืออาชีพ” ผู้ทำแผนจะต้องระบุถึงแนวทางการ Hair Cut (การเจรจาต่อรองกันระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้) ที่จะต้องดำเนินการเมื่อเข้าสู่แผนฟื้นฟู

รายชื่อว่าที่ “ผู้บริหาร” แผนฟื้นฟูการบินไทย ที่อยู่ในสปอตไลต์ ขณะนี้ คือ มืออาชีพที่มีข่าวว่าอยู่ในระหว่างการทาบทาม ประกอบด้วย

1.นายเทวินทร์ วงศ์วานิช อายุ 62 ปี อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท.

2.นายจรัมพร โชติกเสถียร อายุ 63 ปี อดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินไทย

3.นายชาติชาย พยุหนาวีชัย อายุ 59 ปี ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ผที่กำลังจะครบวาระ)

4.นายชาญศิลป์ ตรีนุชการ อายุ 60 ปี อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท.