ปิดทองหลังพระ แก้ว่างงานจากโควิด-19 โชว์โมเดล 3 จังหวัดอีสาน

ปิดทองหลังพระ ลงพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ เผย 3 จังหวัดอีสาน จังหวัดอีสานต้นการพัฒนาแบบควบคู่การช่วยบรรเทาผลกระทบโควิด-19 ได้ทั้งการฟื้นฟูแหล่งข่าวบรรเทาภัยแล้ง จ้างคนตกงาน 358 ตำแหน่ง “กาฬสินธุ์” เตรียมนำไปขยายผลตามโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้าน

เมื่อวันที่ 1-2 กรกฏาคม 2563 ที่ผ่านมา สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ ได้ลงพื้นที่ต้นแบบในการพัฒนา ร่วมกับคณะที่ปรึกษาของสถาบันฯ โดยได้หารือร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และผู้นำชุมชน เพื่อโฟกัสการแก้ปัญหาการตกงาน ที่เป็นผลกระทบจากโควิด-19 และภัยแล้ง

นายประสิทธิ์ โอสถานนท์ ที่ปรึกษาสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ กล่าวว่า จากที่หลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยประสบกับปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) และประชาชนจำนวนมากต้องตกงาน แรงงานที่เคยทำงานในเมืองใหญ่เดินทางกลับถิ่นฐานเป็นจำนวนมาก ซึ่งซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำและภัยแล้งที่มีอยู่เดิมแล้วให้รุนแรงขึ้น ที่ประชุมคณะกรรมการของมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ จึงมีแนวนโยบายให้สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ ดำเนินกิจกรรมด้านการพัฒนาที่เป็นงานหลักอยู่แล้วควบคู่ไปกับการช่วยเหลือประชาชนไปพร้อมกัน

ประสิทธิ์ โอสถานนท์

สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ จึงเริ่มโครงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฐานรากเพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาวะว่างงานจากโควิด-19 ใน 3 จังหวัดพื้นที่ต้นแบบภาคอีสาน อุดรธานี ขอนแก่น และกาฬสินธุ์ ในรูปแบบการทำงานที่เรียกว่า 4 ประสาน 3 ประโยชน์ เกิดโครงการทั้งด้านการพัฒนาแหล่งน้ำและสร้างอาชีพรวม 107 โครงการ ครอบคลุมพื้นที่ 43 อำเภอของ 3 จังหวัด เงินลงทุน 48.8 ล้านบาท

โครงการแก้ปัญหาผลกระทบโควิด-19 ในจังหวัดต้นแบบดังกล่าว มีการจ้างคนตกงาน ณ วันที่ 28 มิ.ย. 2563 รวม 358 ราย แบ่งเป็น อุดรธานี 83 ราย ขอนแก่น 145 ราย และกาฬสินธุ์ 130 ราย ครัวเรือนรับประโยชน์ 5,320 ครัวเรือน พื้นที่รับประโยชน์ 30,990 ไร่ ปริมาณน้ำเพื่อการเกษตรเพิ่มขึ้น 23.7 ล้านลูกบาศก์เมตร

นายประสิทธิ์กล่าวว่า การทำงานแบบ 4 ประสานคือการประสานระหว่าง 1.ประชาชน คือชาวบ้าน เกษตรกร ผู้เข้าร่วมโครงการ เน้นให้เกิดการมีส่วนร่วมเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน 2.ราชการ ทั้งส่วนกลาง จังหวัดและท้องถิ่น 3.ภาคเอกชน ที่เข้าช่วยเรื่ององค์ความรู้ เทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่ช่องทางการจำหน่ายและการตลาด และ 4.ปิดทองหลังพระฯ เป็นผู้ประสานงาน วางแนวทางการปฏิบัติงานในพื้นที่ วางเกณฑ์การคัดเลือกคนว่างงานที่ตรงกับเป้าหมาย คัดเลือกโครงการที่จำเป็นและเกิดประโยชน์

ส่วน 3 ประโยชน์ คือ ประโยชน์แรกคือแหล่งน้ำ มีการฟื้นฟูและพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก พัฒนาระบบกระจายน้ำ ประโยชน์ที่ 2 คือการสร้างอาชีพ การทำเกษตรแบบประณีต ทันสมัยสอดคล้องกับความต้องการของตลาด ช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร และประโยชน์ที่ 3 เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ ในชุมชน เพื่อการประกอบอาชีพเป็นทางเลือกบรรเทาปัญหาการว่างงาน

“สถาบันปิดทองหลังพระฯ หวังที่จะให้รูปแบบการทำงานที่สำเร็จเป็นรูปธรรมของจังหวัดกาฬสินธุ์ถูกนำไปเป็นแนวทางที่จะขยายผลโครงการไปสู่พื้นที่อื่นของจังหวัด รวมถึงในจังหวัดอื่นๆ โดยเฉพาะในส่วนแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังโควิด-19 ของรัฐบาล” นายประสิทธิ์กล่าว

นายชัยธวัช เนียมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ในช่วงการแพร่ระบาดอของโรคโควิด-19 มีชาวกาฬสินธุ์ที่เดินทางกลับภูมิลำเนาประมาณ 37,000 คน ซึ่งแม้จะมีการคลายล็อกไปแล้ว 5 เฟส แต่คาดว่าจะสามารถกลับไปทำงานไม่ถึง 20% ดังนั้นทางจังหวัดจำเป็นต้องมีแผนรองรับแรงงานที่กลับคืนถิ่นเหล่านี้ ไม่เช่นนั้นมีปัญหาอื่นๆ ตามมา โดยเฉพาะปัญหาอาชญากรรม

ชัยธวัช เนียมศิริ

ทั้งนี้ ทางจังหวัดกาฬสินธุ์มีการพัฒนาแหล่งน้ำและอาชีพตามโครงพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฐานรากบรรเทา ผู้ตกงานโควิด-19 ซึ่งร่วมกับปิดทองหลังพระฯ รวม 37 โครงการ ใน 13 อำเภอ งบประมาณลงทุน 21.3 ล้านบาท ผู้รับประโยชน์ 2,110 ครัวเรือน พื้นที่รับประโยชน์ 9,820 ไร่ ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 13.8 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งโครงการนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้ประชาชนในพื้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้น และจะเป็นต้นแบบที่ทางจังหวัดนำไปขยายผลในโครงการอื่นๆ และพื้นที่ต่างๆ ในจังหวัด รวมถึงโครงการที่จังหวัดได้เสนอโครงการเพื่อของบประมาณในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด-19 วงเงิน 4 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท

นายชัยธวัชกล่าวว่า จังหวัดกาฬสินธุ์มีจุดเด่นอยู่หลายด้าน ทั้งการเป็นพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญทั้งข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา มีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญระดับโลก มีความหลาหลายทางชาติพันธุ์ และมีผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยเฉพาะผ้าไหมแพรวาที่มีชื่อเสียง แต่ในพื้นที่ประชาชนยังมีปัญหาความยากจน โดยจีดีพีของจังหวัดยังอยู่ลำดับที่ 61 ของประเทศไทย ซึ่งเป็นประเด็นที่ทางจังหวัดจะต้องหาแนวทางแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขระบบการกระจายน้ำให้ทั่วถึง การผนวกระหว่างภาคการเกษตรกับการท่องเที่ยวเพื่อเพิ่มรายได้ให้ชุมชน

งบประมาณจากมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท จะมีส่วนสำคัญในการวางโครงสร้างพื้นฐานให้คนในท้องถิ่นเข้มแข็ง โดยทางจังหวัดได้เสนอของบประมาณไปทั้งหมด 2,012 โครงการ วงเงิน 9,000 ล้านบาท โดย 55% เป็นโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐาน จากทั้งหมดที่เสนอทราบว่าผ่านการอนุมัติของคณะกรรมการกลั่นกรองแล้ว 23 โครงการ รวม 63 ล้านบาท

นางธนิกา โคตรเสนา ผู้ใหญ่บ้านบัวสามัคคี ต.แซงบาดาล อ.สมเด็จ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า โครงการซ่อมแซมฝายทดน้ำห้วยปอ ของบ้านบัวสามัคคี เป็น 1 ใน 37 โครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่ปิดทองหลังพระฯ และหน่วยงานต่างๆ เข้ามาสนับสนุน โดยฝายแห่งนี้กรมชลประทานก่อสร้างให้มาตั้งแต่ปี 2531 และมีการชำรุดไม่มีงบประมาณเข้ามาซ่อมแซมตั้งแต่ปี 2551 แต่โครงการนี้ที่ปิดทองหลังพระฯ เข้ามาสนับสนุนงบประมาณในการซื้อวัสดุและให้คนในชุมชนลงแรงเองนั้น ได้ทำให้เกิดการแรงร่วมใจของคนในพื้นที่ มีผู้ได้รับการจ้าง บรรเทาปัญหาภัยแล้ง เมื่อซ่อมฝายสำเร็จมีน้ำเข้าถึงแปลงเกษตร ส่งผลดีกับการเพาะปลูก

ธนิกา โคตรเสนา

นายอิสระ ขันธ์ปรึกษา นายช่างโยธาชำนาญงานเทศบาล ต.แซงบาดาล อ.สมเด็จ กล่าวว่า ฝายห้วยปอเป็นฝายที่มีขนาดหน้ากว้าง 18 เมตร จุน้ำได้ประมาณ 36,000 ลบ.ม. รวมถึงการติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เข้าสู่แปลงเกษตร มีประชาชนได้รับประโยชน์ 2 หมู่บ้านพื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 91 ไร่ ทำให้ประชาชนของหมู่บ้านอื่นเห็นประโยชน์ของโครงการเริ่มเข้ามาให้ความร่วมมือมากขึ้น ทั้งการสละแรงงาน สละเงินทุนสบทบ ร่วมกันปรับปรุงฝายตัวอื่น ๆ จาก 1 ฝาย เพิ่มเป็น 5 ฝาย และอำเภอใกล้เคียงเข้าร่วมช่วยทำฝายเพิ่มอีก 2 ฝาย จนทำให้ห้วยปอมีฝายครบตลอดลำน้ำ รวม 7 ฝาย ซึ่งจะมีส่วนสำคัญทั้งชะลอน้ำในฤดูน้ำหลากซึ่งน้ำที่ไหลลงมาจากเทือกเขาภูพานที่เร็วและแรงได้ และสามารถเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อการเพาะปลูกได้มากขึ้น

อิสระ ขันธ์ปรึกษา

นายวุฒิพงษ์ องคะศาสตร์ พนักงานประสานงานโครงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฐานรากเพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ก่อนหน้าที่จะเข้าร่วมโครงการกับปิดทองหลังพระฯ ได้ทำงานเป็นวิศวกรของโรงงานอุตสาหกรรมแห่งหนึ่งในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จ.ระยอง แต่โรงงานหยุดการผลิตไปในช่วงมีปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  จึงได้กลับภูมิลำเนาที่กาฬสินธุ์ และได้รับการจ้างงานตามโครงการ ซึ่งหลังจากนี้คงไม่กลับไปทำงานโรงงานอีก แต่จะหาช่องทางประกอบอาชีพทางการเกษตร โดยนำองค์ความรู้จากที่ทำงานเดิมมาปรับกับการเกษตรเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และมีรายได้ที่สูงขึ้นต่อไป

วุฒิพงษ์ องคะศาสตร์