ศบค.เตรียมฉีดวัคซีนเข็ม 3 นำร่องกลุ่มแพทย์ที่ฉีดซิโนแวคแล้ว 2 เข็ม

ศ.เกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร์ ที่ปรึกษา ศบค.

ศบค.เตรียมฉีดบูสเตอร์โดส (เข็ม 3) ให้คนที่ฉีดซิโนแวคแล้ว 2 เข็ม นำร่องบุคลากรแพทย์ 7 แสนคน รองลงมาคือกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ระหว่างที่รอวัคซีนเจเนอเรชั่นใหม่ ครอบคลุมการป้องกันสายพันธุ์กลายพันธุ์

วันที่ 6 กรกฎาคม 2564 เวลา 09.00 น. ที่กระทรวงสาธารณสุข ศ.เกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร์ ที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. แถลงเกี่ยวกับประเด็นฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็ม 3 หรือ “บูสเตอร์โดส” และกลุ่มผู้ที่ต้องฉีด

ศ.เกียรติคุณ นพ.อุดม กล่าวว่า ช่วง 2 สองเดือนที่ผ่านมา เชื้อโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่มีการระบาดทั่วโลกกว่า 96 ประเทศคือ ไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลต้า (สายพันธุ์อินเดีย) ส่วนสายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศไทยประมาณ 85-90% เป็นสายพันธุ์อัลฟ่า (สายพันธุ์อังกฤษ) แต่ช่วง มิ.ย.-ถึง ก.ค.ที่ผ่านมา มีสายพันธุ์เดลต้าระบาดด้วย

“เราคาดการณ์ว่าอีก 1-2 เดือนข้างหน้า โควิด-19 ที่ระบาดในประเทศไทยจะเป็นสายพันธุ์เดลต้าเกือบทั้งหมด เพราะเชื้อกระจายเร็วกว่าสายพันธุ์อัลฟ่าประมาณ 40% ซึ่งจะส่งผลให้เรามีผู้ป่วยที่ต้องจ่ายออกซิเจนเร็วขึ้น เพราะเกิดปอดอักเสบเร็วขึ้นเพียงใน 3-5 วัน”

ฉะนั้น โรงพยาบาลต้องการเตียงและห้องไอซียูเพิ่มขึ้นอย่างมาก และตอนนี้จำนวนเตียงเหลือน้อยมาก โดยเฉพาะเตียงผู้ป่วยกลุ่มสีแดง และถ้าปล่อยให้สถานการณ์เป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ระบบสาธารณสุขจะอยู่ไม่ได้

ศ.เกียรติคุณ นพ.อุดม อธิบายว่า การกลายพันธุ์ของไวรัสคือเรื่องปกติ เป็นการปรับตัวของไวรัสเพื่อการอยู่รอด แต่ปัญหาที่สำคัญคือ ทำให้ดื้อต่อภูมิที่เกิดจากวัคซีน นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่เราจะต้องคำนึงเวลาจะสั่งซื้อวัคซีนในอนาคต

ถึงแม้วัคซีนซิโนแวคจะป้องกันสายพันธุ์เดลต้าไม่ได้ แต่ซิโนแวค 2 เข็มสามารถป้องกันไม่ให้เจ็บป่วย หรือทำให้ไม่ต้องไปโรงพยาบาล หรือไม่เสียชีวิต ได้มากกว่า 90% จากข้อมูลของหลายประเทศที่ใช้ซิโนแวค รวมทั้งประเทศไทยที่เก็บข้อมูลที่ภูเก็ตที่มีการใช้ซิโนแวคเยอะที่สุด

“ดังนั้น การช่วยกันฉีดวัคซีนจะส่งผลให้มีเตียงพอ จากที่เหลือเพียงวันละ 20-30 เตียง รวมถึงเป็นการช่วยผ่อนภาระของบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งบุคลากรไม่พอ ตอนนี้ทำงานกันหนักจริง ๆ และไม่มีขวัญกำลังใจเพราะมีผู้ป่วยใหม่มากขึ้น และผู้เสียชีวิตมากขึ้น”

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ทั่วโลกกำลังหาวัคซีนเจเนอเรชั่นใหม่ที่ครอบคลุมการป้องกันสายพันธุ์กลายพันธุ์ทั้งหลาย ไม่ว่าเป็นแอสตร้าเซนเนก้า ไฟเซอร์ โมเดอร์นา และซิโนแวค ต่างกำลังทำวัคซีนเจนเนอร์เรชั่นใหม่ คาดว่าจะสำเร็จอย่างเร็วที่สุดปลายปี 2564 หรือต้นปี 2565

เพราะฉะนั้นระหว่างที่รอวัคซีนเจเนอเรชั่นใหม่ เราต้องหาทางแก้ไข นั่นคือการให้บูสเตอร์โดส หรือเข็มกระตุ้น ซึ่งผมยังไม่อยากเรียกว่าเข็มที่ 3 เพราะตอนนี้ยังไม่มีแนวทางที่เป็นทางการจาก WHO หรือประเทศใด ๆ ว่าต้องฉีดเข็มที่ 3 แต่ได้จัดให้เป็นทางเลือกเท่านั้น เพื่อทำให้ภูมิร่างกายเพิ่มขึ้น เพราะภูมิร่างกายจะตกลงช่วง 3-6 เดือน ซึ่งคณะกรรมการได้คุยเรื่องนี้กันมา 2-3 เดือนแล้ว และที่ผ่านมามีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) และบาห์เรน ทำการฉีดบูสเตอร์โดสแล้ว โดย 2 เข็มแรกในประเทศนั้นเป็นซิโนแวค เข็มที่ 3 เป็นซิโนฟาร์ม เพราะมีการศึกษาว่าควรฉีดเข็มกระตุ้นสลับชนิดวัคซีน ส่วนไทยโดยทางกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ ศิริราช และจุฬาฯ กำลังศึกษาเรื่องนี้ คาดว่า 1 เดือนจะทราบผล

ศ.เกียรติคุณ นพ.อุดม บอกว่า การใช้บูสเตอร์โดสไม่ได้ใช้สำหรับทุกคน แต่จะเริ่มให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานด่านหน้า หรือผู้ที่ต้องสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 7 แสนคน รองลงมาคือกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ทั้งโรคหัวใจ โรคมะเร็ง ผู้ที่ได้ยากดภูมิคุ้มกัน เป็นต้น ส่วนวัคซีนที่จะใช้กระตุ้นอาจเป็นแอสตร้าฯ หรือไฟเซอร์ที่จะเข้ามา 1.5 ล้านโดส แต่แนวทางขอให้รอผลการศึกษาให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะมีการประชุมกันวันศุกร์ที่ 9 ก.ค. 2564


“เนื่องจากตอนนี้เรามีข้อมูลเพิ่มขึ้น เราพบว่าภูมิต้านทานตกลงอย่างรวดเร็ว หลัง 3-6 เดือนหลังจากติดเชื้อ บางคนพบว่าไม่มีภูมิต้านทานขึ้นเลย บางคนเจ็บป่วยรุนแรง ใส่เครื่องช่วยหายใจ 40-50 วัน เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เรียกว่าจะเอาชีวิตไม่รอด ก่อนเดินทางกลับจากโรงพยาบาลศิริราช เราตรวจหาภูมิต้านทาน พบว่าภูมิต้านเป็นศูนย์ ไม่มีภูมิต้านทานเลย มันเป็นอย่างนี้ เพราะมีหลายอย่างที่เราไม่รู้เนื่องจากเป็นไวรัสใหม่ที่เราไม่เคยรู้มาก่อน ก่อนกลับเราได้ฉีดวัคซีนให้ท่านไปด้วย อย่างไรก็ตามการฉีดวัคซีนมีภูมิต้านทานขึ้นแน่ มากบ้างน้อยบ้างตามชนิดวัคซีน แต่สำคัญคือมันปกป้องท่านได้ อย่าไปกังวลว่ามากหรือน้อย” ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม กล่าว