รู้จัก วัคซีน mRNA ที่คนไทยเรียกร้อง

วัคซีนโควิด

วัคซีนชนิด mRNA ปลุกกระแสเรียกร้องจากหลายฝ่าย ด้วยผลการศึกษาประสิทธิภาพที่สูงมากกว่า 90% สามารถป้องกันโควิดกลายพันธุ์ได้

วัคซีนชนิด mRNA กำลังถูกเป็นที่พูดถึง เมื่อเกิดโควิดกลายพันธุ์ที่มีประสิทธิภาพในการแพร่กระจายสูงขึ้น โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) จึงทำให้หลายฝ่ายออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลไทยนำเข้าวัคซีนชนิดดังกล่าว เนื่องจากวัคซีนที่ใช้อยู่ (ซิโนแวค-แอสตร้าเซนเนก้า) ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้อย่างเต็มที่

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนชนิด mRNA ถึงการทำงานของวัคซีนดังกล่าว รวมถึงประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด-19 ดังนี้

วัคซีนชนิด mRNA คืออะไร

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลไว้ว่า วัคซีนชนิดสารพันธุกรรม ได้แก่ วัคซีนดีเอ็นเอ (DNA) หรือเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยขณะนี้มี 2 ชนิด ได้แก่ วัคซีนของไฟเซอร์และโมเดอร์นา

ข้อดี วัคซีนชนิด mRNA

  • สามารถผลิตวัคซีนได้ง่าย รวดเร็ว
  • สามารถปรับปรุงวัคซีนเพื่อรองรับสายพันธุ์หากมีการกลายพันธุ์ได้ง่าย
  • แม้จะมีข้อมูลเกี่ยวกับการแพ้ และเป็นเทคนิคการผลิตวัคซีนแบบใหม่ ที่ยังไม่เคยใช้ในการผลิตวัคซีนตัวอื่น ทำให้มีความกังวลเรื่องความปลอดภัยระยะยาว แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาอันสั้น ได้มีการนำไปใช้แล้วกว่า 100 ล้านโดส ทำให้มีประสบการณ์การใช้อย่างรวดเร็ว ที่ทำให้มั่นใจถึงความปลอดภัยได้

ข้อจำกัด วัคซีนชนิด mRNA

  • ต้องเก็บรักษาวัคซีนที่อุณหภูมิต่ำมาก เนื่องจาก mRNA ถูกทำลายได้ง่าย
  • ต้องอาศัยนาโนพาร์ติเคิล (Nanoparticle) ซึ่งเป็นสารที่นำมาห่อหุ้มป้องกัน และเป็นตัวนำพา mRNA สารนี้อาจกระตุ้นการแพ้รุนแรงได้

การทำงานของวัคซีนชนิด mRNA ในร่างกาย

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้ให้ข้อมูลการทำงานของวัคซีนชนิด mRNA ไว้ว่า เป็นการนำเอาชิ้นส่วนสารพันธุกรรมของเชื้อโควิด- 19 (mRNA) ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสร้างโปรตีนส่วนที่เป็นปุ่มหนามของเชื้อไวรัส (Spike protein) นำมาสังเคราะห์เป็นรหัสคำสั่งที่เรียกว่า S-spike mRNA

เมื่อฉีดวัคซีนชนิด mRNA เข้าสู่ร่างกายจะทำให้เซลล์ในร่างกายผลิตโปรตีนส่วนที่เป็นปุ่มหนามของไวรัสขึ้น และโปรตีนที่ผลิตในส่วนนี้เองจะทำหน้าที่เป็นตัวกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (Antigen) ให้ร่างกายรู้จักกับเชื้อโรคโควิด-19 และสร้างภูมิคุ้มกัน (Antibody) เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตจากโรคโควิด-19

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนชนิด mRNA ผ่านคอลัมน์ Healthy Aging บนเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2564 โดยอ้างอิงจาก Derrick Rossi ผู้เชี่ยวชาญชื่อดังแห่งคณะ Stem Cell and Regenerative Biology ของ Harvard Medical School และเป็นผู้หนึ่งที่มีส่วนในการก่อตั้งบริษัท Moderna ที่คาดการณ์ว่า ในอนาคตอีก 10-20 ปีข้างหน้า การผลิตวัคซีนเพื่อรักษาโรคติดต่อเกือบทุกชนิดน่าจะต้องอาศัย mRNA technology

ไฟเซอร์-โมเดอร์นา วัคซีนชนิด mRNA

วัคซีนไฟเซอร์

วัคซีนไฟเซอร์ ประเทศผู้ผลิต คือ สหรัฐอเมริกา โดยบริษัท BioNTech/Pfizer มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด-19 ที่มีอาการโดยรวม ร้อยละ 95 มีคำแนะนำให้ฉีดกลุ่มอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป โดยเว้นระยะห่างระหว่างเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 ห่างกัน 3 สัปดาห์ และต้องเก็บรักษาที่อุณหภูมิ -60 ถึง -80 องศาเซลเซียส

วัคซีนโมเดอร์นา 

วัคซีนโมเดอร์นา ประเทศผู้ผลิต คือ สหรัฐอเมริกา โดยบริษัท Moderna มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด-19 ที่มีอาการโดยรวม ร้อยละ 94.1 ส่วนประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรงโดยรวม ร้อยละ 100 โดยมีคำแนะนำให้ฉีดกลุ่มอายุ 18 ปีขึ้นไป โดยเว้นระยะห่างระหว่างเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 ห่างกัน 4 สัปดาห์ หรือ 1 เดือน และต้องเก็บรักษาที่อุณหภูมิ -25 ถึง -15 องศาเซลเซียส (เก็บได้นาน 30 วัน)

วัคซีนโควิด ChulaCov19 เทียบ ไฟเซอร์-โมเดอร์นา

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้พัฒนาวัคซีน “ChulaCov19” วัคซีนชนิด mRNA ซึ่งมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับวัคซีนไฟเซอร์และโมเดอร์นา โดย ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม และได้รับการยกย่องจาก www.nature.com เว็บไซต์วารสารวิทยาศาสตร์ชื่อดังของโลก

จุดเด่นของวัคซีน ChulaCov19

  1. จากการทดสอบความทนต่ออุณหภูมิของวัคซีน พบว่าวัคซีน ChulaCov19 สามารถอยู่ในอุณหภูมิตู้เย็น (2-8 องศาเซลเซียส) ได้นานถึง 3 เดือน และเก็บในอุณหภูมิห้อง (25 องศาเซลเซียส) ได้นาน 2 สัปดาห์ ซึ่งทำให้การจัดเก็บรักษาง่ายกว่าวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ยี่ห้ออื่น เป็นอย่างมาก
  2. ผลการทดสอบในสัตว์ผ่านเกณฑ์ดีมาก จากการทดลองในหนูทดลองชนิดพิเศษที่ออกแบบให้สามารถเกิดโรคโควิด-19 ได้ พบว่า เมื่อหนูได้รับการฉีดวัคซีน ChulaCov19 ครบ 2 เข็ม ห่างกัน 3 สัปดาห์ แล้วให้หนูทดลองได้รับเชื้อโควิด-19 เข้าทางจมูก สามารถป้องกันหนูทดลองไม่ให้ป่วยเป็นโรคและยับยั้งไม่ให้เชื้อไวรัสเข้าสู่กระแสเลือด รวมทั้งสามารถลดจำนวนเชื้อในจมูกและในปอดลงไปอย่างน้อย 10,000,000 เท่า เมื่อทดสอบความเป็นพิษก็พบว่าปลอดภัยดี ส่วนหนูที่ไม่ได้รับวัคซีนจะเกิดอาการป่วยโควิด-19 ภายใน 3-5 วัน และทุกตัวมีเชื้อสูงในกระแสเลือด ในจมูก และปอด เป็นจำนวนมาก
  3. วัคซีนชนิด mRNA สามารถผลิตได้เร็ว ไม่ต้องรอเพาะเลี้ยงเชื้ออย่างวัคซีนบางชนิด แต่วัคซีนชนิด mRNA เพียงรู้สายพันธุ์ของเชื้อก็ไปออกแบบวัคซีนได้ สังเคราะห์ในหลอดทดลอง ไม่เกิน 4 สัปดาห์มีวัคซีนมาทดสอบในหนูได้ การที่ผลิตได้รวดเร็วนี้ ทำให้ไม่ต้องใช้โรงงานขนาดใหญ่ นอกจากนี้ เมื่อเกิดเชื้อกลายพันธุ์ก็สามารถสังเคราะห์วัคซีนได้เร็วเช่นกัน