เปิด 4 วัคซีนโควิด พัฒนาจากแพทย์-นักวิจัยไทย

วัคซีนโควิด

รองโฆษกรัฐบาล เผยความคืบหน้า 4 โครงการพัฒนาวัคซีนโควิดโดยแพทย์-นักวิจัยชาวไทย

วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊กถึงความคืบหน้าของ 4 โครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ที่ผลิตโดยทีมแพทย์และนักวิจัยชาวไทย มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

วัคซีน NDV-HXP-S

โครงการศึกษาวิจัยระยะที่ 1/2 เพื่อประเมินความปลอดภัย และความสามารถในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของวัคซีน NDV-HXP-S ในประเทศไทย โดยองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ร่วมกับศูนย์วัคซีน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล เริ่มฉีดอาสาสมัครเมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2564 ที่ผ่านมา

วัคซีน NDV-HXP-S มีจุดเด่น คือ โรงงานขององค์การเภสัชกรรม มีความพร้อมในการผลิตระดับอุตสาหกรรม โดยไม่ต้องลงทุนสร้างโรงงานใหม่ ใช้เทคโนโลยีเดียวกันกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ และได้รับความร่วมมือระดับนานาชาติจากองค์กร PATH ในการสนับสนุนกล้าเชื้อไวรัส การให้คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ และร่วมกันวิจัยจากผู้ผลิตจากประเทศเวียดนามและบราซิล

วัคซีน ChulaCov19

โครงการพัฒนา mRNA วัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา SARS-CoV-2 โดยศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นวัคซีนชนิด mRNA ที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตเช่นเดียวกับวัคซีนไฟเซอร์ และวัคซีนโมเดอร์นา

ผลศึกษาการทดลองใน “หนู และ ลิง” พบว่า มีการกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีในระดับสูง ช่วยยับยั้งการติดเชื้อในสัตว์ทดลองได้ เริ่มการศึกษาในมนุษย์ เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2564 ที่ผ่านมา และทดสอบระยะที่ 1 ใช้อาสาสมัครจำนวน 72 คน

วัคซีน ChulaCov19 มีจุดเด่น คือ สามารถอยู่ในอุณหภูมิตู้เย็น (2-8 องศาเซลเซียส) นานถึง 3 เดือน และเก็บในอุณหภูมิห้อง (25 องศาเซลเซียส) ได้นาน 2 สัปดาห์

จากการทดลองในหนูทดลองชนิดพิเศษที่ออกแบบให้สามารถเกิดโรคโควิด-19 ได้ พบว่า เมื่อหนูได้รับการฉีดวัคซีน ChulaCov19 ครบ 2 เข็ม ห่างกัน 3 สัปดาห์ แล้วให้หนูทดลองได้รับเชื้อโควิด-19 เข้าทางจมูก สามารถป้องกันหนูทดลองไม่ให้ป่วยเป็นโรคและยับยั้งไม่ให้เชื้อไวรัสเข้าสู่กระแสเลือด รวมทั้งสามารถลดจำนวนเชื้อในจมูกและในปอดลงไปอย่างน้อย 10,000,000 เท่า มีความปลอดภัยในสัตว์ทดลอง วัคซีนชนิด mRNA ยังสามารถปรับแต่งวัคซีนต้นแบบตามพันธุกรรมของเชื้อกลายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว

วัคซีนโควิเจน

โครงการพัฒนาและผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิด DNA หรือวัคซีนโควิเจน ผลิตโดยบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด ผลการทดสอบในหนูทดลองพบว่า วัคซีนมีความปลอดภัย และสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีมาก

ขณะนี้อยู่ระหว่างการยื่นขออนุมัติกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อทดสอบในมนุษย์ในระยะที่ 1 และคาดว่าจะวิจัยในคนระยะที่ 2 และ 3 ในปีนี้ (ข้อมูลเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 64) โดยมีแผนการทดสอบในมนุษย์ในระยะที่ 1 ในประเทศออสเตรเลียคู่ขนานกันไป

วัคซีนใบยา

การวิจัยของบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ตอัพของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย CU Innovation Hub ที่ใช้ใบยาสูบเป็นพืชในกระบวนการสร้างวัคซีน

หลังจากที่มีการผลิตวัคซีนลอตแรกเสร็จ จะนำไปสู่ขั้นตอนของการทดสอบวัคซีนในมนุษย์ คาดจะอยู่ในช่วงประมาณเดือนสิงหาคมถึงกันยายนนี้

ประยุทธ์หนุนพัฒนาวัคซีนโควิดในไทย

นางสาวรัชดายังระบุถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ว่า นายกฯได้ติดตามและแสดงความชื่นชมความก้าวหน้า ผลงานวิจัยวัคซีนโควิด-19 โดยทีมแพทย์และนักวิจัยไทย ที่ถือเป็นอีกความหวังของประเทศในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อีกทั้งยังส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาวัคซีนภายในประเทศ 2 แนวทางสำคัญ ดังนี้

  1. ให้การสนับสนุนสถาบันวัคซีนแห่งชาติ คณะแพทย์ในมหาวิทยาลัย และองค์กรชั้นนำ ในการวิจัยและพัฒนาวัคซีนในรูปแบบต่าง ๆ
  2. รับการถ่ายทอดกระบวนการผลิตวัคซีนจากต่างประเทศโดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จํากัด ของประเทศไทย เพื่อเป็นการวางรากฐานในไทยพึ่งพาตนเองด้านวัคซีน ลดงบประมาณการจัดซื้อและสามารถส่งออกเชิงพาณิชย์ได้ในอนาคตอีกด้วย