รู้จัก เดอะวัน ประกันภัย สะดุดปมสินไหมประกันโควิด

THE ONE

ทำความรู้จักบริษัท “เดอะวัน ประกันภัย” ที่เพิ่งเผชิญมรสุมเรื่องผู้เอาประกันภัยแห่เรียกร้องค่าสินไหมประกันโควิด แท้จริงแล้วไม่ใช่หน้าใหม่ในวงการประกัน ทั้งยังเกี่ยวข้องกับบริษัทผู้ผลิตอัญมณีชื่อดัง 

วันที่ 2 กันยายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานกรณี ผู้เอาประกันภัยกว่า 100 คน เดินทางมาเรียกร้องขอความชัดเจนในการจ่ายค่าสินไหมจากการติดเชื้อโควิด 19 กับ บริษัท เดอะ วัน ประกันภัย จำกัด (มหาชน) เนื่องจากไม่สามารถติดต่อทางบริษัทได้ พร้อมเรียกร้องให้ทางบริษัท ทำหนังสือชี้แจงชัดเจนถึงกำหนดวันที่จะได้รับเงิน

หลังมีผู้ยื่นเคลมตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แต่ยังไม่ได้รับเงิน นอกจากนี้ยังมีหลายรายที่พบว่า สถานะในระบบมีการเปลี่ยนย้อนกลับจากได้ดีลวันจ่ายเงิน วันที่ 31 สิงหาคม 2564 แต่เมื่อถึงวัน พบว่านอกจากเงินไม่ได้รับการโอนเข้าบัญชีแล้ว สถานะในระบบยังถูกเปลี่ยนเป็นอยู่ระหว่างพิจารณา ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ บริษัท เดอะ วัน ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ซึ่งแท้จริงแล้วไม่ใช่หน้าใหม่ในวงการประกันภัย 

จากสินทรัพย์ประกันภัยสู่ “เดอะวัน”

เดอะวัน ประกันภัย เดิมใช้ชื่อว่า สินทรัพย์ประกันภัย โดยได้รีแบรนด์บริษัทใหม่ พร้อมเปลี่ยนชื่อและโลโก้เป็น บริษัท เดอะวัน ประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือชื่อภาษาอังกฤษว่า THE ONE INSURANCE PUBLIC LIMITED มีผลวันที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งทางบริษัทให้เหตุผลว่าต้องการปรับชื่อกิจการให้เหมาะสมและสอดคล้องกับการเป็นบริษัทประกันภัยยุคดิจิทัล จึงอยากให้มีชื่อที่เรียกง่ายและเป็นสากลมากขึ้น เพื่อให้สะดวกต่อการดีลงานต่างประเทศ

ประกอบกับที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นจากตระกูลกาญจนจารีมาเป็นตระกูลศรีอรทัยกุล จึงต้องการเปลี่ยนชื่อกิจการด้วย

ทาง เดอะวันฯ ยืนยันด้วยว่า บริษัทยังคงมุ่งมั่นในการเพิ่มคุณภาพการให้บริการแก่ลูกค้าทุกคนและขอให้มั่นใจว่าทุกคนจะยังคงได้รับความคุ้มครองตามข้อกำหนดและเงื่อนไข ที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยเช่นเดิมทุกประการ

ช่วงเดือนพฤษภาคม นายสุริยน ศรีอรทัยกุล ซึ่งดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท ตั้งใจจะจัดงานเปิดตัวบริษัท แต่เจอการระบาดของโควิด-19 เสียก่อน จึงต้องงดจัดงานไป

ด้าน นายอรัญ ศรีว่องไทย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สินทรัพย์ประกันภัยในขณะนั้น เผยเป้าหมายเบี้ยประกันในปีนี้ว่าอยู่ที่ 2,600 ล้านบาท พร้อมระบุว่าน่าจะทำได้ตามเป้า เนื่องจากยอดขายในเวลานั้นได้ตามเป้าแล้ว

สำหรับ นายอรัญ นั้น เป็นผู้บริหารที่มีประสบการณ์ในธุรกิจประกันภัยมากกว่า 30 ปี และเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในแวดวงประกันภัย

โครงสร้างผู้ถือหุ้น

ข้อมูลจากเว็บไซต์ บริษัท สินทรัพย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทคือ บริษัทฯกลุ่มธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ “บิวตี้ เจมส์ กรุ๊ป” (Beauty Gems Group) โดยมี นายพรสิทธิ์ ศรีอรทัยกุล เป็นประธานกรรมการบริษัทฯ

ทั้งนี้จากการตรวจสอบข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่าผู้ถือหุ้นของ บริษัท เดอะ วันประกันภัย จำกัด (มหาชน) ประกอบด้วย

  1. นาย พรสิทธิ์ ศรีอรทัยกุล 21.0902%
  2. นาง สุณี ศรีอรทัยกุล 20.9546%
  3. นาย สุรสิทธิ์ ศรีอรทัยกุล 20.9546%
  4. นาย สุริยน ศรีอรทัยกุล 20.9546%
  5. บริษัท บิวตี้เจมส์แฟคตอรี่ จำกัด 8.2536%
  6. บริษัท บิวตี้เจมส์ เซนเตอร์ จำกัด 5.9995%

สำหรับผลประกอบการของบริษัท เดอะ วัน ประกันภัย ในปี 2563 ที่ผ่านมา มีรายได้ รวม 1,238 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 131.84 ล้านบาท และมีหนี้สินรวม 3,164 ล้านบาท

อาณาจักรบิวตี้เจมส์

นายสุริยน ศรีอรทัยกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท บิวตี้ เจมส์ จำกัด ผู้ประกอบการธุรกิจอัญมณีเก่าแก่ของไทย เผยผ่าน นิตยสาร Trust ว่า บิวตี้เจมส์ เริ่มต้นการทำธุรกิจจากร้านขายเพชรในห้องแถว 2 คูหา ย่านเจริญกรุง ก่อนจะตั้งโรงงานของตัวเองเมื่อปี 2516

นายสุริยน หรือ หนึ่ง รับช่วงกิจการครอบครัวขณะมีอายุเพียง 22 ปี โดยนำพาบริษัทไปเปิดตลาดอเมริกา เอเชีย และ ตะวันออกกลาง ได้สำเร็จ คู่ขนานไปกับการเพิ่มสัดส่วนรายได้จากลูกค้าในประเทศ ที่เคยมีสัดส่วนน้อยมาก โดยมีปัจจัยความสำเร็จจากการจัดงานแฟชั่นโชว์และอีเวนต์ พร้อมสร้างแนวคิดใหม่ที่ว่า

“เพชรไม่ใช่สินค้าฟุ่มเฟือย ไม่ใช่สินค้าเพื่อการอวดรวย แต่เป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เหมาะกับการลงทุนและเก็บสะสม”

เมื่อปี 2563 อาณาจักรบิวตี้เจมส์สวนกระแสโควิด โดยร่วมลงทุนกับพันธมิตรเพื่อพัฒนาโครงการด้านอสังหาริมทรัพย์จำนวน 6 โครงการ มูลค่าการลงทุนประมาณ 3,400 ล้านบาท

โครงการแรกเป็นการลงทุนพัฒนาคอนโดมิเนียม “วัน อัลติจูด (One Altitude)” ที่ถนนจันทน์ เขตพระยาไกร ดำเนินการโดยบริษัทวัน อัลติจูด งบประมาณลงทุนค่าก่อสร้างและที่ดินรวม 1,000 ล้านบาท จากที่ก่อนหน้านี้ได้พัฒนาคอนโดมิเนียมที่ถนนเจริญราษฎร์ไปแล้ว ด้วยเงินลงทุน 400 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังได้ทำ “โครงการ RG Salaya” อีก 4 โครงการ ได้แก่ บาราจิโอ, เดอะ วัน ปาร์ค, วัน ฟอเรสต์ และล็อคโฮม โดยบริษัทเดอะ รอยัล เจมส์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ และบริษัท รอยัลเจมส์ เรียลเอสเตท บริษัทในเครือบิวตี้เจมส์ มูลค่าการลงทุนเบื้องต้นประมาณ 2,000 ล้านบาท ทั้งหมดได้เริ่มก่อสร้างและพรีเซลไปแล้วตั้งแต่ปี 2563 กำหนดจะทยอยเสร็จและรับรู้รายได้ตั้งแต่ปี 2564 ไปจนถึงปี 2566 เฉลี่ยปีละประมาณ 300 ล้านบาท

เมื่อปีที่แล้ว “กลุ่มบิวตี้เจมส์” ตั้งเป้ารายได้ไว้ประมาณ 8,000 ล้านบาท “ไม่เติบโต แต่ไม่ขาดทุน” โดยสัดส่วนรายได้หลักยังเป็นธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งมีตลาดทั้งในและต่างประเทศรวม 3,000 ล้านบาท

รองลงมา ได้แก่ ธุรกิจประกันภัย 2,500 ล้านบาท ซึ่งยังเติบโตดีจากที่ลูกค้านิยมทำประกันภัยโควิด-19 มากขึ้น ตามด้วยธุรกิจรีไฟเนอรี่ทองคำ 2,000 ล้านบาท ส่วนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และที่เกี่ยวข้องถือว่ามีสัดส่วนน้อยที่สุดประมาณ 500 ล้านบาท


ทั้งนี้ การดำเนินการก่อสร้างอสังหาฯจะทยอยเสร็จใน 3 ปีหรือราวปี 2566 จะรับรู้รายได้เต็ม 100% คาดว่าจะช่วยเพิ่มสัดส่วนรายได้กลุ่มธุรกิจอสังหาฯ ได้ปีละ 300 ล้านบาท