ทีมกรุ๊ป เตือน คมปาซุ ทำฝนตกเกือบทั่วไทย อีสานหนักสุด

น้ำท่วม จ.ชัยภูมิ เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2564 (Hook31 Thailand/via REUTERS)

ผู้เชี่ยวชาญน้ำ “ทีมกรุ๊ป” เตือนให้เฝ้าระวังอิทธิพลพายุคมปาซุ ทำฝนตกเกือบทุกภาค น้ำทะเลหนุนสูง เผยภาคอีสานอ่วมสุด ลุ่มน้ำเจ้าพระยา-ป่าสัก ท่วมถึงต้นเดือน พ.ย.

วันที่ 13 ตุลาคม 2564 มติชน รายงานว่า นายชวลิต จันทรรัตน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือทีมกรุ๊ป ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำ เปิดเผยถึงอิทธิพลจากพายุคมปาซุว่า หลังจากทำให้ฝนตกหนักถึงหนักมากที่ไหหลำแล้ว จะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชั่น

คาดว่าจะเคลื่อนที่ขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามทางตอนเหนือของเมืองวิญ ในวันที่ 14 ตุลาคม และเคลื่อนที่ต่อมาทางทิศตะวันตก มาปะทะกับมวลอากาศเย็นจากประเทศจีน แล้วสลายตัวอยู่ที่เมืองโพนสะหวันประเทศลาว โดยมีหย่อมความกดอากาศต่ำเคลื่อนที่เข้าสู่เมืองดานัง ประมาณวันที่ 17 ตุลาคมนี้

มีผลต่อประเทศไทยช่วงวันที่ 13-14 ตุลาคม มีฝนตกเพิ่มขึ้นในพื้นที่ภาคอีสาน ภาคกลาง ภาคตะวันตก ภาคตะวันออกและภาคใต้ตอนบน คาดว่า จะมีฝนตกหนักเป็นหย่อม ๆ ในพื้นที่อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ หล่มสัก วิเชียรบุรี นครสวรรค์ สุพรรณบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

จากนั้นวันที่ 16 – 17 ตุลาคม จะมีฝนตกเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักเป็นหย่อม ๆ ในพื้นที่ภาคอีสานตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง ตามแนวร่องความกดอากาศต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี

ส่วนพายุโซนร้อนน้ำเทิน ไม่ได้เคลื่อนที่มาทางประเทศไทยแล้ว เพราะได้เปลี่ยนทิศทาง เคลื่อนที่ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ โดยคาดว่าวันที่ 15 ตุลาคม จะขึ้นไปสู่ทะเลด้านตะวันออกของประเทศญี่ปุ่นต่อไป

นายชวลิตกล่าวอีกว่า สภาวะน้ำท่วมที่มีอยู่ทุกวันนี้เป็นผลมาจากวันที่ 24 -25 กันยายน มีพายุเตี้ยนหมู่ และร่องฝนร่องความกดอากาศต่ำกำลังแรง และลมมรสุมกำลังแรง มีผลมาอย่างต่อเนื่อง

ยังมีอิทธิพลมาจากวันที่ 11- 12 ตุลาคม มีพายุ ไลออนร็อก ปะทะกับมวลอากาศเย็นจากประเทศจีน จึงสลายตัว ทำให้ฝนตกเพิ่มขึ้นเป็นวงกว้างและ มีฝนตกหนักเป็นหย่อม ๆ และวันที่ 14- 15 ตุลาคมจะมีพายุคมปาซุ ทำให้มีฝนตกเพิ่มขึ้น และฝนตกหนักเป็นหย่อม ๆ ในพื้นที่ภาคอีสาน ภาคกลาง ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก

ทำให้สภาวะน้ำท่วมในลุ่มน้ำชี ในพื้นที่สองตลิ่งของแม่น้ำชีตั้งแต่มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร และ อุบลราชธานี จะกลับสู่ปกติ หลังวันที่ 20 ตุลาคม

ส่วนสภาวะน้ำท่วมในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและป่าสัก โดยเฉพาะในพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ ของบางบาล เสนา บางไทร ปทุมธานี และนนทบุรี จะกลับคืนสู่ภาวะปกติในต้นเดือนพฤศจิกายนนี้

โดยในพื้นที่ปทุมธานี นนทบุรีและ กรุงเทพฯ นั้น จะมีอิทธิพลจากน้ำทะเลหนุนสูงอีกครั้งหนึ่ง ทำให้น้ำอัดเอ่อ ขึ้นท่วมในพื้นที่นอกคันกั้นน้ำสองตลิ่งของแม่น้ำ เจ้าพระยา ในช่วงสั้น ๆ วันที่ 21- 22 ตุลาคมนี้