สตาร์ทอัพไทยน้อยกว่าเพื่อนบ้าน ดาวรุ่งย้ายไปจดทะเบียนต่างชาติ

ภาพจาก Pixabay

สภาดิจิทัลฯ เผย สตาร์ตอัพไทยน้อยกว่าเพื่อนบ้าน ส่วนที่กำลังโตย้ายไปจดทะเบียนต่างชาติ 80% ถูกเสนอเงื่อนไขให้ไปจดทะเบียนที่สิงคโปร์ 

วันที่ 3 ธันวาคม 2564 เวลา 09.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ครั้งที่ 5/2564 ซึ่งทางสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทยรายงานว่า เมื่อเปรียบเทียบ 6 ประเทศในภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย ในปี 2558 และ 2563

พบว่า ไทยมีการลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีจากต่างประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2558 เพิ่มขึ้น 14% แต่ปี 2563 เพิ่มขึ้นเพียง 5%

ขณะที่อินโดนีเซียมีอัตราการขยายตัวอย่างเห็นได้ชัด โดยปี 2558 เพิ่มขึ้น 36% และปี 2563 เพิ่มขึ้น 70% ส่วนสิงคโปร์ ปี 2558 เพิ่มขึ้น 33% และ ปี 2563 เพิ่มขึ้น 14%

นอกจากนี้ยังระบุว่า มีสตาร์ทอัพไทยประมาณ 1,000 ราย ซึ่งน้อยกว่าเพื่อนบ้าน โดยข้อมูลจากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ประเมินไว้ที่ 170 ราย ในขณะที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติประเมินไว้ที่ 1,538 ราย

ส่วนสิงคโปร์มีสตาร์ทอัพประมาณ 55,000 ราย ตามการประเมินของคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจ (EDB) ของสิงคโปร์

สภาดิจิทัลฯยังรายงานด้วยว่า สตาร์ทอัพไทยที่กำลังโตย้ายไปจดทะเบียนต่างชาติ โดย 80% ของสตาร์ทอัพไทยที่ “พร้อมโต” ถูกเสนอเงื่อนไขให้ไปจดทะเบียนที่สิงคโปร์

ทางสภาดิจิทัลฯเสนอว่า สิ่งที่จะทำให้ไทยมีการลงทุนเพิ่มและสตาร์ทอัพย้ายกลับไทย มากสุด 70% คือ กฎระเบียบต่าง ๆ เช่น การยกเว้นภาษีลงทุนในสตาร์ทอัพ รองลงมา 25% คือทักษะด้านดิจิทัล และ 5% คือ อื่น ๆ

นอกจากนี้ยังรายงานอัตราภาษีลงทุนในสตาร์ทอัพ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญ โดยเปรียบเทียบของไทยกับอีก 5 ประเทศ และอีก 1 เขตปกครองพิเศษ ได้แก่ สิงคโปร์ ฮ่องกง มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม

โดยไทยคิดอัตราภาษีสำหรับบุคคลธรรมดา 0-35% และนิติบุคคล 15% ขณะที่ สิงคโปร์ ฮ่องกง และมาเลเซีย ไม่คิดอัตราภาษีสำหรับบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ส่วนอินโดนีเซียคิดอัตราภาษีสำหรับบุคคลธรรมดา 5% นิติบุคคล 5% ฟิลิปปินส์คิดอัตราภาษีสำหรับบุคลธรรมดา 15% นิติบุคคล 5% และ เวียดนามคิดอัตราภาษีเท่ากันทั้งสองกลุ่มที่ 20%

ทั้งนี้ ปี 2569 ไทยตั้งเป้าเพิ่มสตาร์ทอัพจาก 1,000 ราย เป็น 10,000 ราย ซึ่งจะเกิดการจ้างงานเพิ่มจาก 40,000 ราย เป็น 400,000 ราย

ในแง่สัดส่วนการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน เพิ่มจาก 4% เป็น 20% โดยใช้เงินลงทุนเพิ่ม (สะสม 5 ปี) จาก 1 แสนล้านบาท เป็น 4.2 แสนล้านบาท โดยภาษีที่ได้จากเงินเข้าประเทศจะทดแทนภาษีลงทุนในสตาร์ทอัพ