ดัชนีรับรู้ทุจริตไทยปี 2564 คะแนนตก หล่นไปอยู่อันดับ 110 ของโลก

ทุจริต-คอร์รัปชั่น

องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติเปิดรายงานคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต 2021 ไทยได้ 35 คะแนน ลดลงจากปีก่อนหน้า อยู่ลำดับที่ 110 ของโลก ป.ป.ช. แนะรัฐบาลแก้ไขปัญหาการทุจริตและการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการเรียกรับสินบนของเจ้าหน้าที่รัฐ

วันที่ 27 มกราคม 2565 นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยว่า เมื่อวันอังคารที่ 25 ม.ค. 2565 เวลา 06.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นของประเทศเยอรมณี หรือเมื่อประมาณ 12.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International หรือ TI) ได้ประกาศ คะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index: CPI) ประจำปี 2021 (พ.ศ. 2564) จากจำนวน 180 ประเทศทั่วโลก พบว่า ประเทศเดนมาร์ก ฟินแลนด์ และนิวซีแลนด์ ครองตำแหน่งอันดับที่ 1 ของโลก ด้วยคะแนน สูงสุด 88 คะแนน

ขณะที่ประเทศไทย ได้ 35 คะแนน ลดลงจากปี 2563 จัดอยู่ในอันดับที่ 110 ของโลก และอยู่ในอันดับที่ 5 ของ กลุ่มประเทศอาเซียน (10 ประเทศ) และอันดับที่ 16 ของกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิก (29 ประเทศ) ค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ของประเทศไทย ในปี 2564 ลดลงจากปี 2020

CPI 2021

โดยพบว่า จากแหล่งข้อมูลทั้ง 9 แหล่ง ประเทศไทย ได้คะแนนเพิ่มขึ้น 1 แหล่ง คงที่ 4 แหล่ง และลดลง 4 แหล่ง ดังนี้

คะแนนเพิ่มขึ้น 1 แหล่งข้อมูล

แหล่งข้อมูล Varieties of Democracy Institute (V-DEM) ได้ 26 คะแนน (ปี 2563 ได้ 20 คะแนน) คะแนนเพิ่มขึ้น จากการวิเคราะห์บรรยากาศทางการเมืองในปี พ.ศ. 2564 ประเทศไทยได้จัดให้มี การเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น ซึ่งเปิดโอกาสให้ภาคการเมืองต่าง ๆ สามารถทำกิจกรรมทางการเมือง รวมทั้งสื่อมวลชน และภาคประชาชนได้มีบทบาทในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ส่งผลให้บรรยากาศความเป็นประชาธิปไตย มีมากขึ้น รวมถึงการตอบคำถามของผู้เชี่ยวชาญ ในรูปแบบ Expert survey แสดงให้เห็นทัศนคติที่ดีขึ้นเกี่ยวกับ พฤติกรรมเรียกรับสินบนของเจ้าหน้าที่รัฐ ความโปร่งใสในการบริหารเงินงบประมาณ และการป้องกันการขัดกันแห่งผลประโยชน์ อีกทั้งในปีนี้มีการปรับเปลี่ยนระเบียบวิธีวิจัยที่ทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น

คะแนนคงที่ 4 แหล่งข้อมูล

1.แหล่งข้อมูล Bertelsmann Stiftung Transformation Index (BF (TI) ได้ 37 คะแนน (ปี 2563 ได้ 37 คะแนน)

คะแนนคงที่ ถึงแม้รัฐบาลจะมีนโยบายในการแก้ไขปัญหาการทุจริต ตลอดจนการดำเนินการต่าง ๆ แต่จากการรับรู้ของผู้ประเมินยังคงขาดความเชื่อมั่นในการลงโทษผู้กระทำการทุจริต รวมถึงขาดความเชื่อมั่น ในประสิทธิภาพของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้การประชาสัมพันธ์ที่ก่อให้เกิดการรับรู้ถึงความจริงจังของรัฐบาล ที่ให้ความสำคัญกับการป้องกันการทุจริตยังไม่ชัดเจน

2.แหล่งข้อมูล Economist Intelligence Unit Country Risk Ratings (EIU) ได้ 37 คะแนน (ปี 2563 ได้ 37 คะแนน)

คะแนนคงที่ ถึงแม้รัฐบาลจะมีนโยบายแก้ไขปัญหาการทุจริต ตลอดจนการดำเนินการต่าง ๆ แต่จากการรับรู้ของผู้ประเมินยังคงขาดความเชื่อมั่นในการลงโทษผู้กระทำการทุจริต รวมถึงขาดความเชื่อมั่น ในประสิทธิภาพของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้การประชาสัมพันธ์ที่ก่อให้เกิดการรับรู้ถึงความจริงจังของรัฐบาล ที่ให้ความสำคัญกับการป้องกันการทุจริตยังไม่ชัดเจน

CPI 2021_2

3.แหล่งข้อมูล Global Insight Country Risk Ratings (GI) ได้ 35 คะแนน (ปี 2563 ได้ 35 คะแนน)

คะแนนคงที่ ถึงแม้รัฐบาลมีนโยบายในการแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชัน แต่ผู้เชี่ยวชาญซึ่งได้รับข้อมูล จากกลุ่มตัวอย่าง (กลุ่มลูกค้า ผู้ทำสัญญากับภาครัฐ นักลงทุน นักธุรกิจ ผู้รับงานอิสระ และเครือข่ายนักข่าว) เห็นว่าการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยยังคงมีความเสี่ยงที่จะต้องเผชิญกับการติดสินบนหรือสิ่งตอบแทนสำหรับ การพิจารณาสัญญาและการขอใบอนุญาตต่าง ๆ ตลอดจนการคอร์รัปชันในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้การดำเนินธุรกิจ เป็นไปอย่างราบรื่น

4. แหล่งข้อมูล PRS International Country Risk Guide (PRS) ได้ 32 คะแนน (ปี 2563 ได้ 32 คะแนน)

คะแนนคงที่ เนื่องจากผู้เชี่ยวชาญได้วิเคราะห์ข้อมูลแล้วเห็นว่า การด าเนินธุรกิจในประเทศไทยยังมี ความเสี่ยงที่จะต้องเผชิญกับปัญหาการเรียกรับเงินหรือการจ่ายสินบนในการด าเนินธุรกิจ แม้ว่ารัฐบาลจะมีความตั้งใจ ในการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันด้วยการออกมาตรการต่าง ๆ เพื่ออ านวยความสะดวกในการให้บริการ ประชาชน แต่ผู้เชี่ยวชาญยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อการด าเนินการตลอดจนการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ท าให้เกิด การรับรู้ไม่แตกต่างจากปีที่ผ่านมา

CPI 2021_3

คะแนนลดลง 4 แหล่งข้อมูล

1. แหล่งข้อมูล IMD World Competitiveness Yearbook (IMD) ได้ 39 คะแนน (ปี 2563 ได้ 41 คะแนน)

คะแนนลดลง จากปัญหาการติดสินบนและการทุจริตที่สั่งสมมา ประกอบกับสถานการณ์โควิด–19 ที่เกิดขึ้น ยังปรากฏผ่านการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนว่า มีการทุจริตที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาโควิด–19 อาทิ การจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ รวมถึงปัญหาการติดสินบนกับเจ้าหน้าที่ของรัฐในการอนุมัติ-อนุญาต และการเอื้อประโยชน์ แก่ผู้ประกอบการบางราย

ถึงแม้รัฐบาลได้มีการพัฒนา ปรับปรุงกระบวนการอนุมัติ-อนุญาตที่อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนมากขึ้น แต่ยังมีการเปิดโอกาสให้ใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ ตลอดจนขาดการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้มีความรู้ความเข้าใจในกฎหมาย และระเบียบต่าง ๆ ที่มีการนำมาใช้ จึงทำให้ ผู้ประเมินอาจมองว่าปัญหาดังกล่าวไม่ต่างจากปีที่ผ่านมา

2. แหล่งข้อมูล The Political and Economic Risk Consultancy (PERC) ได้ 36 คะแนน (ปี 2563 ได้ 38 คะแนน)

คะแนนลดลง เนื่องจากมุมมองการรับรู้ของผู้ตอบแบบสอบถามอาจมองว่า รัฐบาลยังคงให้ความสำคัญ กับการแก้ปัญหาทางการเมืองมากกว่าการสร้างมาตรการอย่างเป็นระบบในการต่อสู้กับปัญหาการทุจริตที่ยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบจากสถานการณ์โควิด–19 ส่งผลต่อการบริหารจัดการของรัฐบาล เศรษฐกิจ สังคม และการดำรงชีวิตของประชาชน

อีกทั้งปัญหาในเรื่องกระบวนการยุติธรรมที่ปรากฏตามสื่อต่าง ๆ รวมถึงการทุจริต ในวงกว้างเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งถูกมองว่าเป็นอุปสรรคในการด าเนินงานของภาคธุรกิจ

3. แหล่งข้อมูล World Economic Forum (WEF) ได้ 42 คะแนน (ปี 2563 ได้ 43 คะแนน)

คะแนนลดลง มุมมองของนักลงทุนเกี่ยวกับสถานการณ์การทุจริตแทบจะไม่เปลี่ยนแปลง ถึงแม้หน่วยงานภาครัฐจะมีการตื่นตัวในการปรับปรุงและพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศทางนโยบาย Digital Government รวมทั้งการเปิดเผยข้อมูลสู่ระบบดิจิทัลเพื่อให้เกิดความโปร่งใส แต่ภาพลักษณ์การแข่งขัน ภายในประเทศ ยังคงถูกมองว่ามีการดำเนินนโยบายที่เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มนายทุน หรือบริษัทขนาดใหญ่ให้มี
อำนาจควบคุมตลาดในระดับสูง

ส่วนภาพรวมของปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ยังคงมีปัญหาเกี่ยวกับประเด็นสินบน และการแทรกแซงการดำเนินธุรกิจจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ประกอบกับยังปรากฏกรณีที่เป็นข่าวเกี่ยวกับการทุจริต ของเจ้าหน้าที่ของรัฐอยู่อย่างต่อเนื่อง

4. แหล่งข้อมูล World Justice Project (WJP) ได้ 35 คะแนน (ปี 2563 ได้ 38 คะแนน)

คะแนนลดลง เนื่องจากการรับรู้ของผู้ประเมินที่มองว่า ถึงแม้เจ้าหน้าที่ของรัฐมีความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนปฏิบัติตามแนวทางเกี่ยวกับการแยกแยะระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวมแล้วก็ตาม แต่การดำเนินการยังขาดความชัดเจนและต่อเนื่อง ทั้งการกำหนดนโยบายและแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้อำนาจ และดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในการใช้อำนาจหน้าที่ตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของส่วนรวม

CPI 2021_4

โดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน โดยระบุว่า แม้ทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาโควิด-19 แต่รัฐบาลของนานาประเทศยังคงต้องให้ความสำคัญกับ สิทธิเสรีภาพทางสังคม ความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างและการใช้จ่ายงบประมาณ ตลอดจนการสร้างความเข้มแข็ง และความเป็นอิสระให้กับหน่วยงานตรวจสอบ รวมถึงการรับมือกับปัญหาการทุจริตข้ามชาติ ทั้งในเรื่องช่องว่าง ของกฎหมายเพื่อสามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ

ในส่วนของสำนักงาน ป.ป.ช. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ยังคงมุ่งมั่นสานต่อและพัฒนาการบูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกันทุกภารกิจของสำนักงาน ป.ป.ช. ทั้งภารกิจ ป้องกันการทุจริต ภารกิจปราบปรามการทุจริต และภารกิจตรวจสอบทรัพย์สิน

รวมทั้งแสวงหาและสร้างความร่วมมือ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและภาคประชาชน เพื่อให้การป้องกันและปราบปราม การทุจริตของประเทศไทยมีประสิทธิภาพ เกิดสังคมโปร่งใส สุจริตอย่างแท้จริง อันจะส่งผลต่อการยกระดับคะแนน ดัชนีการรับรู้การทุจริตให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ต่อไป