น้ำมันดิบไหลถึงเกาะเสม็ดคืนนี้ ประมงระยองรายได้หด หวั่นตกงานอีกรอบ

ประมงระยองสะท้อนเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่ว

น้ำมันดิบรั่วไหลเข้าอุทยานเขาแหลมหญ้าเกาะเสม็ดคืนนี้แน่ SPRC ระดมเจ้าหน้าที่ 100 คนแบ่งทีมสกัด ด้านคนระยองหวั่นกระทบธุรกิจ คนตกงานอีกเพียบ กว่าธรรมชาติจะฟื้นอีกหลายปี 

วันที่ 27 มกราคม 2565 กรณีการรั่วไหลของน้ำมันดิบจากท่อใต้ทะเลของ บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPRC เมื่อช่วงเวลาประมาณ 21.00 น. ของวันที่ 25 มกราคม 2565 ณ บริเวณทุ่นผูกเรือน้ำลึก หรือจุดขนถ่ายน้ำมันในทะเล (SPM) ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมืองระยอง

“ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ขณะนี้ประชาชนในจังหวัดระยองเกิดความตื่นตัวถึงผลกระทบอย่างมาก เพราะเคยประสบบทเรียนน้ำมันรั่ว 50,000 ลิตร เมื่อปี 2556 มาแล้ว

เมื่อเวลาประมาณ 16.00 น. ขณะที่บริษัท SPRC ประสานขอความร่วมมือจากบริษัท IRPC ในการเตรียมย้ายอุปกรณ์และบุคลากรประมาณ 100 คน เพื่อเตรียมแบ่งทีมสกัดน้ำมันบริเวณเขาแหลมหญ้าเกาะเสม็ด ซึ่งคาดว่าน้ำมันดิบบางส่วนจะไหลเข้าไปอุทยานเขาแหลมหญ้าเกาะเสม็ดในคืนนี้ ตามทิศทางกระแสน้ำ และกระแสลม

ประมงพื้นบ้านชี้กระทบรายได้หนัก

นายไพฑูรย์ มากคช กลุ่มชาวประมงพื้นบ้านชุมชนเนินพระ ต.เนินพระ อ.เมือง จ.ระยอง กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้กลุ่มชาวประมงพื้นบ้านมีความกังวลอย่างมาก โดยเฉพาะผลกระทบต่อสัตวน้ำในท้องทะเล เกรงว่าเจ้าหน้าที่จะไม่สามารถควบคุมได้ เพราะคลื่นลมแรง นอกจากนี้ยังกังวลว่าจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อรายได้ของชาวประมง

Advertisment

“คลื่นลมแรงส่งผลให้น้ำมันจะกระจายไปทั่วแน่นอน และพัดขึ้นมาชายฝั่ง ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำในทะเล เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา ต้องอพยพหนี หรือตาย ตอนนี้สัตว์น้ำที่ชาวประมงจับได้ ประชาชนทั่วไปที่รู้ว่ามาจากทะเลจังหวัดระยองคงไม่มีใครกล้าซื้อกิน เพราะเกรงเกิดการปนเปื้อนสารเคมี เหตุการณ์ปี 2556 ใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ น้ำมันกระจายไปทั่ว”

นายไพฑูรย์ กล่าวต่อไปว่า ผลกระทบเกิดขึ้นแน่นอน เมื่อชาวประมงไม่สามารถจับสัตว์น้ำได้ กระทบต่อรายได้ในการหาเลี้ยงครอบครัว ซึ่งไม่รู้ว่า บริษัทจะเยียวยาให้กลุ่มชาวประมงพื้นบ้านอย่างไร

Advertisment

“ผมไม่เข้าใจว่าทำไมบริษัทใหญ่ขนาดนี้ถึงไม่มีระบบเทคโนโลยีเตือนภัยหรือสัญญาณเตือนภัยให้รู้ เหตุใดจึงปล่อยให้น้ำมันรั่วไหลออกมาได้เยอะขนาดนี้ บริษัทควรมีระบบป้องกันที่ดีกว่านี้”

ปัจจุบันอาชีพการทำประมงพื้นบ้านใน จ.ระยอง กระจายอยู่ทั่วจังหวัด ตั้งแต่อ่าวตะพวน ไปถึง อ.แกลง แต่เหตุการณ์น้ำมันรั่วน่าจะกระทบบริเวณตะพวน เนินพระ ก้นอ่าว และเกาะเสม็ด

ร้านอาหารร้องรัฐเตรียมเยียวยา

นายวัชระ โชติช่วง เจ้าของร้านอาหารครัวลุงระ บริเวณปากน้ำระยอง ชายหาดแหลมเจริญ เขตเทศบาลนครระยอง อ.เมือง จ.ระยอง กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้มีความกังวลมาก เนื่องจากร้านอาหารครัวลุงระตั้งอยู่ติดชายหาดอยู่ห่างจากจุดที่น้ำมันรั่วประมาณ 10 กม.เศษ ถ้าน้ำมันลอยเข้ามา สภาพแวดล้อมไม่ดี จะมีกลิ่นสารเคมี ถ้าหายใจเข้าไปเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างมาก คงไม่มีลูกค้ามาท่องเที่ยว

“ที่บอกว่าจะควบคุมสถานการณ์ได้ จริง ๆ ไม่มีใครบอกได้ ปกติสายน้ำจะไหลมาทางตะวันตก และตะวันออกอยู่แล้ว ปี 2556 น้ำมันรั่วไหลไปถึงเกาะเสม็ด อ่าวพร้าวหนักเลย ผมไม่รู้คราบน้ำมันจะขึ้นชายหาดเมื่อไหร่ แต่คงพัดขึ้นมาแน่ๆ

นายวัชระ กล่าวต่อไปว่า บริเวณชายหาดมีร้านอาหารตั้งเรียงรายกันอยู่จำนวนมากหลายร้อยร้าน ใน 3 เขตเทศบาลเกาะเสม็ด หาดแม่รำพึง เทศบาลนครระยอง เนินพระ ใกล้สุดมาบตาพุด หากเกิดผลกระทบอยากให้บริษัทเข้ามาเยียวยาผู้ได้รับกระทบ เพราะปี 2556 มีโมเดลเยียวยาโดยศาลปกครองมีคำสั่งให้ชดเชยชาวประมงพื้นบ้าน 150,000 บาทต่อราย และร้านอาหาร 120,000 บาทต่อราย

“ผมเคยทำอาชีพประมงพื้นบ้านมาก่อน ในปี 2556 ที่น้ำมันรั่วไหล ผมมีเรือประมง 2 ลำได้รับผลกระทบเยอะมาก สัตว์น้ำหนีหายหมด เรือประมงทำมาหากินไม่ได้ ปะการังจะถูกฟอกขาว ส่วนหอย ปลาที่จับได้มีกลิ่นเหม็นสารเคมี กว่าจะฟื้นได้ใช้เวลาเกือบ 7 ปี ผมมาตั้งร้านอาหารในปี 2559”

ท่องเที่ยวเสียหาย-คนตกงานอีกระลอก

นายสุรศักดิ์ ฉัตรเสถียรวงศ์ ชาวจังหวัดระยองที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตนเป็นคนจังหวัดระยองโดยกำเนิด มีความเป็นห่วงอย่างมาก เนื่องจากจังหวัดระยองขายทรัพยากรธรรมชาติด้านทะเล หากเกิดปัญหานี้ธุรกิจคงตายกันหมด คนเตรียมตกงานอีกระลอกหลังจากประสบกับพิษโควิด-19 ที่ยังต่อเนื่องไปถึงกลางปีหน้า ที่ผ่านมาเกาะเสม็ดต้องตรวจโควิด-19 ด้วย ATK ก่อนขึ้นเกาะคนยกเลิกไปเที่ยวจำนวนมาก ตอนนี้ทิศทางน้ำมันดิบคาดว่าจะไหลเข้าอุทยานเขาแหลมหญ้าเกาะเสม็ดก็ไม่น่ารอด

“ตอนนี้อยากทราบว่าปริมาณน้ำมันรั่วไหลตัวเลขจริง ๆ เท่าไหร่กันแน่ แต่ไม่มีใครให้คำตอบได้ว่าปริมาณน้ำมันรั่วไหลตัวเลขจริง ๆ เท่าไหร่กันแน่ เพราะปี 2556 ประมาณ 50,000 ลิตร ยังเกิดผลกระทบหนักมาก ใช้ระยะเวลา 3-5 ปีก็ไม่สามารถฟื้นฟูได้

จะมีวิธีกำจัดอย่างไร ไม่มีใครตอบ เหตุใดโรงกลั่นน้ำมันจึงไม่มีระบบป้องกันปล่อยให้น้ำมันรั่วไหลออกมาได้ขนาดนี้

จริง ๆ ในท่อส่งน้ำมันเมื่อน้ำมันลดลงสัญญาณเตือนภัยจะโชว์แล้ว ถามว่า ในการทำให้ท่อแตกหรือท่อรั่วแสดงว่าไม่มีใครดูแลตรวจสอบหรืออย่างไร ถึงทำให้มีน้ำมันรั่วไหลออกมาได้ถึง 4-5 แสนลิตร”

นายสุรศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า แนวทางการแก้ไขขณะนี้คือ พยายามนำสารเคมีมากลบเพื่อให้น้ำมันดิบลงไปในทะเลไม่ลอยออก แต่ถามว่าวิธีการที่กำลังดำเนินการเป็นวิธีการที่ถูกต้องหรือไม่ เพราะหากกดน้ำมันจมลงไปในทะเลสัตว์ทะเลก็ตายหมด

“ตอนนี้เห็นหนังสือชี้แจงจากบริษัท 2 ฉบับ ผู้ว่าราชการจังหวัดออกหนังสือจะจัดการน้ำมันดิบให้ได้เท่านั้น ส่วนข้อมูลต่าง ๆ ที่ประชาชนชาวระยองต้องการทราบไม่มีใครให้คำตอบได้เลย”