คอลัมน์ Market Move
ล่าสุด ในญี่ปุ่น เครื่องเล่นเทปกำลังกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง จนราคาเครื่องเล่นที่เคยไร้ค่ากลับพุ่งขึ้นหลายเท่า จนบางรุ่นซื้อขายกันที่ราคา 1 แสนเยน หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 2.6 หมื่นบาท ซึ่งราคานี้แพงกว่าราคาเปิดตัวเมื่อกว่า 4 ทศวรรษก่อนเสียอีก
สำนักข่าวนิกเคอิ เอเชีย รายงานถึงกระแสฮิตเครื่องเล่นเทปที่กำลังมาแรงในญี่ปุ่นว่า ราคาเครื่องเล่นเทปมือสองในญี่ปุ่นกำลังพุ่งสูงขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ ตัวอย่างเช่น โซนี วอร์คแมน รุ่น TPS-L2 ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเครื่องเล่นเทปพกพาเครื่องแรกของโลกนั้น ปัจจุบันเครื่องที่สภาพดีมีการซื้อขายกันด้วยราคาสูงถึง 5 หมื่น-1 แสนเยน หรือประมาณ 1.3-2.6 หมื่นบาท ซึ่งไม่เพียงเท่านี้ แม้แต่เครื่องที่สภาพไม่ดียังสามารถทำราคาได้สูงจนน่าตกใจ
โดยตัวแทนของ บายเซล เทคโนโลยี บริษัทขายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์มือสองในกรุงโตเกียวระบุว่า ปัจจุบันแม้แต่เครื่องที่สภาพย่ำแย่และใช้งานไม่ได้ยังมีลูกค้ามาซื้อไปเป็นประจำ ด้วยราคาประมาณ 3 หมื่นเยน หรือประมาณ 7.8 พันบาท
ย้อนไปเมื่อ 10 ปีก่อน วอล์คแมน ในสภาพใช้งานได้มีราคามือสองที่ประมาณ 10,000-20,000 เยนเท่านั้น เท่ากับขณะนี้ ราคาเพิ่มขึ้นไปถึง 5 เท่า นอกจากนี้ โซนี่ วอล์คแมน รุ่น TPS-L2 วางขายครั้งแรกในปี 1979 (พ.ศ. 2522) ด้วยราคา 3.3 หมื่นเยน ซึ่งเมื่อคำนวณระดับเงินเฟ้อแล้วจะเท่ากับประมาณ 4.5 หมื่นเยน หรือราว ๆ 1.1 หมื่นบาท ในปัจจุบัน ทำให้ราคามือสองปัจจุบันสูงกว่าราคาเปิดตัวเสียอีก
ตัวแทนของ บายเซล เทคโนโลยี คาดว่าราคามือสองที่เพิ่มขึ้นนี้ เป็นไปตามหลักดีมานด์-ซัพพลาย โดยจำนวนเครื่องที่หมุนเวียนในตลาดมือสองลดลงไปตามกาลเวลา ในขณะเดียวกัน ได้เกิดกลุ่มแฟนคลับ หรือผู้ที่ชอบพกเครื่องเล่นเทปติดตัวไปตามที่ต่าง ๆ ขึ้น ไม่เพียงแต่เครื่องรุ่นที่เป็นสัญลักษณ์ของวงการอย่าง TPS-L2 เท่านั้นที่แพงขึ้นแบบก้าวกระโดด แต่ราคามือสองของเครื่องเล่นเทปรุ่นทั่วไปต่างปรับตัวขึ้นด้วยเช่นกัน
สอดคล้องกับข้อมูลของแพลตฟอร์มประมูลของมือสอง “ออกแฟน” (Aucfan) ที่ระบุว่า เมื่อปี 2562 ราคาเครื่องเล่นเทปมือสองจะอยู่ที่ประมาณ 5,000-7,000 เยน หรือประมาณ 1.3-1.8 พันบาท แต่ปีนี้กลับขึ้นไปถึง 9 พันเยน หรือราว 2.3 พันบาทแล้ว
นอกจากนี้ ยังมีแม้กระทั่งกลุ่มที่ตามหาและสะสมเครื่องรุ่นหายากจากต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงานและวัยใกล้เกษียณ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีรายได้สูงพอที่จะใช้จ่ายกับงานอดิเรก และเครื่องเล่นเทปเป็นสิ่งกระตุ้นให้หวนนึกถึงอดีต “บีนอส” ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้ามือสองข้ามชาติออนไลน์ที่เปิดเผยว่า ปี 2565 นี้ราคาเครื่องเล่นเทปมือสองซื้อขายกันบนแพลตฟอร์มที่ประมาณ 2.4 หมื่นเยน สูงกว่าระดับราคาเฉลี่ยของปีที่แล้วไปถึง 50% โดยผู้ซื้อส่วนใหญ่ อายุ 45 ปี และ 90% เป็นผู้ชาย ส่วนกลุ่มที่ซื้อเครื่องรุ่นวินเทจจะอายุประมาณ 55 ปี
ด้าน “โทโมฮิโระ ทาเคโนะ” ผู้บริหารของ ลอว์สัน เอ็นเตอร์เทนเมนต์ บริษัทผู้บริหารเชนร้านจำหน่ายแผ่นเสียงและเทปคาสเซต กล่าวว่า แม้ปัจจุบันจะยังมีหลายบริษัทที่ผลิตเครื่องเล่นเทปอยู่ แต่เกือบทั้งหมดจะใช้พลาสติกเป็นส่วนประกอบหลัก ในขณะที่กลุ่มแฟนคลับชื่นชอบการได้สัมผัสกับน้ำหนักของเครื่องเล่นรุ่นเก่าที่มักใช้ชิ้นส่วนโลหะมากกว่า ทำให้เกิดดีมานด์เครื่องเล่นเทปมือสอง
โดยกระแสฮิตเครื่องเล่นเทปนี้ไม่เพียงเกิดขึ้นในญี่ปุ่นเท่านั้น แต่เริ่มพบเห็นได้ในหลายประเทศ สะท้อนจากดีมานด์จากผู้ซื้อต่างชาติในตลาดมือสองที่เพิ่มขึ้นตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หลังนักสะสมไม่สามารถเดินทางมาหาซื้อเครื่องมือสองในญี่ปุ่นได้ เพราะการระบาดของโรคโควิด-19 และการอ่อนค่าของเงินเยนที่ทำให้ผู้ซื้อต่างชาติเหมือนได้เครื่องสภาพดีในราคาโปรโมชั่น
“จุนอิจิ มัตสึซากิ” นักสะสมเครื่องเล่นเทปซึ่งครอบครองเครื่องบูมบ็อกหรือวิทยุเทปสเตอริโอแบบพกพาและเครื่องเล่นเทปแบบอื่น ๆ จำนวนรวมกว่า 5 พันเครื่องกล่าวว่า กระแสการกลับไปนิยมอุปกรณ์แอนะล็อกอย่างเครื่องเล่นเทปในต่างประเทศคึกคักกว่าในญี่ปุ่นมาก หลังช่วงที่ผ่านมามีนักสะสมชาวต่างชาติจำนวนมากยื่นข้อเสนอขอเหมาซื้อคอลเล็กชั่นเครื่องเล่นเทป
ตามข้อมูลของบริษัทวิจัยลูมิเนต ที่เก็บข้อมูลตลาดบันเทิงระบุว่า ปี 2564 ที่ผ่านมายอดขายเทปคาสเซตในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นเท่าตัว เป็น 3.4 แสนตลับ ทำสถิติสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา ในขณะที่ศิลปินที่เป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่น อาทิ บิลลี่ ไอลิสและแฮร์รี สไตลส์ ต่างทำเพลงลงเทปคาสเซตออกจำหน่ายด้วยเช่นกัน สะท้อนถึงกระแสฮิตเครื่องเล่นเทปในสหรัฐ
ส่วนในญี่ปุ่นกระแสแอนะล็อกขณะนี้จะยังโฟกัสไปที่เครื่องเล่นแผ่นเสียงมากกว่า โดยอาจเป็นเพราะ แม้เทปคาสเซตจะพกพาง่ายกว่า แต่มีข้อเสียคือแถบแม่เหล็กในเทปนั้นจะเสื่อมสภาพไปตามการใช้งาน ทำให้คุณภาพเสียงลดลงเรื่อย ๆ จึงไม่ได้รับความนิยมในตลาดมือสองมากเท่าแผ่นเสียงไวนิลที่ทนทานมากกว่า
แต่กระแสเริ่มแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ศิลปินชื่อดังหลายรายเริ่มออกผลงานในรูปแบบเทปคาสเซตกันแล้ว
ทั้งนี้ เครื่องเล่นเทปคาสเซตเริ่มแพร่หลายในช่วงยุค 70s หรือประมาณปี 2513 ในรูปแบบบูมบ็อกซ์ ส่วนเครื่องเล่นแบบพกพา ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าเริ่มได้รับความนิยมช่วงยุค 80 หลังโซนี่เปิดตัวเครื่องวอล์คแมนรุ่นแรก ก่อนที่เครื่องเล่นเทปจะเสื่อมความนิยมลง เพราะการมาถึงของแผ่นซีดี
หลังจากนี้ต้องจับตาดูว่ากระแสเทปคาสเซตจะสามารถรักษาความนิยมเอาไว้ และกลายเป็นกลุ่มวัฒนธรรมหนึ่งแบบเดียวกับแผ่นเสียงไวนิลได้หรือไม่