“อินเดีย” สมรภูมิเด็ดปีก TikTok

tiktok
คอลัมน์ : Tech Times
ผู้เขียน : มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

ข้อพิพาทบริเวณชายแดนระหว่างจีนกับอินเดียเมื่อ 2 ปีก่อน พลอยทำให้อุตสาหกรรมเทคโดนหางเลขไปด้วย โดยอินเดียตอบโต้จีนด้วยการประกาศแบนแอปจีนหลายตัว รวมถึง TikTok ซึ่งกำลังมาแรงแต่แทนที่การแบนดังกล่าวจะทำให้ตลาดออนไลน์ของอินเดียซบเซา กลับเป็นการเปิดโอกาสให้คู่แข่งอย่าง Instagram และ YouTube รุกคืบเข้าชิงมาร์เก็ตแชร์อย่างแข็งขัน แถมกระตุ้นให้สตาร์ตอัพท้องถิ่นเร่งพัฒนาแพลตฟอร์ม short video ออกมาเป็นแถว

บิ๊กเทคอย่าง Meta (เจ้าของ Facebook, Instagram) และ Alphabet (Google, YouTube) อินเดียเปรียบเสมือนสมรภูมิรบที่สำคัญ เพราะเป็นตลาดออนไลน์ที่เติบโตสูงที่สุดในโลก

การที่เสี้ยนหนามจากจีนอย่าง TikTok โดนพิษการเมืองเปิดโอกาสให้บิ๊กเทคจากอเมริกาได้กู้ชื่อตัวเอง หลังต้องทนดู TikTok ครองตำแหน่งแชมป์ในอินเดียมาก่อนหน้านี้ แถมทุบสถิติมียอด active users ทั่วโลกถึงเดือนละ 1 พันล้านคน ใน 4 ปี แซงหน้าพวกตนที่ใช้เวลามากกว่าถึง 2 เท่า

Bloomberg รายงานว่า Meta ใช้ Reels ของ Instagram เป็นเรือธงชิงตลาดอินเดีย โดยใช้ความได้เปรียบจากฐานผู้ใช้งานกว่า 400 ล้านรายในประเทศ ขณะที่ Alphabet ส่ง Shorts แพลตฟอร์มวิดีโอสั้นของ YouTube ที่ก๊อปปี้ TikTok มาเกือบทั้งดุ้นเข้าชิงชัย พร้อมลงทุนปลุกปั้นแพลตฟอร์มสตาร์ตอัพท้องถิ่นอีกอย่างน้อย 4 แบรนด์ ควบคู่ไปด้วย

แม้กลยุทธ์จะแตกต่าง แต่ทั้งคู่มีเป้าหมายเดียวกันคือ หาทางชิงลูกค้าเก่าของ TikTok กว่า 200 ล้านคนให้มาอยู่บนแพลตฟอร์มของตัวเองในขณะเดียวกัน ก็มีโครงการอัดฉีดเพิ่มส่วนแบ่งรายได้ให้ดาวโซเชียล รวมถึงส่งแมวมอง “ปั้น” ดาวดวงใหม่

เช่น Instagram จัดสรรงบก้อนใหญ่จากงบรวมกว่า 1 พันล้านเหรียญ เพื่อช่วยให้คอนเทนต์ ครีเอเตอร์ ในอินเดีย มีรายได้มากขึ้น ส่วน Google เจ้าของ YouTube ก็มีโครงการ India Digitization Fund ที่อัดฉีดเม็ดเงินกว่า 1 หมื่นล้านเหรียญ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในอินเดีย โดยเฉพาะ

เป้าหมายที่ยักษ์ใหญ่จากซิลิคอน แวลลีย์ หมายตาคือ รายได้จากแพลตฟอร์ม short video ที่บริษัทที่ปรึกษาอย่าง Redseer ประเมินว่าจะมีมูลค่าถึง 1.9 หมื่นล้านในปี 2030 นอกจากนี้ ยังคาดว่า short video platforms จะเป็นแหล่งผลิตรายได้จากงานโฆษณาออนไลน์ในประเทศถึง 20%

โดย Redseer มองว่าราคาเครื่องและแพ็กเกจสมาร์ทโฟนที่ถูกลงในอินเดียเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มจำนวนผู้เสพวิดีโอสั้น โดยคาดว่า 67% ของผู้ใช้สมาร์ทโฟนจะใช้แพลตฟอร์มวิดีโอเป็นประจำภายในปี 2025

นอกจากนี้ บิ๊กเทคทั้งสองยังหวังจะใช้ตลาดอินเดียเป็นสนามทดลองระบบอัลกอริทึ่ม ตลอดจนโครงการพัฒนาคอนเทนต์และอินฟลูเอนเซอร์ต่าง ๆ ก่อนจะนำไปใช้ในบ้านตัวเอง เช่น YouTube Shorts เปิดทดสอบระบบครั้งแรกในอินเดีย ในเดือนกันยายน ปี 2020 ก่อนจะเอ็กซ์พอร์ตไปยังตลาดสหรัฐ 6 เดือนให้หลัง เป็นต้น

แม้ตอนนี้รายได้จากโฆษณาของ Google จะมากกว่า Meta 1.5 เท่า แต่ Instagram มีอัตราการเติบโตของผู้ใช้มากกว่า ซึ่งคาดว่ามาจากกลยุทธ์ของบริษัทที่ลงทุนส่งแมวมองออกมองหาดาวดวงใหม่ที่มีศักยภาพ พร้อมสอนเทคนิคการตัดต่อคลิป และการทำตัวให้ติดเทรนด์โซเชียล มีส่วนช่วยอย่างมากในการขยายฐานผู้ใช้

เช่นเดียวกันกับการออก Instagram Lite เพื่อเจาะกลุ่มผู้ใช้งานโทรศัพท์ที่มีความเร็วจำกัดโดยเฉพาะ การอนุญาตให้แชร์คอนเทนต์ข้ามแพลตฟอร์มระหว่าง Instagram กับ Facebook รวมถึงออกแบบระบบให้รองรับภาษาท้องถิ่นในอินเดียถึง 11 ภาษา ก็ล้วนเป็นกลยุทธ์ที่น่าสนใจในการดึงคนเข้าระบบ

จากทั้งหมดนี้คงเห็นแล้วว่า การประชันฝีมือกันระหว่าง 2 บิ๊กเทคในตลาดอินเดีย นอกจากจะเป็นสนามทดลองของทั้งสองค่ายแล้ว ก็ยังเป็นเหมือนห้องเรียนขนาดใหญ่สำหรับผู้สนใจวงการเทค เพราะไม้เด็ดใหม่ ๆ ที่ทั้งสองเตรียมจะงัดออกมาฟาดฟันกัน คงน่าตื่นตาตื่นใจไม่น้อย แถมอาจเป็นตัวกำหนดเทรนด์ใหม่ ๆ ในตลาดอื่นด้วย