ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำกับผลกระทบทางเศรษฐกิจ

ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
คอลัมน์ : ระดมสมอง
ผู้เขียน : ดร.ฉมาดนัย มากนวล Krungthai COMPASS

การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำซึ่งได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีในการประชุมวันที่ 13 กันยายน 2565 และจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 นี้ ถือเป็นการปรับค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปีหลังจากประกาศครั้งล่าสุดที่มีผลเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2563 ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนการแพร่ระบาดของโรค COVID-19

ตลอดช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมีส่วนช่วยลดสัดส่วนแรงงานยากจนลดลงจาก 12.2% เมื่อปี 2554 ลงสู่ระดับต่ำกว่า 10% แม้ผลจากการระบาดจะกดดันให้สัดส่วนแรงงานยากจนล่าสุดในปี 2563 แตะระดับ 5.8% แต่โดยภาพรวมยังอยู่ในระดับต่ำกว่าเลขสองหลักคาดว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำประมาณ 4.5-6.6% ครั้งนี้ จะส่งผลให้ค่าจ้างที่เป็นตัวเงินเพิ่มขึ้นประมาณ 0.36-0.53%vและอาจกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนได้ 0.27-0.39% ในปี 2565 นี้

อย่างไรก็ตาม รายจ่ายค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นอาจกระทบต้นทุนการผลิต ประกอบกับแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่เพิ่มอาจดึงเงินเฟ้อ สำหรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อผู้ประกอบการนั้น คาดว่าสาขาการผลิตที่พึ่งพาแรงงานค่าจ้างต่ำและมีภาระรายจ่ายค่าแรงต่อต้นทุนในสัดส่วนที่สูงจะได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มอื่น โดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรม ก่อสร้าง โรงแรม สันทนาการ และค้าปลีก

ในด้านอุตสาหกรรมซึ่งมีหลายสาขาที่เน้นการใช้ปัจจัยแรงงานอย่างเข้มข้น และมีสัดส่วนรายจ่ายค่าจ้างต่อต้นทุนสูง จะต้องเผชิญกับกำไรต่อหน่วยที่บางลง ขณะที่ยังต้องแบกรับภาระต้นทุนหลายด้าน
ที่แพงขึ้น โดยเฉพาะราคาวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง ค่าขนส่ง รวมถึงการปรับขึ้นค่าไฟฟ้า และการปรับขึ้นค่าธรรมเนียม FIDF ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่จะส่งผ่านไปยังอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้สูงขึ้นภายใต้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

จากการประเมินสัดส่วนค่าจ้างต่อต้นทุนค่าใช้จ่ายทั้งหมดพบว่า มีหลายสาขาอุตสาหกรรมที่เน้นการใช้แรงงานในการผลิตซึ่งมีภาระค่าตอบแทนแรงงานต่อต้นทุนทั้งหมดสูงกว่า 10-20% เช่น ยาสูบ 
เฟอร์นิเจอร์ รองเท้า เซรามิก และการพิมพ์ จะต้องแบกรับต้นทุนเพิ่มขึ้นจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งเป็นการเพิ่มอุปสรรคให้แก่ผู้ประกอบการเหล่านี้มากยิ่งขึ้น

ในภาพกว้าง Krungthai COMPASS คาดว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำประมาณ 8-22 บาท ซึ่งมีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ของประเทศ โดยปรับจากเดิมที่อยู่ในช่วง 313-328 บาทต่อวัน เป็น 336-354 บาทต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 4.5-6.6% จะส่งผลให้ดัชนีราคาผู้ผลิตเพิ่มขึ้น 0.17-0.25% และกระทบต่อเงินเฟ้อประมาณ 0.03-0.04% ในปี 2565 นี้

ส่วนในปีหน้าคาดว่าดัชนีราคาผู้ผลิตจะปรับตัวขึ้น 0.69-1.01% ซึ่งจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.13-0.20% ทั้งนี้อาจส่งผลกระทบจีดีพีไม่มากนัก เนื่องจากปัจจัยลบจะถูกชดเชยด้วยปัจจัยบวกจากผลทางรายได้ที่เพิ่มขึ้น

แม้กระนั้นก็ตาม การเพิ่มค่าจ้างอาจหนุนการปรับโครงสร้างในตลาดแรงงาน โดยจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มแรงงานที่ขาดทักษะกับกลุ่มแรงงานมีฝีมือและแรงงานวิชาชีพในระยะยาว และสนับสนุนให้แต่ละภาคส่วนได้รับผลพวงจากการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น

สำหรับผู้ประกอบการที่จะต้องเผชิญกับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นนั้น Krungthai COMPASS มีข้อเสนอแนะให้ใช้โอกาสนี้ในการพัฒนาศักยภาพแรงงาน ทั้งการ
ยกระดับทักษะให้ดีขึ้นกว่าเดิม (upskill) และการสร้างทักษะใหม่ที่จำเป็นต่อการทำงาน (reskill) ซึ่งจะเอื้อต่อสภาพการแข่งขันทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรปรับระบบการผลิตให้มีความยืดหยุ่นตามสภาวะเศรษฐกิจที่เผชิญกับความผันผวนมากขึ้น ปรับลดขั้นตอนในการทำงานและใช้ระบบการผลิตที่กระชับ (streamline) รวมถึงการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ วิธีการเหล่านี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการมีกำลังแรงงานที่เหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป