อนาคตของเงิน (บาท) ท่ามกลางการอุบัติของเงินดิจิทัลเอกชน (1)

เงินดิจิทัล
คอลัมน์ : ระดมสมอง
ผู้เขียน : ดร.ณรัณ โพธิ์พัฒนชัย
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
facebook : Narun on Fintech Law

สวัสดีครับ คอลัมน์ ระดมสมองกลับมาอีกครั้งพร้อมพายุโนรูที่อ่อนกำลังลงพอดีเมื่อเดินทางเข้าสู่ประเทศไทย ตอนนี้ผมอยากชวนทุกท่านพูดคุยเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ครับ ไม่ใช่แค่เงินบาทที่เราใช้จับจ่ายกันอยู่ในปัจจุบัน

ทุกวันนี้หลายคนอาจจะได้ยินว่ามีการนำเงินที่ผลิตและบริหารจัดการโดยองค์กร กลุ่มบุคคล หรือระบบที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐ (ผมขอเรียกเงินเหล่านี้รวมกันว่าเป็น “เงินดิจิทัลเอกชน” แล้วกัน
นะครับ) มาใช้ เพื่อเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน หรือใช้เป็นเครื่องมือในการสะสมความมั่งคั่ง

โดยเฉพาะเงินเอกชนที่สร้างโดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน ไม่ว่าจะเป็น USDT หรือเทเทอร์ (Tether), BUSD หรือไบแนนซ์ดอลลาร์ หรือ ได (DAI) เหรียญพวกนี้ถูกจัดอยู่ในประเภท stable coin หรือเหรียญคริปโตที่มีความผันผวนของราคาต่ำ (stable หรือมีความมั่นคงหรือคงที่ของราคา) เพราะผู้ออกแบบเหรียญได้จัดให้มีกลไกในการค้ำประกันมูลค่าของเหรียญนั้น ๆ เช่น มีการเก็บสะสมทุนสำรองเป็นเงินสกุลอ้างอิง (fully backed stable coin) หรือมีการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อสร้างการค้ำประกันสังเคราะห์ (algorithmic stable coin) เป็นต้น

หากพิจารณาจากปริมาณการซื้อขายแลกเปลี่ยนเหรียญ stable coins 6 สกุลใหญ่ที่สุดของโลก สถิติจาก CoinMarketCap เมื่อปลายปี 2564 ที่ผ่านมา พบว่ามีปริมาณการซื้อขายรวมต่อวันมากกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 35 ล้านล้านบาท !

ตัวเลขดังกล่าวอาจจะลดลงไปบ้างในปีนี้ เนื่องจากในช่วงต้นปีที่ผ่านมา โลกการเงินคริปโตประสบวิกฤตอย่างร้ายแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาค่าเงิน UST หรือเทอร์ราดอลลาร์ (TerraUSD) ที่หลุดจากราคาอ้างอิงต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ เหลือมูลค่าเพียง 0.1 ดอลลาร์สหรัฐต่อหนึ่งเหรียญเทอร์ราดอลลาร์ ปัญหาวิกฤตในด้านอื่น ๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย ผมได้นำเสนอไปในคอลัมน์ระดมสมองเมื่อครั้งก่อน ลองหาอ่านกันดูนะครับ

แม้ว่าระบบการเงินคริปโตอยู่ในช่วงภาวะตลาดหมี หรือช่วงฤดูหนาว (bear market หรือ winter period) ก็ตาม แต่ในช่วงปีที่ผ่านมามีความพยายามที่จะนำเหรียญคริปโตประเภท stable coin มาใช้แทนเงิน แม้แต่ในประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ทำให้เมื่อต้นปี สำนักงาน ก.ล.ต. ต้องออกมาประกาศห้ามไม่ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการชำระราคาด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล นอกจากนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ออกมาเน้นย้ำในหลายโอกาส ว่าสินทรัพย์ดิจิทัลไม่ว่าจะเป็นประเภทใดก็ตาม ไม่ใช่เงินและไม่สามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ยกเว้นเป็นความสมัครใจของคู่สัญญา

ทำให้ในขณะนี้มีการนำสินทรัพย์ดิจิทัลหลายสกุลหลายประเภทมาใช้ในทางการค้ามากกว่าการลงทุน แต่ไม่มีการกำกับดูแลโดยภาครัฐ จึงเป็นความเสี่ยงของผู้ประสงค์ที่จะใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเหล่านั้นในการซื้อขายสินค้าและบริการ ทั้งด้านความปลอดภัยจากการโจรกรรม การฉ้อโกงทางการค้า และความปลอดภัยของการใช้ระบบดิจิทัลที่ไม่ได้มาตรฐาน

บทความในซีรีส์ อนาคตของเงิน (บาท) ท่ามกลางการอุบัติของเงินดิจิทัลเอกชน จึงมีจุดประสงค์ต้องการเชิญชวนให้ผู้อ่านมาร่วมกันคิดวิเคราะห์ถึงอนาคตของ “เงิน” โดยเฉพาะเงินบาทของประเทศไทย ว่าในอนาคตเงินบาทควรจะยังเป็นเงินสกุลเดียวในประเทศ หรือรัฐควรปล่อยให้มีเงินดิจิทัลเอกชนในรูปแบบต่าง ๆ เช่น stable coin มาใช้เป็นเงินที่สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย (legal tender) หรือไม่ อย่างไร

ในประเด็นนี้ ผมได้ไปแลกเปลี่ยนเรื่องนี้ในเวทีประชุมวิชาการประจำปี 2565 ของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ BOT Symposium 2022 มา เมื่อวันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมา มีโอกาสไปแลกเปลี่ยนมุมมองกฎหมายเกี่ยวกับอนาคตของเงินกับนักเศรษฐศาสตร์และนักเทคโนโลยีชั้นนำของประเทศ เลยทำให้ตกผลึกออกมาเป็นบทความในซีรีส์นี้ ใครสนใจฝากติดตามกันด้วยในตอนต่อ ๆ ไปครับ