“แคนนอน-นิคอน-ฟูจิ” เด้งรับ AI หนุนดีมานด์กล้องดีดกลับ

กล้องดิจิทัล
Twitter_@cpplusjp001
คอลัมน์​ : Market Move

หลังจากหดตัวต่อเนื่องมานานหลายปี ล่าสุดตลาดกล้องดิจิทัลเริ่มกลับมาลืมตาอ้าปากได้อีกครั้ง หลังมูลค่าเซลส์อิน (sales in) หรือมูลค่ากล้องที่แต่ละแบรนด์ส่งให้กับร้านค้าเติบโต 2 ปีติดต่อกัน (2564-2565) โดยปี 2565 เติบโตถึง 40% พร้อมกับที่กำไรจากการดำเนินการช่วง เม.ย.-ธ.ค. 65 ของบริษัทกล้องรายใหญ่รวมกันทำสถิติสูงสุดในรอบ 7 ปี

นิกเคอิ เอเชีย รายงานโดยอ้างข้อมูลจากสมาคมกล้องถ่ายภาพและผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับภาพ (CIPA) เปิดเผยว่า ปี 2565 ที่ผ่านมายอดขายส่งกล้องดิจิทัลกลับมาเติบโตอีกครั้ง โดยมูลค่ารวมของสินค้าที่แต่ละแบรนด์ขายส่งให้ร้านค้าเพิ่มขึ้น 40% นับเป็นการเติบโตต่อเนื่อง 2 ปีติดกัน ขณะที่กำไรจากการดำเนินการช่วง เม.ย.-ธ.ค. 65 ของ 3 ยักษ์วงการกล้องดิจิทัลคือ แคนนอน นิคอน และ ฟูจิฟิล์ม รวมกันสูงถึง 2.2 แสนล้านเยน หรือประมาณ 5.62 หมื่นล้านบาท นับเป็นตัวเลขสูงสุดในรอบ 7 ปี

นับเป็นการฟื้นตัวครั้งสำคัญหลังจากช่วงปี 2551-2563 ตลาดกล้องดิจิทัลหดตัวอย่างรุนแรงจากยอดขายส่งกล้องในปี 2551 ที่มีจำนวน 120 ล้านตัว หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 2.16 ล้านล้านเยนนั้น ในปี 2563 ลดลงไปถึง 81% และ 93% ตามลำดับ

สำหรับสาเหตุของการเติบโตนี้ มาจาก 2 ปัจจัยหลักคือ การระดมใส่นวัตกรรมด้านปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ และฟังก์ชั่นแอดวานซ์อื่น ๆ เช่น การจับโฟกัสวัตถุเคลื่อนไหว การเลือกโฟกัสสัตว์เลี้ยง รถยนต์ การถ่ายวิดีโอ ฯลฯเข้ามา เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ต้องการอุปกรณ์ถ่ายภาพที่ทั้งฟังก์ชั่นและคุณภาพดีกว่าสมาร์ทโฟน ขณะเดียวกัน ก็เพิ่มราคาขายสินค้าให้สูงขึ้นด้วย

สมาคมกล้องถ่ายภาพและผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับภาพ รายงานว่า ราคาเฉลี่ยของกล้องดิจิทัลในปี 2565 ขยับขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 8.5 หมื่นเยน (2.17 หมื่นบาท) หรือแพงขึ้นมากกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับเมื่อ 3 ปีก่อน และหากเทียบกับเมื่อ 10 ปีก่อน ราคาเฉลี่ยของกล้องดิจิทัลในปัจจุบันจะแพงขึ้นถึง 6 เท่า

แนวโน้มการปรับตัวสูงขึ้นของราคาเฉลี่ยนี้ เป็นเพราะความสำเร็จของยุทธศาสตร์ที่ช่วยพลิกฟื้นตลาดกล้องดิจิทัลได้ 2 ปีต่อเนื่องกันนี้ เป็นเครื่องยืนยันว่าการโฟกัสทำตลาดกล้องระดับไฮเอนด์ ที่สามารถอัดนวัตกรรมสุดล้ำได้อย่างเต็มที่ เพราะมีราคาขายสูงและกลุ่มเป้าหมายอย่างช่างภาพอาชีพและคอนเทนต์ครีเอเตอร์ต่างพร้อมลงทุนเพื่ออุปกรณ์ทำงานนี้เป็นกุญแจไปสู่ความสำเร็จของธุรกิจกล้อง

เรื่องนี้สะท้อนได้ชัดเจนจากงาน CP+ งานโชว์กล้อง และนวัตกรรมด้านการถ่ายภาพนิ่ง-วิดีโอใหญ่ที่สุดในโลก จัดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 23-26 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา โดยปีนี้เป็นการจัดแบบออฟไลน์ครั้งแรกในรอบ 4 ปี ซึ่งยังคงคึกคักทั้งฝั่งแบรนด์กล้องที่ขนสินค้าใหม่ ไม่ว่าจะกล้อง เลนส์ และอุปกรณ์เสริมมาอวดโฉมกันอย่างเต็มที่ และผู้เข้าชมงานที่ให้ความสนใจทดลองสินค้าใหม่ ๆ

โดยแคนนอนลงทุนสร้างลู่จักรยานผาดโผน พร้อมทีมนักปั่น BMX มาให้ผู้เข้าชมงานได้ทดลองระบบโฟกัสใหม่ของกล้องรุ่น EOS R8 ซึ่งใช้ระบบเอไอมาช่วยการโฟกัสวัตถุที่เคลื่อนไหวรวดเร็วหลากชนิด เช่น คน สัตว์ และยานพาหนะ ว่าในการใช้งานจริงจะสามารถจับเป้าหมายที่เคลื่อนไหวแบบไม่มีทิศทางตายตัวได้ดีแค่ไหน

แน่นอนว่ากล้องที่มีนวัตกรรมระดับนี้ รวมถึงถ่ายภาพต่อเนื่องได้ถึง 40 ภาพต่อวินาทีนี้ ย่อมมีราคาไม่ธรรมดาด้วย โดยราคาขายในญี่ปุ่นเฉพาะตัวกล้องไม่รวมเลนส์อยู่ที่ 2.64 แสนเยน (6.75 หมื่นบาท) ส่วนราคาขายในสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 1,499 ดอลลาร์สหรัฐ (5.23 หมื่นบาท) แต่แม้จะมีราคาระดับนี้ แต่แคนนอนระบุว่า ปัจจุบันกล้องรุ่นนี้มียอดจองสูงกว่าที่คาดไว้แล้ว

“โก โทคุระ” รองผู้บริหารกลุ่มผลิตภัณฑ์การถ่ายภาพของแคนนอน กล่าวว่า ตอนนี้ดีมานด์การใช้กล้องมาจากหลากหลายกลุ่มมากขึ้น โดยนอกจากการใช้งานในอีเวนต์พิเศษแล้ว ยังมีความต้องการใช้เพื่อบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ ในแต่ละวันด้วย

ในงานเดียวกันนี้ ยักษ์อิเล็กทรอนิกส์ โซนี่ เปิด Creators’ Cloud แพลตฟอร์มสำหรับเก็บและแชร์ภาพและวิดีโอ ให้กับผู้ใช้แบบบุคคลสามารถเข้าใช้งานได้ รวมถึงเตรียมเพิ่มฟังก์ชั่นใหม่ที่ผู้ใช้ทั่วโลกสามารถแชร์ผลงานและสื่อสารกันได้

ส่วนฟูจิฟิล์ม ปีนี้โฟกัสนำเสนอเรื่องการถ่ายวิดีโอเป็นพิเศษ ด้วยการนำกล้องรุ่น X-H2S พร้อมเฟิร์มแวร์ใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีดีปเลิร์นนิ่งมาเพิ่มประสิทธิภาพให้ระบบออโตโฟกัส สามารถแยกแยะวัตถุได้หลากหลายมากขึ้น เช่น แมลงและโดรน โดยฟูจิฯระบุว่า นอกจากการแยกแยะวัตถุแล้ว ระบบออโต้โฟกัสใหม่นี้ยังเพิ่มประสิทธิภาพการคาดเดาทิศทางวัตถุให้ดีขึ้น ช่วยให้การติดตามวัตถุที่เคลื่อนไหวด้วยความเร็วสูงได้แม่นยำมากขึ้นด้วย

ผู้เชี่ยวชาญในวงการเห็นตรงกันว่า ต้องขอบคุณกระแสการถ่ายภาพด้วยสมาร์ทโฟนที่ทำให้การถ่ายภาพกลายเป็นกิจกรรมที่ผู้บริโภคคุ้นเคย “ชิเกคิ อิชิซูกะ” ประธานของ CIPA และรองประธานโซนี่ กรุ๊ป กล่าวว่า ความนิยมกล้องเปลี่ยนเลนส์ได้เพิ่มมากขึ้น เพราะความแพร่หลายของสมาร์ทโฟนทำให้การถ่ายภาพกลายเป็นกิจกรรมสามัญธรรมดาที่ผู้คนทำทุกวัน นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของนักถ่ายภาพฝีมือดี ซึ่งจะต้องการต่อยอดความสามารถของตนด้วยกล้องเปลี่ยนเลนส์ได้

สอดคล้องกับความเห็นของ “ฮิโรยูกิ อิเคกามิ” ผู้จัดการทั่วไปของหน่วยธุรกิจการถ่ายภาพของนิคอน ที่กล่าวว่าผู้บริโภครุ่นใหม่สนใจการถ่ายภาพมากขึ้น เนื่องจากได้เห็นรูปภาพจำนวนมากบนโซเชียลมีเดีย ขณะผู้ที่ถ่ายภาพและมีกล้องเปลี่ยนเลนส์ได้อยู่แล้วเริ่มสนใจกล้องมิเรอร์เลสมากขึ้น

กระแสการฟื้นตัวของตลาดและความกระตือรือร้นของแบรนด์กล้องที่จะนำนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใส่ในกล้องเพื่อชิงฐานลูกค้า น่าจะทำให้หลังจากนี้ตลาดกล้องดิจิทัลกลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังซบเซามานานหลายปี