คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ
วิกฤตการณ์ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งในสหรัฐประสบปัญหาฐานะทางการเงิน และถูกหน่วยงานของรัฐบาลกลางเข้าควบคุมก่อนที่ความเสียหายจะลุกลามใหญ่โตออกไป ได้กลายเป็นบทเรียนครั้งใหม่ให้กับนักลงทุนและผู้ประกอบกิจการสถาบันการเงินทั่วโลก
โดยเหตุการณ์เริ่มต้นจาก Silicon Valley Bank หรือ SVB ซึ่งถือเป็นแบงก์ใหญ่อันดับที่ 16 ของสหรัฐ ด้วยสินทรัพย์ 2.09 แสนล้านเหรียญถูกสั่งปิด โดย Federal Deposit Insurance Corp. หรือ FDIC หลังจากที่หุ้นของ SVB Financial บริษัทแม่ SVB ร่วงลงถึง 62% จากการที่บริษัทเสนอการขายหุ้นเพื่อพยุงงบดุลของบริษัทที่ขาดทุน 1.8 พันล้านดอลลาร์ ส่งผลให้หลายบริษัทที่ฝากเงินกับ SVB แห่กันออกมาถอนเงิน นำมาซึ่งการหยุดการซื้อขายในที่สุด
ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการรับฝากเงินและการปล่อยกู้ที่กระจุกตัวอยู่ที่ลูกค้ากลุ่มกองทุนเวนเจอร์แคปและบริษัทสตาร์ตอัพ เมื่ออัตราดอกเบี้ยสหรัฐปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ลูกค้าของ SVB ระดมทุนได้ยาก จึงต้องถอนเงินฝากที่ SVB เพื่อใช้ในธุรกิจหรือนำไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ผลตอบแทนสูงกว่า ส่งผลให้ SVB ต้องขายพันธบัตรในราคาต่ำลงมากเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง เกิดผลขาดทุน กระทบฐานะของธนาคารและความเชื่อมั่น
นอกเหนือจาก SVB ที่กำลังประสบปัญหาทางการเงินแล้ว ยังมีอีก 2 ธนาคารคือ ธนาคาร Silvergate ที่ปิดตัวลง กับธนาคาร Signature ก็ถูกหน่วยงานรัฐเข้าควบคุม จนกลายเป็นความวิตกว่า เหตุการณ์ปิดธนาคารหรือถูกควบคุมจะลุกลามต่อเนื่องไปยังสถาบันทางการเงินแห่งอื่น ๆ อีกหรือไม่
แต่นับเป็นโชคดีที่กระทรวงการคลังสหรัฐ-เฟด-สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (FDIC) ประกาศรับประกันเงินฝากทั้งหมดของ SVB และยังตั้งกองทุนพิเศษนำเงินมาให้ FDIC เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับระบบธนาคารในสหรัฐมีเงินเพียงพอที่จะจ่ายให้กับผู้ฝากถอนเงินทุกคน
อย่างไรก็ตาม ในฟากนักลงทุนและสถาบันการเงินของประเทศไทยก็เกิดการตื่นตระหนกกับเหตุการณ์นี้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากตลาดสหรัฐเป็นระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่จะส่งผลกระทบต่อตลาดเงินตลาดทุนทั่วทั้งโลก จนกระทรวงการคลังต้องออกมาแถลงว่า
เหตุการณ์ธนาคารในสหรัฐล้มจะไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยโดยตรง ประกอบกับสถาบันทางการเงินของไทยมีความมั่นคง มีเสถียรภาพ และยังมีระบบคุ้มครองเงินฝากที่เข้มแข็ง พร้อมที่จะรองรับสถานการณ์ที่มีความผันผวนได้ดีอยู่แล้ว
ขณะที่ความกังวลของนักลงทุนในตลาดทุนก็ยังเป็นผลกระทบทางอ้อม เนื่องจากไทยไม่มีการลงทุนโดยตรงกับธนาคารเหล่านี้ แต่จำเป็นต้องมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากไม่มีใครทราบว่า ธนาคารที่ล้มลงจะส่งผลกระทบต่อสถาบันการเงินแห่งอื่น ๆ ต่อเนื่องออกไปอีกหรือไม่
- สถาบันคุ้มครองเงินฝาก เกาะติดแบงก์ล้มในสหรัฐ วิเคราะห์ผลกระทบกับไทย
- แบงก์ล้มจุดชนวนวิกฤตรอบใหม่ ตลาดหุ้นผันผวนหนัก-หนีซบทองคำ