ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ กระตุ้นกำลังซื้อลูกจ้างได้หรือไม่?

คอลัมน์ มองข้ามชอต โดย กิตติพงษ์ เรือนทิพย์ Economic Intelligence Cente

เมื่อวันที่ 30 มกราคม ที่ผ่านมา ครม.มีมติเห็นชอบขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในทุกจังหวัด โดยมีอัตราการปรับขึ้นเฉลี่ยที่ 9 บาทต่อวัน จาก 306 เป็น 315 บาทต่อวัน หรือคิดเป็นประมาณ 3% จะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 เมษายนที่จะถึงนี้ การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำปีนี้ถือเป็นการปรับขึ้นครั้งที่สองในรอบ 6 ปี หลังจากปรับขึ้นค่าจ้างครั้งใหญ่เป็น 300 บาทต่อวันทั่วประเทศในปี 2555 และการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่ 6 บาทต่อวันโดยเฉลี่ยทั่วประเทศ ในเดือนมกราคม 2560 ซึ่งครั้งนั้นมี 8 จังหวัดที่ไม่ได้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ

การขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นหนึ่งในสิ่งที่หลายคนหวังว่าจะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศได้ เพราะไทยมีแรงงาน

ที่ได้ค่าแรงรายวันกว่า 5.6 ล้านคน ซึ่งในปีที่ผ่านมาแม้ว่าประเทศไทยมีการเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งปีในระดับ 3.9% ซึ่งสูงที่สุดตั้งแต่ปี 2556 และมีการเติบโตด้านการบริโภคภาคเอกชนที่ 3.2% อยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดี แต่กำลังซื้อผู้บริโภคโดยเฉพาะในกลุ่มรายได้น้อยก็ยังดูไม่เข้มแข็งนัก สังเกตได้จากการใช้จ่ายในหมวดสินค้ากึ่งคงทนและ

ไม่คงทนเพิ่มขึ้นน้อยกว่าการเติบโตของการบริโภคภาคเอกชนค่อนข้างมาก ในไตรมาส 4 ปี 2017 การบริโภคสินค้ากึ่งคงทนและสินค้าไม่คงทนขยายตัวจากช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน ที่ระดับ 0.5% และ 1.8% ตามลำดับ และสะท้อนผ่านกำไรที่ลดลงของบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่

ในกลุ่มค้าปลีก-สินค้าอุปโภคบริโภค คำถามที่น่าสนใจคือการขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้จะช่วยเรื่องกำลังซื้อของแรงงานที่เป็นลูกจ้างได้หรือไม่?

ในการตอบคำถามนี้ เราสามารถประเมินกำลังซื้อของลูกจ้างโดยรวมได้ผ่านสองตัวแปร คือการเปลี่ยนแปลงรายได้แรงงานซึ่งเป็นสิ่งชี้วัดความสามารถในการจับจ่ายใช้สอย และจำนวน

ผู้มีงานทำในระบบเศรษฐกิจ การจะสรุปผลว่าการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะช่วยเพิ่มรายได้ของทั้งแรงงานรายวันและอาจมีส่วนช่วยเพิ่มรายได้ของแรงงานอื่น ๆ ด้วยอาจเร็วไปนักหากมองข้ามจำนวนการจ้างงานในระบบ ซึ่งในปัจจุบันการจ้างงานลูกจ้างแรงงานของไทยลดลงต่อเนื่องสองปีติดกัน โดยการจ้างงานลดลง -0.3% (ประมาณ 60,000 คน) และ -0.5% (94,000 คน) ในช่วงปี 2558-2559 และ 2559-2560 ตามลำดับ

จำนวนการจ้างงานที่ลดลงอาจมาจากทั้งเหตุผลด้านอุปสงค์และอุปทานประกอบกัน สำหรับด้านอุปทาน กล่าวได้ว่า อุปทานของกำลังแรงงานในไทยลดลงต่อเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่ประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้น ซึ่งกำลังแรงงานรวมของไทย (อายุ 15 ปีขึ้นไป) ผ่านจุดสูงสุดที่ 38.9 ล้านคนในปี 2554 และลดลงต่อเนื่องช่วงสองปีที่ผ่านมา ส่งผลให้กำลังแรงงานลดลงเช่นกัน การเพิ่มขึ้นของค่าจ้างขั้นต่ำอาจยังไม่เพียงพอที่จะชดเชยกับรายได้แรงงานรวมที่หายไปจากจำนวนกำลังแรงงานที่ลดลง นอกจากนี้ เราไม่สามารถปฏิเสธความเป็นไปได้ที่ว่าการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอาจไม่เป็นผลดีต่ออุปสงค์ หรือความต้องการแรงงานของภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับธุรกิจที่กำไรอ่อนไหวต่อค่าจ้างแรงงาน

ทั้งนี้ ย้อนไปหนึ่งปีก่อนหน้าที่จะมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในเดือนมกราคมปี 2560 ความต้องการแรงงานดูจะไม่สดใสนัก ตัวเลขการจ้างงานลูกจ้างที่ลดลงกว่า 60,000 คน (-0.3%) จากปีก่อนหน้า และหลังจากปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในอัตรา 2% ในเดือนมกราคม การจ้างงานก็ลดลงอีกกว่า 93,000 คน (-0.5%) เมื่อคำนวณรายได้แรงงานรวมในปี 2560 กลับพบว่ารายได้แรงงานรวมของลูกจ้างกลับลดลงที่ระดับ -0.3% แทนที่จะเพิ่มขึ้นตามการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ

ภาพของกำลังซื้อหลังการขึ้นจ้างขั้นต่ำน่าจะมีแนวโน้มอย่างไรในปี 2561?

ในภาวะที่แนวโน้มจำนวนลูกจ้างแรงงานยังคงลดลง เราประเมินว่ารายได้แรงงานรวมและกำลังซื้อของผู้บริโภคในกลุ่มลูกจ้างแรงงานหลังจากการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่ 3% ในปี 2561 อาจเป็นภาพของกำลังซื้อที่ยังไม่กระเตื้องขึ้นเท่าใดนักไม่ต่างจากในปี 2560 เนื่องจากสถานการณ์ในปี 2561 กับปีก่อนหน้าไม่ต่างกัน ทั้งจากเรื่องที่อัตราการว่างงาน

ที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย และอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ปรับขึ้นในระดับที่ใกล้เคียงกัน โดยการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้เรามองว่าเป็นความเสี่ยงที่ต้องติดตามใกล้ชิดว่า หลังจากขึ้นค่าแรงแล้วจะส่งผลต่อการจ้างงานลูกจ้างแรงงานหรือไม่

อย่างไรก็ดี เมื่อแยกดูรายจังหวัดโดยใช้ข้อมูลการสำรวจภาวะแรงงานของประชากรจากสำนักงานสถิติ พบว่า ในปี 2560 มี 26 จังหวัดที่จำนวนผู้มีงานทำยังเติบโตได้ดี และอาจเห็นกำลังซื้อที่กระเตื้องขึ้นหลังขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในกลุ่มจังหวัดดังกล่าวนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดที่แรงงานส่วนใหญ่อยู่นอกภาคเกษตร (เนื่องจากการขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ กฎหมายมิได้ครอบคลุมนายจ้างที่จ้างลูกจ้างในงานเกษตรกรรมซึ่งมิได้จ้างลูกจ้างทำงานตลอดปี) อย่างไรก็ตาม

อีก 55 จังหวัดกำลังประสบกับการลดลงของจำนวนผู้มีงานทำ โดยมี 24 จังหวัดการมีงานทำลดลงกว่า 2% หากจำนวนผู้มีงานทำยังคงลดลงต่อไปเช่นนี้ แม้จะขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ก็อาจกระตุ้นการบริโภครวมได้ไม่มากนัก

ทั้งนี้ นอกจากการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ยังคงมีอีกหลายมาตรการของรัฐที่อาจช่วยเรื่องกำลังซื้อได้ เช่น การให้เงินแก่ผู้มีรายได้น้อย โครงการประชารัฐสวัสดิการ และโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งมาตรการเหล่านี้น่าจะช่วยสนับสนุนรายได้และลดค่าใช้จ่ายของครัวเรือนในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยได้ระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ดี ผลลัพธ์ที่ได้ต่อรายได้และการบริโภคโดยรวมอาจค่อนข้างจำกัด เนื่องจากการให้รายได้รายเดือนแก่ผู้ลงทะเบียนคนจนอาจเปลี่ยนเป็นการบริโภคที่ 0.3-0.5% ของการบริโภคภาคเอกชนเท่านั้น

ภายใต้ประมาณการของอีไอซีที่ว่ารัฐอาจต้องให้เงินช่วยเหลือที่ประมาณ 43,000 ล้านบาทต่อปีแก่ผู้ลงทะเบียนคนจน และเงินที่ให้ไปนั้นไม่ต่ำกว่าครึ่งถูกใช้เพื่อการบริโภค ในขณะที่แม้ว่าโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่จะช่วยฝึกฝีมือแรงงานดูเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะเพิ่มรายได้แรงงานอย่างยั่งยืน แต่การฝึกทักษะอาชีพด้วยการอบรมสั้น ๆ ประมาณ 30 ชั่วโมง อาจไม่ได้ช่วยเพิ่มรายได้ของแรงงานมากเท่าใด

อย่างไรก็ดี หากภาครัฐมีการลงทุนได้ตามแผนซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น และช่วยให้ความมั่นใจผู้บริโภคเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งนั่นอาจส่งผลให้ภาพการบริโภคกระเตื้องขึ้นกว่าที่คาดไว้


ท้ายสุดนี้ ธุรกิจที่ขายสินค้าด้านอุปโภคบริโภคอาจต้องปรับกลยุทธ์ในภาวะที่กำลังซื้อของลูกจ้างแรงงานโดยรวมที่ยังฟื้นตัวไม่เข้มแข็งนัก โดยอาจต้องเพิ่มโปรโมชั่นลดราคาสินค้ากระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของลูกค้าที่มีรายได้น้อย และหันมามุ่งเป้ากับกลุ่มลูกค้ากลุ่มรายได้ปานกลางขึ้นไปที่ยังมีการเติบโตด้านการจ้างงานดีอยู่ โดยจำนวนการจ้างงานผู้ที่ได้รายได้ 1-2 แสนบาท และ 2 แสนบาทขึ้นไปต่อปีเติบโตที่ 1.1% และ 3.5% ในปี 2559 และ 2560 ตามลำดับ