การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น หลังจากประเทศไทยได้จัดการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อกว่า 1 เดือนที่แล้ว โดยผลการเลือกตั้งที่ออกมา เป็นที่แน่นอนว่า รัฐบาลจะเปลี่ยนขั้วไปจากเดิม ทำให้เป็นที่จับตาว่า นโยบายทางด้านเศรษฐกิจจะเดินไปในทิศทางใด ท่ามกลางความเสี่ยงปัจจุบัน ทั้งจากปัจจัยภายนอกและภายใน
ตลอดจนโครงสร้างเศรษฐกิจไทย จะมีจุดใดที่ต้องแก้ไขปรับปรุงบ้าง เหล่านี้ล้วนต้องการคำตอบ ซึ่งในงานสัมมนา “Thailand : Take off ฉากทัศน์ใหม่ประเทศไทย” ที่จัดขึ้นโดยเครือ “มติชน” เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.ที่ผ่านมา บรรดาวิทยากรที่ขึ้นเวทีได้ฉายภาพเศรษฐกิจไทยในแง่มุมต่าง ๆ ไว้อย่างน่าสนใจ
เศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวได้
โดย “ดนุชา พิชยนันท์” เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวในหัวข้อ “อนาคตเศรษฐกิจไทย” ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทย ในปี 2566 ยังฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง จากเศรษฐกิจภายในประเทศยังไปได้ดี จากการบริโภคภายในประเทศที่ขยายตัว ซึ่งจะเป็นตัวที่จะขับเคลื่อนและพยุงเศรษฐกิจไทย รวมถึงการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวได้ดี ถึงสิ้นเดือน มิ.ย.นี้ จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาประมาณ 10 ล้านคน และคาดว่าปีนี้ จะเป็นไปตามเป้า 28 ล้านคน อย่างไรก็ดี ยังมีปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูง ที่จะฉุดรั้งเศรษฐกิจไทย ซึ่งต้องร่วมกันแก้ไข
ปัจจัยลบต่างประเทศฉุดส่งออก
ขณะที่ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทย จะมาจากภายนอกมากกว่า ทั้งเรื่องความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และเศรษฐกิจโลกที่ชะลอ ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย ดังนั้น ต้องเร่งแก้ ทั้งในแง่ของตลาดและตัวสินค้าด้วย โดยต้องเร่งขยายตลาดในการส่งออกให้มากขึ้น
นอกจากนี้ ก็ยังมีเรื่องการกีดกันทางการค้า ที่น่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งไทยต้องเร่งเจรจากรอบความร่วมมือต่าง ๆ เพื่อที่จะขยายตลาดได้มากขึ้นด้วย นอกจากนี้ จะต้องมีการปรับโครงสร้างภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากสินค้าที่ไทยเคยผลิตได้และส่งออกได้ อย่างพวกฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ วันนี้ปรับตัวลดลง เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยน
“ก่อนที่เราจะ Take off กัน ปัญหาที่มีตอนนี้อยู่ที่ภาคส่งออก 4 เดือนแรก ติดลบไป 4.6% ซึ่งก็จะกระทบกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมด้วย จะต้องพูดคุยกัน และพยายามหาหนทางที่จะแก้ปัญหา เพื่อเดินไปข้างหน้า”
เปลี่ยนผ่านรัฐบาล-อัดงบฯพยุง
“ดนุชา” กล่าวว่า ในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ ต่อเนื่องไปไตรมาส 1 ปี 2567 เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล โดยคาดว่างบประมาณแผ่นดินปี 2567 จะออกได้เร็วสุดในช่วงไตรมาส 1 ปีหน้า อย่างไรก็ดี ได้คุยกับสำนักงบประมาณแล้ว เพื่อเร่งเบิกจ่ายในส่วนของรัฐวิสาหกิจ โดยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ จะมีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจได้ประมาณ 1 ล้านล้านบาท
ส่วนไตรมาส 1 ปีหน้า จะมีอีกประมาณ 7 แสนล้านบาท เบ็ดเสร็จรวมกัน 2 ไตรมาส คาดว่าจะมีเงินอัดเข้าระบบเศรษฐกิจ 1.8-1.9 ล้านล้านบาท ช่วยพยุงไปได้ และหลังจากงบฯปี 2567 ออกมาแล้ว ก็ต้องเร่งเบิกจ่ายในอีก 2 ไตรมาสที่เหลือ
ได้เวลาปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ
สำหรับการลงทุนภายในประเทศ ยังไปได้ดีอยู่ โดยเฉพาะช่วงที่ผ่านมา เริ่มมีการเดินหน้าผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) มีโรงงานเข้ามาตั้งในประเทศไทยหลายราย ซึ่งสิ่งที่ต้องเดินหน้าต่อ คือ การดึงการลงทุนใน ecosystem ของยานยนต์ไฟฟ้าอื่น ๆ เข้ามาด้วย ไม่ว่าจะเป็นแบตเตอรี่ อิเล็กทรอนิกส์ชิป รวมถึงชิ้นส่วนของรถยนต์ไฮบริด เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากปัญหาซัพพลายช็อก ขณะที่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่เป็นต้นน้ำ ที่ต้องลงทุนสูง การจะดึงเข้ามา ไม่สามารถดึงได้ด้วยแรงจูงใจที่เคยใช้แบบเดิม ๆ แต่รัฐต้องสนับสนุนเงินอุดหนุน
“ถ้าไปดูข้อมูล จะเห็นว่าในการมีอุตสาหกรรมผลิตชิป เข้าไปตั้งในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น อเมริกา เยอรมนี เขาใช้วิธีการนี้หมด อย่างญี่ปุ่นมีการออกกฎหมายเฉพาะที่จะสนับสนุนเงินให้ตัวโรงงานผลิตชิป ค่าเฉลี่ยเงินอุดหนุนก็จะอยู่ที่ประมาณ 50% ซึ่งประเทศไทยก็จะต้องเดินไปแบบเดียวกัน โดยกลไกการทำงานของเรา ก็มีอยู่ คือ มีกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ที่จะเป็นตัวเจรจาเพื่อดึงเข้ามาได้และสนับสนุนได้ เพียงแต่ว่าต้องอาศัยการใส่เงินเข้าในกองทุน ก็ต้องมีการทำอย่างต่อเนื่อง”
โดยความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังดำรงอยู่ ถือเป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงของไทย โดยหากไทยมีนโยบายการต่างประเทศที่เป็นกลาง สามารถทำให้ทุกคนเชื่อมั่นได้ว่าประเทศไทยเป็นที่ปลอดภัย ก็จะสามารถดึงอุตสาหกรรมใหม่ที่เป็นเทคโนโลยีสูง ๆ โดยเฉพาะพวกชิปอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เข้ามาได้มากขึ้น
“โอกาสแบบนี้ไม่ได้มีมาบ่อย ๆ เพราะฉะนั้นตรงนี้เป็นช่วงสำคัญที่เราจะใช้ในการปรับโครงสร้างภาคอุตสาหกรรมของเรา ซึ่งเป็นภาคที่สำคัญและเกี่ยวพันกับการส่งออก”
ส่วนสิ่งที่ต้องทำด้านการท่องเที่ยว คือต้องทำตลาดไปด้วยและทำให้นักท่องเที่ยวอยู่นานขึ้น เพื่อให้มีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น อย่างเรื่องวีซ่าระยะยาว (long-term resident visa) ที่ทำไปแล้ว จะเป็นตัวหนึ่งที่จะทำให้มีนักธุรกิจหรือนักท่องเที่ยว เข้ามาพักระยะยาวได้ ขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์เองก็จะได้รับประโยชน์ด้วยเช่นกัน รวมถึงโปรโมตการท่องเที่ยวในประเทศ
สวัสดิการถ้วนหน้าต้องขึ้นภาษี
“ดนุชา” กล่าวว่า ประเทศยังมีปัญหาในเรื่องฐานภาษีที่ไม่สามารถขยายได้มากขึ้น ฉะนั้น นโยบายเรื่องสวัสดิการต่าง ๆ คงต้องดูความเหมาะสมในแต่ละช่วงเวลาและสถานการณ์ด้านการเงินการคลังด้วย โดยช่วงนี้อาจจะยังไม่เหมาะจะทำสวัสดิการแบบถ้วนหน้า ซึ่งหากจะทำคงต้องหารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อปรับโครงสร้างภาษี
“ช่วงนี้ การทำเรื่องรัฐสวัสดิการต่าง ๆ คงต้องพุ่งเป้า เพราะอาจจะยังทำถ้วนหน้าไม่ได้ เพราะการที่จะทำถ้วนหน้าได้คงต้องมีฐานะทางการเงินการคลังที่แข็งแรงมากกว่านี้ การจัดเก็บรายได้คงต้องมากกว่านี้ หมายถึงว่าฐานภาษีต้องกว้างกว่านี้ แต่วันนี้อย่างที่ทราบกันมีคนยื่นแบบเสียภาษีบุคคลธรรมดาอยู่ที่ 11 ล้านคน แต่จ่ายจริงไม่ถึง 4 ล้านคน”
Take off ประเทศไทย ต้องช่วยกัน
“เลขาธิการ สศช.” กล่าวว่า ข้อมูลกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ชี้ว่าค่าเฉลี่ยของการเติบโตเศรษฐกิจโลกในอีก 5 ปีข้างหน้า จะอยู่ที่ประมาณ 3.2% โดยจะโตได้ดีในภูมิภาคที่เป็นตลาดเกิดใหม่และตลาดกำลังพัฒนา ขณะที่ไทยก็มีข่าวดีเกี่ยวกับการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (IMD) ที่ไทยดีขึ้น 3 อันดับ จากอันดับที่ 33 เป็นอันดับที่ 30 ซึ่งในด้านศักยภาพทางเศรษฐกิจ ประสิทธิภาพของภาครัฐ และประสิทธิภาพของภาคธุรกิจปรับตัวดีขึ้น แต่ที่ขยับน้อยมาก ก็คือ โครงสร้างพื้นฐานด้านการศึกษา และด้านวิทยาศาสตร์วิจัยและพัฒนา
“ในช่วงถัดไปประเทศไทยจะเดินหน้าได้ ก็คงต้องอาศัยความร่วมมือของทุกท่านทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชนต้องทำงานด้วยกัน การจะ Take off ประเทศไทยทุกคนต้องช่วยกัน” เลขาธิการ สศช.กล่าว
เศรษฐกิจไทย = “นักกีฬาสูงวัย”
ขณะที่ “ดร.สันติธาร เสถียรไทย” Group Chief Economist และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท Sea Group กล่าวในหัวข้อ “Turn around เศรษฐกิจไทย” ว่า วันนี้หากจินตนาการว่าเศรษฐกิจไทย เป็น “นักกีฬาคนหนึ่ง” ซึ่งในอดีตเคยเป็นดาวรุ่งพุ่งแรง โดดเด่นในเวทีโลก เปรียบกับเศรษฐกิจไทยในช่วงปี 1976-1996 ที่เติบโตเฉลี่ยกว่า 7% ต่อปี แต่โชคร้ายที่นักกีฬาคนนี้ต้องประสบอุบัติเหตุ บาดเจ็บครั้งใหญ่ช่วง “วิกฤตต้มยำกุ้ง” แต่แล้วก็คัมแบ็กกลับมาได้ ซึ่งก็ยังโดดเด่นเป็นที่น่าสนใจจากทั่วโลกอยู่ แต่เคราะห์ซ้ำกรรมซัด เมื่อต้องมาเจอปัญหาความไม่มั่นคงทางการเมืองหลายรอบ
“รู้ตัวอีกที นักกีฬาคนนี้รอดมาได้ แต่เศรษฐกิจที่เคยโตปีละกว่า 7% ปัจจุบันโตแค่กว่า 3% ซึ่งเป็นแบบนี้มาเป็นกว่า 10 ปี นี่คือ new normal ของเศรษฐกิจไทย และมารู้ตัวอีกที เศรษฐกิจนี้ก็กลายเป็นนักกีฬาสูงวัย”
ฝากความหวัง “โค้ชคนใหม่”
อย่างไรก็ดี ยังไม่สายเกินไป โดยเฉพาะตอนนี้กำลังจะมีโค้ชคนใหม่เข้ามา ซึ่งโค้ชคนใหม่สามารถเปลี่ยนผู้เล่นคนนี้ได้อย่างมหาศาล ซึ่งมีสิ่งที่จะต้องทำ 5 อย่าง ได้แก่ 1.ต้องหยุดการใช้ยากระตุ้น แต่หากจำเป็น เช่น เกิดเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ก็ควรใช้หลัก 3 ข้อ คือ targeted ไม่กระจาย แต่ต้องพยายามโฟกัสกลุ่มที่เปราะบางที่สุด กลุ่มที่เดือดร้อนที่สุด, transform คือ ไม่ใช่คิดแค่กระตุ้นจีดีพี 3 เดือน หรือ 6 เดือน แต่ต้องสร้างแรงจูงใจในการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจ เพื่อแก้ปัญหาระยะยาว เช่น ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน หรือถ้าอยากจะแจกเงิน ก็ต้องผูกกับเงื่อนไขว่า จะต้องมีการเพิ่มทักษะด้านดิจิทัล หรือทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจที่ลดคาร์บอน เป็นต้น และ transparent ต้องโปร่งใส
2.ต้อง “ผ่าตัด” เอากฎกติกาที่ล้าสมัย ไม่จำเป็นออกไป ซึ่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มีการทำวิจัยออกมาแล้วว่า หากทำกิโยตินกฎหมายจะช่วยลดต้นทุนได้ถึง 133,816 ล้านบาท/ปี หรือ 0.8% ของจีดีพี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องการเปลี่ยนใบอนุญาต 3.เปลี่ยนทัศนคติ จากผู้กำกับ เป็นผู้พัฒนา และเปลี่ยนจากการผลักออกไป เป็นดึงเข้ามา
“กฎกติกาที่มีปัญหา ไม่ใช่แค่กฎกติกาเก่า แต่ที่ออกใหม่ ๆ ก็เป็นปัญหา เพราะออกด้วยทัศนคติเดิม ซึ่งทำให้คนไม่อยากเข้ามาอยู่ในระบบ หากเราเปลี่ยนทัศนคติตรงนี้ เราจะเพิ่มจีดีพีได้มหาศาล ไม่ใช่แค่ว่าจะขยายตัวได้มากขึ้น แต่เพราะของที่เคยโตอยู่นอกระบบ จะค่อย ๆ ถูกดึงกลับเข้ามาในระบบมากขึ้น แต่ทำ 2 อย่างนี้ อาจจะยังไม่พอ ต้องให้ผู้นำออกไปหานักลงทุนด้วย ผู้นำเราต้อง proactive”
4.ต้อง “play it smart” เทคนิคต้องดีขึ้น เคลื่อนไหวโดยไม่จำเป็นน้อยลง ซึ่งในภาษาเศรษฐกิจ ก็คือการเพิ่ม productivity เพราะว่าแรงงานน้อยลง ดังนั้น แต่ละคนต้องสร้างจีดีพีได้มากขึ้น และสุดท้าย 5.ต้องมีการสร้าง “ภูมิคุ้มกัน” ให้รับความเสี่ยง รับแรงกระแทกได้ โดยเฉพาะจากภัยทางด้านสิ่งแวดล้อม ที่มักถูกมองข้าม
“ทั้ง 5 อย่างนี้ คือสิ่งที่อยากจะฝากโค้ชคนใหม่ที่จะเข้ามา ถ้าทำได้น่าจะกลับมาเป็นนักกีฬาที่เก่ง กลับมาเป็นนักกีฬาที่ชนะได้อีกครั้ง” ดร.สันติธารกล่าว