อุดช่องโหว่ภาษีบ้านหลังแรก

บทบรรณาธิการ

ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. …ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับหลักการในวาระที่ 1 และอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญถูกจับตามองอีกครั้ง หลังมีการเปิดประเด็นยังถกหารือปมภาษีบ้านหลังแรกไม่ได้ข้อสรุป

โดยเฉพาะสาระสำคัญในมาตรา 37 ที่กำหนดว่า กรณีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาใช้อยู่อาศัย และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในวันที่ 1 มกราคมของปีภาษีนั้น ให้ได้รับยกเว้นมูลค่าฐานภาษีในการคำนวณภาษีไม่เกิน 50 ล้านบาท

หรืออีกนัยหนึ่งที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสำหรับใช้เป็นที่อยู่อาศัย หากมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาทจะอยู่ในข่ายได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังระบุว่ามีบ้านที่มูลค่าเกิน 50 ล้านบาทเพียง 1.1 หมื่นหลัง เท่ากับจะมีผู้ต้องจ่ายภาษีน้อยมาก

คณะกรรมาธิการบางส่วนจึงเสนอปรับลดมูลค่าบ้านจากเดิมที่กำหนดไว้ไม่เกิน 50 ล้านบาท เป็นไม่เกิน 20 ล้านบาท หรือหาตัวเลขอื่นที่เหมาะสมไม่ให้สูงเกินไป เพื่อขยายฐานภาษีให้ครอบคลุมผู้ถือครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมากขึ้น มิฉะนั้นการผลักดันร่างกฎหมายภาษีฉบับนี้จะสูญเปล่าหรือไม่คุ้มค่า อีกทั้งต้นทุนในการจัดเก็บภาษียังอาจมากกว่ารายได้ที่จะได้รับ

ไม่นับรวมสาระสำคัญอีกหลายมาตรา ซึ่งที่ผ่านมามีการถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นการจัดเก็บภาษีจากบ้านหลังที่สองและหลังต่อ ๆ ไปเต็มอัตรา ทั้ง ๆ ที่มูลค่าของบ้านหลายหลังรวมกันของผู้ถือครองอีกจำนวนมากอาจไม่ถึง 50 ล้านบาทกับอีกหลายประเด็นที่ยังมีมุมมองที่แตกต่าง อาทิ การให้เช่าที่ดินเพื่อทำการเกษตร กับให้เช่าที่อยู่อาศัย จะจัดเก็บภาษีเป็นที่เกษตรกรรม ที่อยู่อาศัย หรือพาณิชยกรรม จึงถูกมองว่ายังคลุมเครือไม่ชัดเจน

ดังนั้น ก่อนนำร่างกฎหมายฉบับนี้เข้าสู่วาระการพิจารณาของ สนช.วาระที่ 2 และ 3 คณะกรรมาธิการซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ ตลอดจนตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ต้องทำหน้าที่ให้สมกับที่ได้รับมอบหมายและไว้วางใจ โดยถกระดมสมองทุกประเด็นที่ยังเป็นปัญหา แล้วปรับแก้ไขส่วนที่ยังไม่ชัดเจนให้กระจ่างเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน โดยยึดประเทศชาติและผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ให้บทบัญญัติกฎหมายที่จะบังคับใช้เป็นธรรม ช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่กำลังเกิดขึ้นรุนแรงในสังคม

ขณะเดียวกันจะทำให้รัฐมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วย นำไปพัฒนาสาธารณูปโภคสาธารณูปการสร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับประเทศแทนที่จะปล่อยให้กฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้ทั้งที่ไม่ตรงกับเจตนารมณ์เดิม ซึ่งไม่คุ้มค่าและเสียของ