
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ ผู้เขียน : วุฒิณี ทับทอง
เมื่อสัปดาห์ก่อน… มีโอกาสได้ร่วมเดินทางไปกับคณะของทาง บริษัท เรเว่ ออโตโมทีฟ จำกัด (Rever Automotive) ผู้จำหน่ายรถยนต์ BYD อย่างเป็นทางการในประเทศไทย พา “สื่อมวลชนไทย” เข้าเยี่ยมชมสำนักงานใหญ่บีวายดี (BYD) ณ เมืองเมืองเสิ่นเจิ้น ประเทศจีน ซึ่งถือเป็นฮับและเฮดควอเตอร์ใหญ่ ของอีวี BYD ที่เพียบพร้อมและทันสมัย
ทุกอย่างถูกรวบรวมเอาไว้ในที่นี่ “เมืองบีวายดี” ด้วยธุรกิจหลักที่เป็นคอร์บิสซิเนส (core business) นั้น ไม่ใช่แค่ในฐานะของผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำของโลกยี่ห้อ BYD เท่านั้น
แต่ BYD แต่ยังถือเป็นผู้เล่นรายสำคัญในโลกของยานยนต์และพลังงานสะอาด เรียกว่าครบวงจรของอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้ง 4 ธุรกิจหลักคือ
– รถยนต์ไฟฟ้า (auto) ทั้งรถยนต์นั่ง, รถโดยสาร และรถเพื่อการพาณิชย์
– ระบบรางและรถไฟฟ้า (rail transit)
– พลังงานใหม่ (new energy) หรือแบตเตอรี่
– อิเล็กทรอนิกส์ (electronics) การผลิตสมาร์ทโฟนและแบตเตอรี่ชาร์จใหม่สำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
นี่คือธุรกิจหลักที่ BYD ได้ให้ความสำคัญ และได้รับการยอมรับในความสามารถและการพัฒนา รวมถึงการสร้างโอกาสในการขับเคลื่อนการใช้พลังงานสะอาด
โดยเฉพาะในส่วนของรถยนต์ไฟฟ้า BYD ได้การตอบรับในวงกว้างระดับโลก รวมทั้ง rail ตลาดในบ้านเรา
“วัง ชวนฟู” ซีอีโอ และผู้ก่อตั้ง BYD ใช้เวลาตั้งแต่ปี 1995 ที่เริ่มก่อตั้งให้หลังมา 28 ปี วันนี้ BYD และสินค้าในอีก 4 หมวดธุรกิจ ได้โลดแล่น สร้างมูลค่าและรายได้มหาศาลให้กับอาณาจักรแห่งนี้ จากรายได้ในปี 2564 ที่ผ่านมา อยู่ที่ 2,161 ล้านหยวน รายได้ปี 2565 ที่ผ่านมากระโจนไปเท่าตัว แตะระดับ 4,241 ล้านหยวน และมีพนักงานแค่ 20 คนในปีแรก วันนี้ผ่านไป BYD มีพนักงานประจำและ parttime มากกว่า 2 แสนคน
เฮดคอวเตอร์แห่งนี้มีทั้งโชว์รูมแสดงรถยนต์ อาคารสำนักงาน พื้นที่แสดงนวัตกรรม พื้นที่วิจัยและพัฒนา ศูนย์ทดสอบการชน พื้นที่พักอาศัย ลองหลับตาแล้วจินตนาการดู ว่าอาณาจักร BYD ยิ่งใหญ่แค่ไหน สถานที่แห่งนี้มีหมู่บ้านจัดสรร มีคอนโดมิเนียมสำหรับพนักงาน และยังมี รถไฟฟ้าวิ่งเพื่อรับส่งพนักงาน ด้วยความที่วางแนวคิดการพัฒนาของบริษัทให้เป็นบริษัทเพื่อนำเสนอไลฟ์สไตล์ใหม่ ๆ ให้กับผู้บริโภค และด้วยจุดแข็งที่เป็นกุญแจไปสู่ความสำเร็จคือ “การมีเทคโนโลยีของตัวเอง” ทั้งยังเป็นองค์กรแห่งการขับเคลื่อน
บนฝาผนังด้านหนึ่งของเฮดคอวเตอร์แห่งนี้ “ดารดาษ” ไปด้วย “สิทธิบัตร” ที่ผ่านการจดไปแล้วมากกว่า 4,000 รายการ และ BYD ยังมีสิทธิบัตร กว่า 3 หมื่นรายการที่รอจ่อคิวจดอยู่ จะเรียกว่าเป็นผนังแห่งลิขสิทธิ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกอยู่ที่นี่ก็ได้ ก็ไม่แปลกที่ยอดขายรถยนต์ BYD ใน 7 เดือนแรกของปีนี้ขายไปแล้วกว่า 1.7 ล้านคันทั่วโลก
ส่วนในไทย เช่นเดียวกัน BYD เข้ามาทำตลาด โดยร่วมมือกับ เรเว่ ออโตโมทีฟ ได้แบ่งหน้าที่กันชัดเจน BYD ทำหน้าที่ผลิตรถยนต์ ส่วน เรเว่ ออโตโมทีฟ ทำหน้าที่ขาย-การตลาด และดูแลหลังการขาย สองพลังผสานและขับเคลื่อนไปได้อย่างลงตัวเดินหน้ารุกตลาด ใช้ทั้งนวัตกรรมในการขับเคลื่อน เพื่อรองรับและคู่ขนานไปกับรูปแบบการใช้ชีวิตและไลฟ์สไตล์ใหม่ ๆ
โดยกำหนดเป้าหมายอย่างชัดเจน โดยเจ้าของแบรนด์ (BYD-เรเว่ฯ) โดยหวังผลที่รวดเร็ว บวกกับการทำงานแบบธุรกิจ “โมเดลใหม่” เน้นความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างลูกค้า ด้วยนโยบาย “ขายราคาเดียว” ใช้ความไว้วางใจ และทำให้ไม่มีเวลาในการต่อรอง ด้วยการสื่อสารที่ชัดเจน ตรงไปตรงมา ได้สอดรับกับวันที่พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนมาสู่ touch society ได้อย่างลงตัว
ผลที่ออกมาผ่านไปเพียงแค่ขวบปีเศษ เรเว่ฯ-BYD มั่นใจว่าปี 2566 จะขายที่ “ครึ่งแสน” คัน และปีนี้เป็นปีแห่งความมหัศจรรย์ เหมือนที่ “ประธานวงศ์ พรประภา” ซีอีโอ เรเว่ฯ ผู้บริหารหนึ่งเดียวจากกลุ่มประเทศเอเชีย-แปซิฟิก ที่ได้ขึ้นเวทีประกาศความสำเร็จในงาน Innovation Meets Acceleration BYD SEAL Media Track Day-Welcome Dinner-งานฉลองความสำเร็จ 2 ปี หลังจาก BYD ออกไปทำตลาดนอกประเทศจีนว่า ประเทศไทย ซักเซส และกำลังจะสเต็ปอัพไปอย่างไม่หยุดยั้งอย่างแน่นอน