
คอลัมน์ : ระดมสมอง ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Bnomics ธนาคารกรุงเทพ
หากคิดจะหยุดภาวะโลกร้อน เราต้องเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ แต่การจะไปถึงจุดนั้นต้องทำอะไรบ้าง เพราะการเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลไปเลยก็คงไม่สามารถทำได้ในชั่วข้ามคืน
ที่ผ่านมานักเศรษฐศาสตร์จึงพยายามผลักดันแนวคิดการกำหนดราคาคาร์บอน (carbon pricing) เพื่อให้ใช้เป็นมาตรฐานกันทั่วโลกตามยุโรปที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2005 แล้ว
การกำหนดราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) คืออะไร ?
การกำหนดราคาคาร์บอน (carbon pricing) คือการพยายามคิดต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยประมาณจากต้นทุนที่ทำให้พืชพันธุ์เสียหาย ต้นทุนทางด้านสุขภาพจากการที่เกิดคลื่นความร้อนและความแห้งแล้ง การสูญเสียที่ดินเนื่องจากน้ำท่วมและระดับน้ำทะเลขึ้นสูง
สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีราคาที่ต้องจ่ายทั้งสิ้น จึงมีการนำมาคิดคำนวณขึ้นเป็นในรูปแบบของราคาคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยออกมา เพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงต่อผู้ที่ต้องรับผิดชอบในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเป็นการส่งสัญญาณให้ตัดสินใจว่าควรจะปรับกิจกรรมเพื่อให้ลดการปล่อยคาร์บอนลง หรือจะปล่อยต่อและยอมเสียเงินต่อไป ซึ่งคาดว่าก็จะมีราคาสูงขึ้นเรื่อย ๆ
กลไกนี้ได้ริเริ่มขึ้นมาตั้งแต่ในปี 2005 การเก็บเงินค่าปล่อยก๊าซเรือนกระจกนี้ ช่วยให้ตลาดสามารถระบุก๊าซเรือนกระจกต่อหน่วยที่ถูกที่สุดที่จะลดได้ อย่างไรก็ตาม ก็มีอีกกลุ่มที่เป็นกังวลกับแนวคิดนี้ ซึ่งรวมถึงนักการเมืองอเมริกันที่มองว่านโยบายนี้อาจจะส่งผลให้ต้นทุนที่ส่งผ่านไปยังผู้บริโภคนั้นสูงขึ้น ในสมัยของประธานาธิบดีไบเดน จึงทุ่มเงินนับหมื่นล้านดอลลาร์เพื่อฟูมฟักซัพพลายเชนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแทน
เมื่อเรื่องสิ่งแวดล้อมกลายเป็นเรื่องสำคัญที่ธุรกิจต้องคำนึงถึงมากขึ้น
แต่ดูเหมือนว่าในตอนนี้ทั้งโลกเริ่มจะคล้อยตามฝั่งยุโรปเสียแล้ว การกำหนดราคาคาร์บอนเริ่มแพร่กระจายไปทั่ว ทั้งประเทศร่ำรวยและประเทศยากจน อย่างอินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศที่ปล่อยมลพิษใหญ่เป็นอันดับที่ 9 ของโลก โดยกว่าครึ่งหนึ่งเป็นการใช้พลังงานถ่านหิน ในที่สุดก็ได้มีตลาดซื้อขายคาร์บอนเป็นที่เรียบร้อย และยังมีมาตรการซื้อขายคาร์บอนเครดิตสำหรับธุรกิจที่ปล่อยก๊าซในระดับที่สูงเกินเกณฑ์
ในระยะสั้น แม้แต่ประเทศที่รู้กันว่าเป็นประเทศที่ปล่อยมลพิษรายหลัก ๆ ก็ยังเริ่มเปลี่ยนแปลงแล้วตั้งแต่ต้นปี 2023 การปล่อยคาร์บอนกว่า 23% ของการปล่อยคาร์บอนทั้งหมดถูกสะท้อนผ่านราคาคาร์บอน จากที่ในปี 2010 มีเพียง 5% เท่านั้น
แต่หลังจากนี้คาดว่าจะครอบคลุมขึ้นเรื่อย ๆ จากการที่หลายประเทศก็เริ่มเห็นประโยชน์ของการกำหนดราคาคาร์บอน
เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมานี้ ทางสหภาพยุโรปได้ออกนโยบายใหม่ภายใต้ชื่อ carbon border adjustment mechanism (CBAM) ที่กำหนดไว้ว่า ในปี 2026 จะเริ่มมีการคิดราคาคาร์บอนกับสินค้าที่นำเข้ามาในสหภาพยุโรป ซึ่งนั่นหมายถึงความพยายามที่จะผลักให้ซัพพลายเออร์ทั่วโลกหันมาใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น โดยการแพร่ขยายของการกำหนดราคาคาร์บอนนั้นจะผ่าน 3 ทางคือ
รัฐบาลจะสร้างตลาดใหม่ขึ้นมาและจัดเก็บภาษี อย่างเช่นอินโดนีเซีย ซึ่งหากเป็นไปตามแผน ในที่สุดแล้วราคาสินค้าในตลาดก็จะรวมภาษีคาร์บอนเข้าไปด้วย หรืออย่างในเดือนเมษายนที่ญี่ปุ่นได้เริ่มสร้างตลาดสำหรับซื้อขายคาร์บอนโดยสมัครใจขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย cap-and-trade ในโตเกียว
ส่วนเวียดนามก็จะเริ่มนโยบายซื้อขายการปล่อยคาร์บอนในช่วงปี 2028 โดยให้ธุรกิจที่ปล่อยคาร์บอนเกินเกณฑ์ต้องซื้อคาร์บอนเครดิต
ประเทศที่ตลาดคาร์บอนเริ่มมั่นคงแล้วก็จะดำเนินนโยบายของตนอย่างเข้มแข็งขึ้น อย่างจีนก็จะเริ่มเปลี่ยนจากการโฟกัสที่ความเข้มข้นของคาร์บอนที่โรงไฟฟ้าถ่านหินผลิตออกมา เป็นการโฟกัสทั้งเรื่องความเข้มข้น และมลพิษโดยรวมที่ปล่อยออกมา ซึ่งจะถูกนำไปเชื่อมโยงกับตลาดคาร์บอนเครดิต ที่จะให้เลือกว่าจะซื้อเครดิตสำหรับพลังงานหมุนเวียน ปลูกป่า หรือฟื้นฟูป่าชายเลน
ออสเตรเลียก็ปฏิรูปนโยบายเกี่ยวกับการกำหนดราคาคาร์บอน
โดยนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ทางโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ซึ่งคิดเป็น 28% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งประเทศ ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ 4.9% หากใครทำไม่ได้ก็ต้องซื้อเครดิตชดเชย ซึ่งมีราคาอยู่ที่ 20 เหรียญต่อตัน
มาตรการระหว่างประเทศ ซึ่งนำร่องโดยสหภาพยุโรป ที่จะมีการบังคับให้สินค้ากลุ่มอะลูมิเนียม ซีเมนต์ ไฟฟ้า ปุ๋ย ไฮโดรเจน เหล็กกล้า จะต้องรายงานการปล่อยก๊าซด้วย แล้วหลังจากปี 2026 ผู้ที่นำเข้าสินค้าเข้ามาในสหภาพยุโรปจะต้องจ่ายภาษีเทียบเท่ากับส่วนต่างระหว่างต้นทุนการปล่อยคาร์บอนตามมาตรฐานสหภาพยุโรป และราคาคาร์บอนที่ผู้ส่งออกในประเทศนั้น ๆ เสีย ซึ่งในอนาคตคาดว่าตลาดบ้านและอุตสาหกรรมคมนาคมก็อาจจะถูกนำไปคิดรวมในตลาดด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ ผู้ผลิตทั่วโลกก็จะถูกจูงใจให้ต้องตรวจสอบการปล่อยคาร์บอนอย่างถูกต้องมากยิ่งขึ้น เพื่อที่จะแก้ปัญหาการรั่วไหลของคาร์บอน เช่น ทางฝั่งสหภาพยุโรปที่จะมีการตรวจสอบข้อมูลการปล่อยคาร์บอนของสินค้านำเข้าอย่างเข้มงวด และเก็บภาษีคาร์บอน เพื่อให้ราคาสินค้าที่นำเข้าจากประเทศที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมน้อย มีราคาใกล้เคียงกับสินค้าที่มีมาตรฐานสิ่งแวดล้อมทางฝั่งสหภาพยุโรปมากยิ่งขึ้น
มาตรการกำแพงภาษีคาร์บอนนี้ คาดว่าจะขยายไปเรื่อย ๆ ในอีกหลายแห่ง เนื่องจากเมื่ออุตสาหกรรมหนึ่งถูกคิดภาษีคาร์บอนแล้ว ก็จะไปกดดันให้คู่แข่งต้องเข้าไปอยู่ในกฎเกณฑ์เดียวกับตนเช่นกัน ส่วนรัฐบาลแต่ละประเทศก็จะอยากให้สินค้าส่งออกของประเทศถูกเก็บภาษีเข้าประเทศของตนมากกว่าจะไปถูกเก็บภาษีนำเข้าที่ปลายทาง
คำถามก็คือ แล้วผลกระทบที่เกิดขึ้นนี้จะเร็วแค่ไหน และเร็วมากพอหรือไม่ และนี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของโลกใบใหม่ที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเท่านั้น หลังจากนี้ผู้ออกนโยบายในอนาคตคงจะต้องหานโยบายที่แข็งแกร่งขึ้น เพื่อที่จะลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้จริง ๆ