
ฝุ่นตลบยุโรปบังคับใช้ CBAM 1 ต.ค. 2566 บีบเอกชนไทยรายงานการปล่อย “คาร์บอนฟุตพรินต์” ใน 6 สินค้า 3 ปีแรก ขีดเส้นเก็บค่าธรรมเนียมปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปี 2569 “ส.อ.ท.” ชำแหละไส้ในมาตรการยุ่งยาก-ซับซ้อน-สร้างภาระเอกชนปรับตัวไม่ทัน “เอสเอ็มอี” อ่วมต้นทุนค่าตรวจคาร์บอนแพงลิบ
1 ตุลาคมนี้ เป็นวันแรกที่สหภาพยุโรปเริ่มบังคับใช้มาตรการกับสินค้าที่ปล่อยคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ที่กำหนดให้ผู้ผลิตและส่งออกสินค้า 6 กลุ่ม คือ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย ไฟฟ้า และไฮโดรเจน ต้องแจ้งปริมาณสินค้าที่นำเข้ามาในอียู และปริมาณปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ในกระบวนการผลิตสินค้า ระหว่างวันที่ 1 ต.ค. 2566-31 ธ.ค. 2568 จากนั้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2569 ผู้นำเข้าจะต้องซื้อ “ใบรับรอง CBAM” ตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไม่เช่นนั้นจะมีบทลงโทษ
- MOTOR EXPO 2023 ยอดขายรถ 4 วันแรกทะลุ 8,300 คัน
- เช็กเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท เงินเข้าบัญชีวันนี้ 38 จังหวัด
- สพฐ.ประกาศหยุดเรียน 4-8 ธ.ค.ให้นักเรียน ม.ปลายเตรียมสอบ TGAT/TPAT
แม้ว่าภาพรวมการส่งออกสินค้า 6 รายการไปอียูจะมีมูลค่าเพียง 1.49% ของภาพรวมการส่งออก หรือประมาณ 14,712 ล้านบาท ในปี 2565 ที่ผ่านมา แต่มาตรการนี้เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการจำนวนมากนับหมื่นราย และโอกาสจะขยายไปสู่สินค้าอื่น ๆ อีกมากมายในอนาคต
พาณิชย์เดินหน้าทุกทาง
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมได้เตรียมพร้อม โดยได้ร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) สถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เพื่อให้ข้อมูลกับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมรับมือกับมาตรการ CBAM ล่าสุดได้มีผู้เชี่ยวชาญจากสหภาพยุโรปเดินทางเข้ามาร่วมให้ข้อมูล เตรียมความพร้อมส่งออกสินค้าตามมาตรฐาน CBAM โดยช่วงแรกจะเป็นการรายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การตรวจสอบรับรองการรายงานของภาคเอกชน โดยหน่วยงานสอบทาน (verification and accreditation)
ก่อนหน้านี้กรมเจรจาฯได้จัดทำแบบสำรวจความเห็นภาคเอกชนเกี่ยวกับการใช้มาตรการ CBAM พบว่า ข้อห่วงกังวลภาคธุรกิจไทยมีหลายเรื่อง เช่น การรายงานข้อมูลการปล่อยคาร์บอนอาจเป็นข้อมูลที่เป็นความลับทางการค้า เพราะมีข้อมูลด้านเทคโนโลยีในกระบวนการผลิตซึ่งเกี่ยวกับเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา
นอกจากนี้ แต่ละประเทศยังมีความพร้อมที่แตกต่างกันมาก ทำให้ต้องหยิบยกเรื่องนี้ไปหารือในการประชุมองค์การการค้าโลก (WTO) หลายครั้ง
และมีสมาชิกหลายประเทศรวมถึงไทยที่แสดงความกังวล และไม่เห็นด้วยต่อการใช้ประเด็นเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อมมาเป็นมาตรการกีดกันทางการค้า แต่ก็ยังไม่ได้ยื่นคำร้องใด ๆ เพราะยังติดกระบวนการอนุญาโตตุลาการของ WTO ที่มีปัญหาไม่สามารถแต่งตั้งชุดแอปเพลเลตบอดี้ได้
เปิดไส้ใน กม.ลูก CBAM
ล่าสุดเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการยุโรปได้ออกกฎหมายลำดับรอง พร้อมแนวปฏิบัติ (guidance doccument) สำหรับ 6 กลุ่มสินค้า ประกอบด้วย 40 ข้อบท แบ่งเป็น 5 บทย่อย สาระสำคัญ เช่น การกำหนดคำจำกัดความ สิทธิและหน้าที่ในการรายงานผู้ประกาศที่เกี่ยวข้องกับการรายงาน การบริหารงานเกี่ยวกับการรายงาน CBAM การบังคับใช้ และองค์ประกอบทางเทคนิคเกี่ยวกับ CBAM transitional registry และมี 9 ภาคผนวก เช่น ภาคผนวก
ข้อมูลที่จะส่งในรายงาน CBAM คำจำกัดความและเส้นทางการผลิตสินค้า กฎในการพิจารณาข้อมูล รวมถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับการติดตั้ง การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิต และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้า เป็นต้น
หากศึกษาในรายละเอียดจะพบว่า นอกจาก 6 กลุ่มสินค้าแล้ว ยังมีการจำแนกเป็น 18 สินค้าย่อย เช่น เหล็ก มีสินค้ากลุ่มย่อย เช่น นอต สายเคเบิล เป็นต้น และมีข้อกำหนดการรายงานแตกต่างกันแต่ละประเภทสินค้า เช่น บางกลุ่มให้รายงานเฉพาะการปล่อยสารคาร์บอนไดออกไซด์ แต่บางกลุ่มอย่างปุ๋ยต้องรายงานทั้งการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และไนตรัสออกไซด์ เป็นต้น
สำหรับกระบวนการรายงานเริ่มตั้งแต่ให้ผู้นำเข้าสินค้าไทยต้องลงทะเบียนในระบบก่อน จากนั้นต้องมาเทียบว่าสินค้าชนิดนั้นอยู่ในลิสต์รายการย่อย หรือ CN code หรือไม่ ซึ่งแม้ว่าในช่วงแรกจะยังให้เวลาปรับตัว 3 ปี แต่หากมีการรายงานล่าช้า 6 เดือนอาจจะมีการลงโทษด้วย และที่สำคัญในอนาคตอียูจะขยายมาตรการ CBAM ไปยังสินค้าชนิดอื่น ๆ มากขึ้น
นอกจากนี้ อียูยังกำหนดว่าหากไทยจะขอส่วนลดการออกใบอนุญาต CBAM จะต้องผ่านเกณฑ์เงื่อนไข 2 ข้อ คือ ประเทศต้นทาง (ไทย) ต้องมีระบบการตลาดคาร์บอนภาคบังคับในระบบเดียวกับที่อียูใช้ในปัจจุบัน และใช้ราคากลางในตลาดคาร์บอนอียูที่คิดอยู่ที่ 3 ยูโรต่อตันคาร์บอน หรือไทยต้องมีการร่างกฎหมายเพื่อเก็บภาษีคาร์บอน ซึ่งแน่นอนว่าไทยจะไม่ได้รับส่วนลด เพราะตอนนี้ไทยยังไม่มีการปฏิบัติทั้ง 2 เงื่อนไขเลย ตลาดคาร์บอนของไทยปัจจุบันเป็นตลาดซื้อขายเสรี ซึ่งอียูไม่ยอมรับ ดังนั้น ผู้ที่ดำเนินการเรื่องนี้จะต้องเตรียมพร้อมรับมือ
ไทยไม่พร้อม-หวั่นผู้ส่งออกลดออร์เดอร์
นายสุวิทย์ ธรณินทร์พานิช ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด ส.อ.ท. และประธานกรรมการ มูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้รายละเอียดของการรายงานคาร์บอนเครดิตในช่วงแรกตามมาตรการ CBAM ยังขาดความชัดเจน มีการส่งเอกสารไกด์ไลน์จำนวน 90 หน้า มาให้อ่าน ซึ่งพบว่ากระบวนการค่อนข้างซับซ้อน และสร้างภาระต้นทุนให้เอกชน เพราะต้องมีการจ้างหน่วยงานสอบทาน (verify) ที่ปัจจุบันมีอยู่ไม่กี่รายและส่วนใหญ่เป็นบริษัทข้ามชาติ ที่สำคัญคือมีอัตราค่าจ้างในการสอบทานต่อสินค้าค่อนข้างสูง
อย่างไรก็ตาม ช่วงแรกผู้ประกอบการที่ต้องรายงาน CBAM น่าจะมีเฉพาะรายใหญ่ ระดับ tier 1 เท่านั้น และจากการหารือกับผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่จากญี่ปุ่นเองก็ค่อนข้างกังวลเรื่องนี้ และจากการประสานกับผู้ผลิตชิ้นส่วน tier 1 ซึ่งมีประมาณ 9 บริษัท แม้จะทำได้ แต่หากลึกลงไปถึงผู้ผลิตชิ้นส่วน tier 2 และ tier 3 แต่ละชั้น จำนวนหลายร้อยรายยังไม่มีความเข้าใจเรื่องนี้ และหากนับจำนวนเอสเอ็มอีทั้งหมดในแต่ละอุตสาหกรรมที่จะกระทบน่าจะเป็นหมื่นราย
ที่น่ากังวล คือ หากภายใน 1-3 ปีนี้ ไทยยังเตรียมตัวไม่พร้อม ผู้ผลิตต่างชาติที่มีฐานผลิตอยู่ในหลาย ๆ ประเทศที่ต้องส่งมอบสินค้าให้กับอียูจำเป็นต้องลดออร์เดอร์จากไทยลง แล้วหันไปสั่งซื้อสินค้าจากฐานผลิตอื่นแทน และอาจจะรุนแรงมากขึ้น หากหลังจากผ่าน 3 ปีไปแล้ว ไทยยังไม่มีการวางมาตรการเรื่องนี้ชัดเจนก็จะเริ่มเห็นภาพการย้ายฐานการลงทุนเกิดขึ้น
“เราอาจเข้าใจว่าสินค้าที่เข้าข่าย CBAM มี 6 กลุ่ม แต่นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่อียูบังคับใช้ นอกจากนี้ยังมีเรื่องการพลังงานสะอาด 100% และต้องยอมรับว่า การเตรียมพร้อมเรื่องนี้ของเรายังไม่เพียงพอ และยังไม่มีเจ้าภาพดูแลเรื่องนี้โดยตรง เพราะมีความเกี่ยวข้องถึง 4 กระทรวง คือ พาณิชย์ อุตสาหกรรม คลัง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม”
CBAM ทำต้นทุนเอสเอ็มอีพุ่ง
แหล่งข่าวจากอุตสาหกรรมเคมี ส.อ.ท. ยอมรับว่า ขณะนี้สิ่งที่เอกชนกังวลมาก คือ การบังคับใช้กฎหมายนี้จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพราะต้นทุนในการรับการตรวจสอบ (ออดิต) เพื่อเตรียมออกใบรับรอง CBAM จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้ององค์การก๊าซเรือนกระจกมีอัตราที่สูงมาก หากเอกชนรายหนึ่งต้องการขอให้มีการออดิตจะต้องจ่ายค่าบริการหลักแสนบาทต่อสินค้า 1 รายการ 1 ขนาด เช่น หากบริษัทคุณผลิตสินค้าสีทาบ้าน จะต้องแยกจดทั้งสีน้ำ สีสเปรย์ และแยกตามไซซ์ด้วย หากเป็นเช่นนี้เอกชนจะไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการออกใบรับรองได้แน่นอน
นอกจากนี้ มาตรฐานการประเมินของอียูกับไทยไม่เท่ากัน เช่น เราประเมินว่าลดการปล่อย 1 ล้านตัน แต่อียูคำนวณให้เราได้ 6 แสนตัน ซึ่งประเด็นนี้จะเป็นปัญหาในอนาคต และถึงจะทำคาร์บอนเครดิตออกมาได้ แต่ก็ยากที่จะหาคนมาซื้อ
เหล็กตื่นตัวปรับแผนรับมือ
นายธีรพันธุ์ พิมพ์ทอง ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียม ส.อ.ท. กล่าวในเรื่องนี้ว่า กลุ่มได้ให้ข้อมูลผ่านกรมเจรจาการค้าฯ ในการประสานการทางยุโรป ในหลายประเด็น เช่น เรื่องการเปลี่ยนแปลงกติกา CBAM ค่อนข้างบ่อย การรักษาความลับทางธุรกิจ การเพิ่มค่า default value ในช่วงการเปลี่ยนผ่าน ค่าช่วง penalty มีช่วงกว้างเกินไปและไม่ควรมีการคิด penalty ระหว่างช่วงการเปลี่ยนผ่านก่อนการเก็บจริง นอกจากนี้ควรให้ประเทศกำลังพัฒนา ที่มีการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มีเวลาในการปรับตัวให้มากขึ้น
ล่าสุดกลุ่มก็ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เพื่อจัดทำฐานข้อมูลกลางในการประเมินตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม Life Cycle Assessment (LCA) โดยเฟสแรกมุ่งเน้นหาค่ากลางการปลดปล่อยคาร์บอน เพื่อรองรับมาตรการ CBAM ที่เริ่มให้แจ้ง 1 ต.ค.นี้ ความสำเร็จจะส่งผลให้ผู้ประกอบการในกลุ่มทราบถึงปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามกรอบ CBAM สามารถนำไปเปรียบเทียบกับยุโรปหรือค่ากลางของประเทศ และหาจุดที่ต้องปรับปรุงในแต่ละกระบวนการผลิต เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามกรอบ CBAM ในอนาคต
สำหรับสมาชิกในกลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียม ทั้งหล่อบิลเลต อะลูมิเนียมหน้าตัด และอะลูมิเนียมแผ่นม้วน 11 โรงงาน นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมปลายน้ำ เช่น เคเบิล ลวดเกลียว ส่วนประกอบสิ่งก่อสร้าง กระป๋องอะลูมิเนียม ชิ้นส่วนรถยนต์ และอื่น ๆ ซึ่งทั้งหมดจะได้ทราบต้นทุนที่รวมกับค่า CBAM certification ในกรณีที่ต้องจ่าย เพื่อประเมินความสามารถในการแข่งขัน