คอลัมน์ : Market Move
Barbenheimer หรือปรากฏการณ์ที่ภาพยนตร์ 2 เรื่องซึ่งมีเนื้อเรื่องและสไตล์การนำเสนอต่างกันสุดขั้ว อย่าง “บาร์บี้” (Barbie) ที่ต่อยอดจากตุ๊กตาบาร์บี้ของเล่นยอดนิยมของเด็กผู้หญิง กับ “ออปเพนไฮเมอร์” (Oppenheimer) ที่เป็นการเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตและการทำงานของ เจ. รอเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ นักฟิสิกส์ผู้มีส่วนสำคัญในการพัฒนาระเบิดปรมาณู มาโปรโมตคู่กัน จนพากันประสบความสำเร็จสร้างการรับรู้แล้วยอดขายตั๋วได้แบบถล่มทลาย เป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ทางการตลาดที่สำคัญของปี 2566
แต่นอกจากรายได้ของตัวภาพยนตร์เองแล้ว กระแส Barbenheimer ยังแผ่อานิสงส์ไปยังธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องให้ได้ยอดขายเพิ่มขึ้นไปตาม ๆ กันอีกด้วย
สำนักข่าวซีเอ็นบีซี รายงานว่า ในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2566 ไอแม็กซ์ (IMAX) ผู้พัฒนาและจำหน่ายระบบฉายภาพยนตร์ไอแม็กซ์กลับมามีกำไรอีกครั้ง พร้อมรายได้ที่เพิ่มขึ้นถึง 50% ส่วนหนึ่งจากความนิยมของภาพยนตร์ออปเพนไฮเมอร์ และในไตรมาสเดียวกันนี้แมทเทล เจ้าของลิขสิทธิ์บาร์บี้ สามารถทำยอดขายของเล่นบาร์บี้ได้มากขึ้น 16% เช่นกัน
ไอแม็กซ์ระบุในรายงานผลประกอบการว่า ช่วงไตรมาสสามของปี 2566 นี้ความสำเร็จของภาพยนตร์ออปเพนไฮเมอร์หนุนให้บริษัททำรายได้สูงสุดเป็นอันดับ 2 ในบอกซ์ออฟฟิศทั่วโลก พร้อมกับหักปากกานักวิเคราะห์ของวอลล์สตรีต ด้วยการทำรายได้ 103.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งตัวเลขนี้มากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วถึง 51% และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะมีรายได้ 100.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ขณะที่รายได้สุทธิยังกลับมาเป็นบวกด้วยมูลค่า 12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากการขาดทุน 9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อไตรมาสสาม ปี 2565 นอกจากนี้ บริษัทยังเซ็นสัญญาติดตั้ง หรืออัพเกรดเครื่องฉายไอแม็กซ์ทั่วโลกอีก 120 สัญญา
“ริชาร์ด เกลฟอนด์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของไอแม็กซ์ อธิบายว่า สาเหตุหลักของการเติบโตนี้มาจากความสำเร็จของภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดอย่าง ออปเพนไฮเมอร์ ช่วยสร้างรายได้กว่า 180 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึง มิชชั่น อิมพอสซิเบิ้ล ล่าพิกัดมรณะ ตอนที่ 1 และ อินเดียน่า โจนส์ กับกงล้อแห่งโชคชะตา
แม้แต่ภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยังมีส่วนผลักดัน เช่น Creation of the Gods : Kingdom of Storms จากจีน และ Jawan จากอินเดีย ไปจนถึงภาพยนตร์คอนเสิร์ตของศิลปินดัง Taylor Swift The Eras Tour
“แม้เราจะเคยมีไตรมาสดี ๆ มาแล้วหลายครั้ง แต่ไม่มีครั้งไหนจะดีเกินคาดมากเท่าไตรมาสสาม ปี 2566 นี้ และการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของบริษัทในครั้งนี้ ยังเป็นเครื่องยืนยันว่าการชมภาพยนตร์ในโรงยังไม่ตาย”
ด้านแมทเทลระบุว่า ความสำเร็จของภาพยนตร์บาร์บี้ที่เข้าฉายในเดือนกรกฎาคมและกวาดรายได้ทั่วโลกไปถึง 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันให้ช่วงไตรมาส 3 ยอดขายสินค้าแบรนด์บาร์บี้เพิ่มขึ้น 16%
โดยแมทเทลมีรายได้ 1.92 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโต 9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะมีรายได้ 1.84 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม ยักษ์ของเล่นมีกำไรลดลงเหลือ 146.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากไตรมาส 3 ของปีก่อนมีกำไร 289.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
“อินอน ไครซ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของแมทเทล กล่าวว่า ภาพยนตร์บาร์บี้ ได้กลายเป็นปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมระดับโลก ไม่เพียงผลักดันผลประกอบการไตรมาสสาม แต่ยังกลายเป็นหมุดหมายสำคัญในประวัติศาสตร์ของบริษัทอีกด้วย
นอกจากภาพยนตร์บาร์บี้แล้ว ในปี 2566 นี้ของเล่นจากแมทเทลอีกหนึ่งแบรนด์คือ รถของเล่น “ฮอตวีลส์” ยังประสบความสำเร็จจากการนำไปทำรายการเรียลิตี้โชว์ทางทีวีในชื่อ Hot Wheels : Ultimate Challenge แพร่ภาพในช่องเอ็นบีซีของสหรัฐอเมริกาด้วยเช่นกัน
หลังผลประกอบการไตรมาส 3 ออกมา แมทเทลได้ปรับคาดการณ์กำไรสุทธิของปี 2566 ขึ้นจาก 47% เป็น 48% เช่นเดียวกับการปรับกำไรต่อหุ้นจาก 1.1-1.2 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้นเป็น 1.15-1.25 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้น เนื่องจากคาดว่าช่วงเทศกาลช็อปปิ้งปลายปีจะหนุนให้กำไรเติบโตดีเป็นพิเศษ
นอกจากเรื่องรายได้แล้ว ความสำเร็จของทั้งบาร์บี้และฮอตวีลส์ ยังเป็นการพิสูจน์ว่ายักษ์ของเล่นสามารถต่อยอดทรัพย์สินทางปัญญาในมือออกมาในรูปแบบภาพยนตร์หรือรายการทีวีได้ด้วย โดยขณะนี้ภาพยนตร์ดัดแปลงจากแบรนด์ฮอตวีลส์ กำลังอยู่ระหว่างการผลิตโดย วอร์เนอร์ บราเธอร์ส สตูดิโอเจ้าของผลงานภาพยนตร์บาร์บี้